การส่งกระแสประสาท ของ เซลล์ประสาทสั่งการอัลฟา

เหมือนเซลล์ประสาทอื่น ๆ α-MN ส่งกระแสประสาทเป็นศักยะงาน เป็นสัญญาณไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยแพร่จากตัวเซลล์ไปสุดที่ปลายแอกซอนเพื่อให้ส่งได้อย่างรวดเร็ว แอกซอนจะหุ้มปลอกไมอีลินด้วยเซลล์โอลิโกเดนโดรไซต์และเซลล์ชวานน์อย่างหนา ทำให้มีเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ในระบบประสาทกลาง (CNS) โอลิโกเดนโดรไซต์จะเป็นตัวหุ้ม เทียบกับในระบบประสาทนอกส่วนกลาง (PNS) ที่เซลล์ชวานน์จะเป็นตัวหุ้มรอยต่อหรือจุดเปลี่ยนระหว่าง CNS กับ PNS อยู่ที่เยื่อเพีย ซึ่งเป็นเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังชั้นในสุด บางสุด ที่หุ้มส่วนต่าง ๆ ของ CNS อยู่

แอกซอนของ α-MN เชื่อมกับเส้นใยกล้ามเนื้อคือ extrafusal muscle fiber ด้วยแผ่นเชื่อมประสาทสั่งการและกล้ามเนื้อ (neuromuscular junction) ซึ่งเป็นไซแนปส์เคมี (chemical synapse) พิเศษที่ต่างทั้งโดยโครงสร้างและหน้าที่จากไซแนปส์เคมีธรรมดาที่เชื่อมเซลล์ประสาทกับเซลล์ประสาทไซแนปส์ทั้งสองเหมือนกันคืออาศัยสารสื่อประสาทในการถ่ายโอนสัญญาณไฟฟ้าเป็นสัญญาณเคมี และกลับจากสัญญาณเคมีเป็นสัญญาณไฟฟ้าส่วนที่ต่างกันอย่างหนึ่งก็คือไซแนปส์ระหว่างเซลล์ประสาทปกติจะใช้กลูตาเมตหรือกาบาเป็นสารสื่อประสาท แต่แผ่นเชื่อมประสาทสั่งการและกล้ามเนื้อจะใช้ acetylcholine อย่างเดียวเท่านั้นโดย extrafusal muscle fiber จะรับ acetylcholine ด้วยตัวรับคือ nicotinic acetylcholine receptor ซึ่งมีผลให้เส้นใยกล้ามเนื้อหดตัว

เหมือนกับเซลล์ประสาทสั่งการอื่น ๆ α-MN ได้ชื่อจากคุณสมบัติของแอกซอนคือ เซลล์มีแอกซอนแบบ Aα ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่ มีปลอกไมอีลินหนา ทำให้นำศักยะงานได้เร็วเทียบกับเซลล์ประสาทสั่งการแกมมาซึ่งมีแอกซอนแบบ Aγ ซึ่งบางกว่า มีปลอกไมอีลินบาง ทำให้นำศักยะงานได้ช้ากว่า