กระบวนการเกิด ของ เทือกเขากลางสมุทร

มีอยู่ 2 กระบวนการคือ การดันของเทือกเขากลางสมุทร (ridge-push) และการดึงของแผ่นเปลือกโลก (slab-pull) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเคลื่อนที่แยกออกจากเทือกเขากลางสมุทรแต่ก็ยังมีสิ่งที่ไม่แน่ชัดว่ากระบวนการไหนจะโดดเด่นกว่ากัน กระบวนการดันของเทือกเขากลางสมุทรนั้นเกิดขึ้นเมื่อน้ำหนักของเทือกเขาผลักส่วนที่เป็นแผ่นเปลือกโลกใต้มหาสมุทรให้เคลื่อนที่ออกไปจากแนวสันกลางปรกติจะผลักจนไปมุดลงที่แนวร่องลึกก้นทะเล ที่แนวมุดตัวนี้กระบวนการดึงของแผ่นเปลือกโลกจะเกิดขึ้น กระบวนการนี้เกิดขึ้นง่าย ๆ เพียงน้ำหนักของแผ่นเปลือกโลกที่มุดตัวลงไปนั้นได้เกิดการดึงลงไปด้านล่างด้วยน้ำหนักของมันและลากแผ่นเปลือกโลกใต้มหาสมุทรด้านบนให้เคลื่อนที่ตามไปด้วย

อีกกระบวนการหนึ่งที่ได้ถูกเสนอขึ้นมาว่ามีผลต่อการเกิดแผ่นเปลือกโลกใต้มหาสมุทรใหม่ที่บริเวณเทือกเขากลางสมุทรก็คือการหมุนวนของเนื้อโลก (mantle conveyor) อย่างไรก็ตามได้มีการศึกษาพบว่าส่วนด้านบนสุดของชั้นเนื้อโลกนั้นมีคุณสมบัติเป็นพลาสติกมากเกินไปที่จะทำให้เกิดการเสียดทานอย่างเพียงพอที่จะดึงแผ่นธรณีภาคชั้นนอกใต้มหาสมุทรให้เคลื่อนที่ตามไปได้ มากไปกว่านั้นการดันตัวขึ้นมาของหินหนืดที่ทำให้หินหนืดเกิดที่ใต้เทือกเขากลางสมุทรดูเหมือนว่าจะเกี่ยวข้องเฉพาะในส่วนของ 400 กิโลเมตรทางด้านบนเท่านั้น ตัวเลขความลึกนี้ได้มาจากข้อมูลคลื่นไหวสะเทือนและจากรอยสัมผัสไม่ต่อเนื่องของคลื่นไหวสะเทือนที่ระดับความลึกประมาณ 400 กิโลเมตร การดันตัวขึ้นมาของเนื้อโลกในระดับตื้นบริเวณใต้เทือกเขากลางสมุทรดังกล่าวทำให้เชื่อได้ว่ากระบวนการดึงของแผ่นเปลือกโลกน่าจะมีอิทธิพลมากกว่า ทั้งนี้มีแผ่นเปลือกโลกที่ใหญ่ที่สุดของโลกบางแผ่นเช่นแผ่นอเมริกาเหนือที่กำลังเคลื่อนที่อยู่นั้นแต่กลับยังไม่ทราบว่าเกิดการมุดตัวที่ไหน

อัตราการเกิดวัตถุใหม่ที่เทือกเขากลางสมุทรรู้จักกันว่าเป็นอัตราการแยกแผ่ออกไปและโดยทั่วไปจะวัดกันเป็นมิลลิเมตรต่อปี อัตราการแยกแผ่ออกไปจะแบ่งย่อยเป็น 3 ระดับคือ เร็ว ปานกลาง และช้า ซึ่งโดยทั่วไปจะมีค่าเป็นมากกว่า 100 มม/ปี 100 ถึง 55 มม/ปี และ 55 ถึง 20 มม/ปี ตามลำดับ อัตราการแยกแผ่ออกไปของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือมีค่าประมาณ 25 มม/ปี ขณะที่ในย่านมหาสมุทรแปซิฟิกจะอยู่ระหว่าง 80 – 120 มม/ปี อัตราการแยกแผ่ออกไปที่น้อยกว่า 20 มม/ปี ถือว่าเป็นอัตราที่ช้ามาก (อย่างเช่น เทือกเขาแกกเกลในมหาสมุทรอาร์กติกและทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรอินเดีย) ที่ทำให้เกิดมุมมองของการก่อเกิดชั้นเปลือกโลกที่แตกต่างมากกว่าการแผ่แยกออกไปที่มีอัตราที่เร็วกว่า

ระบบเทือกเขากลางสมุทรก่อให้เกิดแผ่นเปลือกโลกใต้มหาสมุทร ขณะที่หินหนืดปะทุขึ้นมาและเย็นตัวลงใต้จุดคูรีจะตกผลึกเป็นหินบะซอลต์ที่บริเวณเทือกเขากลางสมุทร ทิศทางของสนามแม่เหล็กของออกไซด์เหล็ก-ไททาเนียมที่ถูกบันทึกอยู่ในออกไซด์เหล่านั้นจะขนานไปกับสนามแม่เหล็กโลก ทิศทางการวางตัวของออกไซด์ดังกล่าวจะถูกบันทึกไว้ในชั้นเปลือกโลกและจะถือว่าเป็นการบันทึกสนามแม่เหล็กโลกไปตามกาลเวลา เนื่องจากสนามแม่เหล็กมีการสลับทิศทางเป็นช่วง ๆ เป็นจังหวะที่ไม่แน่นอนตลอดประวัติของมัน รูปแบบการสลับขั้วแม่เหล็กในชั้นเปลือกโลกใต้มหาสมุทรจึงสามารถใช้ระบุอายุของหินได้ และรูปแบบการสลับขั้วพร้อมกับการตรวจวัดอายุของชั้นเปลือกโลกใต้มหาสมุทรนั้นทำให้ทราบประวัติการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลกได้

ใกล้เคียง

เทือกเขาฮินดูกูช เทือกเขาหิมาลัย เทือกเขาตะนาวศรี เทือกเขาแอลป์ เทือกเขาแอนดีส เทือกเขาคุนหลุน เทือกเขากลางสมุทร เทือกเขาคาร์เพเทียน เทือกเขาอัลไต เทือกเขาฆาฏตะวันตก