รัสเซลกับการศึกษา ของ เบอร์ทรันด์_รัสเซลล์

บทความนี้ต้องการการจัดหน้า จัดหมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือเก็บกวาดเนื้อหา ให้มีคุณภาพดีขึ้น คุณสามารถปรับปรุงแก้ไขบทความนี้ได้ และนำป้ายออก พิจารณาใช้ป้ายข้อความอื่นเพื่อชี้ชัดข้อบกพร่อง

รัสเซลได้แต่งตำราและเขียนหนังสือไว้มากมาย ผลงานของเขาแต่ละเล่มเต็มไปด้วยความรู้และข้อคิดต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาในสมัยปัจจุบันเป็นอย่างมาก แนวความคิดของเขามีส่วนเป็นอย่างมากในการกระตุ้นให้นักศึกษาแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพการศึกษาในปัจจุบัน ให้สอดคล้องกับสภาพสังคม จากหนังสือชื่อ On Education (ค.ศ. 1926) เขาได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเป้าหมายของการศึกษาว่า จะต้องเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งลักษณะที่สมบูรณ์ของปัจเจกบุคคล อันควรประกอบด้วยองค์ 4 ดังนี้

ความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกาย รัสเซลเห็นว่าถ้าร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดีบุคคลนั้นก็ย่อมมีความสุข ย่อมยินดีกับการมีชีวิต ยิ่งถ้ามีสิ่งแวดล้อมดีก็ย่อมเพิ่มพูนความสุขได้มากขึ้น คนที่มีพลานามัยสมบูรณ์ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ ย่อมหาความสุขได้ง่ายกว่าคนอ่อนแอ ขี้โรค นอกจากนั้นความแข็งแรงของร่างกาย ยังช่วยให้เกิดความสนใจต่อสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวได้มากขึ้น โดยมิต้องคอยพะวักพะวงกับตัวเอง องค์ประกอบในข้อนี้นับว่าสำคัญมากในอันที่จะช่วยให้คนเรามีสติปัญญาดี รัสเซลเห็นว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นมักคิดถึงตัวเองก่อนอื่น มักจะไม่ค่อยสนใจสิ่งอื่น ๆ มากไปกว่าตัวเอง ยิ่งถ้าร่างกายอ่อนแอก็มักจะพยายามหาทางทำให้ร่างกายแข็งแรง จึงไม่มีเวลาพอที่จะไปสนใจสิ่งอื่น เมื่อคนมีร่างกายสมบูรณ์แล้ว ความสนใจต่อโลกภายนอกจึงมีมากขึ้น สามารถทำงานหนักได้ สามารถอดทนต่อความอิจฉาริษยา มีความคิดความอ่านและเรียนรู้ได้ดีกว่าคนอ่อนแอ เป้าหมายของการศึกษาจึงควรเพ่งเล็งและมุ่งให้บุคคลมีร่างกายสมบูรณ์เป็นอันดับแรก

ความกล้าหาญ รัสเซลเห็นว่า ความกล้าหาญของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง การที่จะเอาชนะความกลัวได้นั้น มิใช่จะใช้วิธีเก็บกดความกลัวเอาไว้ หากจะต้องเอาชนะความกลัวทั้งในแง่ของจิตในสำนึกและจิตใต้สำนึกให้ได้ เช่น การที่ชนชั้นปกครองและทหารมักจะแสดงโทสะจริตออกมาหรือมักจะแสดงความกล้าอย่างผิด ๆ รัสเซลเห็นว่า เป็นพฤติกรรมที่ไม่น่าสรรเสริญเลย ทั้งนี้เพราะคนเหล่านั้นยังมีความกลัวแอบแฝงอยู่ภายในจิตใจ หรือคนที่กระทำการทารุณต่อศัตรู ก็เนื่องจากมีความกลัวที่แฝงอยู่ในรูปของความกล้า บังคับจิตใจให้กระทำเช่นนั้น เขาเชื่อว่าเรื่องความกล้าหาญนี้สามารถสอนกันได้ และการที่มนุษย์จะมีความกล้าหาญได้ จะต้องมีร่างกายแข็งแรงและสุขภาพอนามัยดีเป็นอันดับแรก แม้ว่าคนที่ร่างกายไม่สมบูรณ์นักก็อาจจะมีความกล้าขึ้นได้เช่นกัน แต่หากว่ามีองค์ประกอบข้อแรกอยู่ด้วย ก็ย่อมมีความกล้ามากขึ้นและควรฝึกให้มีความกล้าอย่างแท้จริงเกิดขึ้นในจิตใจ เพื่อมิให้เป็นคนหลอกตัวเอง แล้วความเห็นแก่ตัวจะลดน้อยลง โดยมิต้องกังวลต่อเสียงครหานินทาและเสียงสรรเสริญของบุคคลอื่น ๆ

รัสเซลเห็นว่า คนที่มัวพะวักพะวงกับเสียงสรรเสริญและคำครหาของสังคมนั้น หาใช่คนกล้าที่แท้จริงไม่ ตัวเขาเองนั้นไม่เคยแยแสและยินดียินร้ายกับคำประณามหรือยกย่องของสังคมแม้แต่น้อย ข้อเขียนของเขาแต่ละเรื่องล้วนแต้ใช้ถ้อยคำสำนวนที่เป็นตัวของตัวเอง และตรงไปตรงมาอย่างที่สุด รัสเซลเห็นว่า ความถ่อมตัวที่แท้จริงนั้นเกิดจากความรู้จักเคารพตนเอง มีความมั่นใจหรือมีความกล้าหาญนั่นเอง เขาไม่เห็นด้วยกับการถ่อมตัวอย่างไร้เหตุผล เขาเห็นว่าเป็นอาการของคนหน้าไหว้หลังหลอกเสียมากกว่า และไม่ก่อให้เกิดความกล้าที่แท้จริง แต่มิได้หมายความว่าให้เชื่อหรือปฏิเสธคำแนะนำทุกกรณี หากแต่จะต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ร่วมกัน เช่นเดียวกับการเล่นฟุตบอลจะต้องประสานงานกันเป็นคณะและต้องเชื่อฟังหัวหน้าคณะ โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน คือ หวังชัยชนะ การปฏิบัติเช่นนี้ทุกคนพอใจและยินดีเสียสละด้วยความเต็มใจ และไม่ถือว่าเป็นการถ่อมตนอย่างขาดเหตุผล

ความสุขุมคัมภีรภาพ เมื่อร่างกายมีสุขภาพอนามัยดีและแข็งแรง อันเป็นผลให้เกิดความกล้าขึ้นก็ต้องมีความสุขุมรอบคอบไว้คอยระงับความกล้าไว้มิให้เลยเถิด คนที่กล้าอย่างบ้าบิ่น โดยมองไม่เห็นอันตรายนั้น คือ คนโง่เขลา ขาดสติ รัสเซลเห็นว่า คนส่วนมากชอบคำสรรเสริญเยินยอมากกว่าคำตำหนิ เพราะคำสรรเสริญมักจะช่วยกระตุ้นให้คนทำสิ่งต่าง ๆ ได้ แต่ถ้าหากเขามีความสุขุมเพียงพอ ก็จะทราบได้ว่า ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนที่ได้รับคำสรรเสริญมากที่สุด มักจะเป็นวีรบุรุษที่ฆ่าคนตายมาแล้วมากมาย ฉะนั้นจึงไม่น่าจะชื่นชมกับคำสรรเสริญประเภทนี้

ความรอบรู้ ครั้งบุคคลมีความสุขุมรอบคอบก็จะทำให้เกิดปัญญา ปัญญาเป็นเรื่องของความคิด คนที่ไม่รู้จักคิดก็จะไม่มีทางที่จะมีปัญญาหรือความรอบรู้ได้ การเรียนการสอนที่จะทำให้เกิดความสุขุมและสติปัญญาได้ จะต้องสอนโดยใช้เหตุผล มิใช่สอนโดยให้ท่องจำโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ปัญญาในที่นี้หมายถึงความพร้อมที่จะรับรู้สิ่งใหม่ ๆ มิได้หมายถึงการทรงความรู้ ความพร้อมที่จะรับรู้สิ่งใหม่ ๆ นั้นจะต้องอาศัยการฝึกฝน เช่นเดียวกับนักดนตรี เมื่อฝึกบ่อย ๆ ก็ย่อมเกิดความชำนาญ การฝึกความพร้อมที่จะรับรู้ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดปัญญานั้น มิได้หมายความว่าเป็นการบังคับหรือยัดเยียดความรู้ให้ หากแต่จะต้องเกิดจากความอยากรู้อยากเห็นโดยถูกวิธี มิใช่อยากรู้อยากเห็นว่าเขาทำอะไรกันแล้วไปแอบดู ทั้งนี้จะต้องอาศัยวิธีอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น การรู้จักสังเกตและความเชื่อว่าอาจจะหาความรู้ได้ ทั้งนี้ต้องมีความอดทนและขยันหมั่นเพียรด้วย

รัสเซลเห็นว่า ถ้ามนุษย์มีคุณสมบัติพร้อมทั้ง 4 ประการ สังคมก็จะเปลี่ยนโฉมหน้าไปในทางที่ดี ทุกคนจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บหรือมีก็น้อยลง เนื่องจากทุกคนมีสุขภาพอนามัยดีนั่นเองและคนจนจะถูกเอาเปรียบน้อยลง เพราะคนรู้ความจริงมากขึ้น โดยอาศัยปัญญาหรือความรู้ ความกล้าจะทำให้คนสามารถนำเอาความรู้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อลัทธิและความเชื่อเก่า ๆ รัสเซลเชื่อว่า องค์ประกอบทั้ง 4 ประการนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยความสุขอันสมบูรณ์

รัสเซลกล่าวว่า รูปแบบที่พึงปรารถนาของการศึกษานั้น ก็คือเสรีภาพที่จะตั้งคำถามหรือปัญหาซักถามผู้สอน ในบรรยากาศเช่นนี้นักเรียนจะไม่ถูกบังคับให้เชื่อคำสอนของครูทุกอย่าง อย่างงมงาย แต่จะเชื่อก็ต่อเมื่อสามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงแล้วเท่านั้น มิใช่จะเชื่อเพราะถูกแนะนำสั่งสอนโดยผู้รู้มาก่อน เขาเห็นว่า การศึกษาควรจะเน้นถึงวิธีการสืบสวนทางวิทยาศาสตร์แทนที่จะถ่ายทอดความรู้กันต่อ ๆ ไป โดยที่มิได้นำเอาวิธีทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย เขายืนยันอยู่เสมอว่า การศึกษาแบบใหม่ต้องการการสืบสวน ค้นคว้า มิใช่ให้ตอบปัญหาที่คงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงหรือเชื่ออย่างงมงาย

รัสเซลเห็นว่า ในสมัยโบราณผู้ที่เป็นครูนั้น หมายถึง ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นเลิศ มีวาทศิลป์ดีเยี่ยมจนทำให้เป็นที่เคารพนับถือแก่คนทั่วไป นอกจากนั้นครูในสมัยก่อนยังมีวิญญาณของครูอย่างเต็มเปี่ยม แม้ตัวจะตายก็ขอให้คำสอนของตนยังคงอยู่ เช่น โสกราตีส เป็นต้น และครูมีอิสระที่จะสอนความรู้ตามแนวความคิดของตน โดยมิได้อยู่ใต้อาณัติของใคร รัสเซลกล่าวย้ำเป็นนิจว่า ครูจะต้องมีอิสรภาพทางปัญญา งานครูคือการปลูกฝังวิชาความรู้อย่างมีเหตุมีผลให้แก่เด็ก เพื่อให้เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคม ในสมัยก่อน ๆ ครูทำหน้าที่โดยปราศจากการแทรกแซงจากอิทธิพลใด ๆ ทั้งสิ้น แต่พอมาถึงสมัยกลาง การสอนของครูตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนาคริสต์ เป็นผลให้ปรัชญาของคนและความเจริญของสังคมอยู่ชะงักไป ในศตวรรษที่ 19 เมื่อความซับซ้อนของสังคมมีมากขึ้น เสรีภาพทางปัญญาของครูดูเหมือนจะถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบที่แคบลง จนกระทั่งครูกลายเป็นข้าราชการที่จำต้องยอมรับและปฏิบัติตามคำบัญชาของคณะบุคคล ซึ่งมิได้รับการศึกษาตามแนวทางของครู ไม่เคยเกี่ยวข้องกับเด็ก ไม่เคยเป็นครูมาก่อน แต่มีท่าทีต่อการศึกษาในฐานะของนักโฆษณาชวนเชื่อที่มีอิทธิพลต่อการสอนของครู

รัสเซลเห็นว่า การที่รัฐเข้ามาจัดการศึกษานั้น ไม่อาจประกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะมีสัมฤทธิผลตามเป้าหมายสักครึ่งหนึ่งหรือไม่ และบางประเทศ เช่น รัสเซียกับเยอรมันตะวันออก ถึงกับบังคับให้ครูต้องยอมรับลัทธิคอมมิวนิสต์ มิฉะนั้นจะไปทำการสอนไม่ได้อย่างเด็ดขาด นอกจากนั้นยังจะต้องยอมรับและปฏิบัติตามลัทธิการปกครอง ทั้งยังต้องเลื่อมใสในสิ่งที่น่ารังเกียจ และละเว้นการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ของบ้านเมืองอีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่น่าขมขื่นของชีวิตครูอย่างยิ่ง ครูในประเทศเหล่านั้นจึงทำหน้าที่เพียงสอนหนังสือกับสูตรคูณเท่านั้น การที่จะนำเอาวิธีสอนที่คิดว่าจะบรรลุผลต่อการเรียนของเด็กมาใช้ในห้องเรียน ก็มักจะถูกเพ่งเล็ง ผลก็คือ เด็กจะถูกสอนให้หลงใหลในลัทธิ ถูกสอนให้รักชาติอย่างงมงาย ถูกสอนให้หวาดกลัว ถูกอบรมให้ยอมรับฟังและเชื่อถือปฏิบัติตามคำสอนของครูเหมือนคนตาบอด

ส่วนในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยนั้น แม้ว่าระบบเผด็จการทางปัญญาและความคิดยังไม่มีมากนัก แต่ก็พอจะมองเห็นเค้าบ้างแล้ว รัสเซลจึงเห็นว่า ผู้ที่เชื่อและยึดมั่นในเสรีภาพทางความคิดจักต้องออกโรงต่อต้านกันบ้างแล้ว เพื่อพิทักษ์อิสรภาพและสลัดเครื่องพันธนาการทางปัญญาให้หมดไป นั่นแหละสังคมประชาธิปไตยจึงจะเจริญมั่นคง

รัสเซล กล่าวว่า ในสังคมปัจจุบันจำต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคเป็นจำนวนมาก แต่ในเมื่อประชากรส่วนใหญ่ยังไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้ดี ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวจะมีขึ้นได้อย่างไร ความจำเป็นเบื้องแรกจะต้องส่งเสริมการศึกษาภาคบังคับให้ทั่วถึง สำหรับประเทศที่เจริญแล้วนั้น เขาถือกันว่าครูเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันประเทศในฐานะเป็นผู้ให้การศึกษาแก่เยาวชน เป็นผู้ชี้แนะแนวทางที่ถูกต้อง ความรู้วิชาการต่าง ๆ อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ แต่ในสภาพปัจจุบันรัสเซลเห็นว่า ครูส่วนมากไม่สามารถกระทำในสิ่งที่ตนสามารถทำได้ดีพอ ทั้งนี้เนื่องจากครูส่วนใหญ่ต้องทำงานหนักเกินไป ถูกบังคับให้สอนตามหลักสูตรเพื่อสอบไล่เด็ก มากกว่าที่จะทำหน้าที่อบรมจิตใจของเด็กให้ยึดมั่นในจริยธรรม เรื่องนี้ไม่มีใครคำนึงถึงความสูญเปล่าอย่างมหาศาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผลสุดท้ายครูก็จะเกิดความรู้สึกเหนื่อยหน่าย ท้อแท้ ขาดความกระตือรือร้น ไร้สำนึกในหน้าที่ ไม่รู้สึกชื่นชมยินดีกับชีวิตครู ผลเสียก็จะตกอยู่ที่เด็กและประเทศชาติในบั้นปลาย ซึ่งนับเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

รัสเซลได้กล่าวย้ำว่า การสอนให้เด็กรู้เห็นแต่สิ่งดีงามเพียงฝ่ายเดียวนั้น นับเป็นความบกพร่องอย่างร้ายแรงประการหนึ่งของผู้บริหารการศึกษา ผู้เป็นครูจะทำหน้าที่ครูที่ดีมิได้เลย เนื่องจากเด็กยังคงถูกซ่อนเร้นความจริงเอาไว้ ผลร้ายก็คือ คุณธรรมความดีงามที่เด็กได้รับไปนั้นจะถึงขั้นแตกสลายไปทันทีที่เด็กได้รับรู้ความจริงเพียงครั้งเดียว การสอนให้เด็กได้สัมผัสกับสิ่งดีงามนั้นนับเป็นสิ่งดี แต่ไม่เป็นการถูกต้องเลยที่จะปิดบังความชั่วต่าง ๆ เอาไว้ เช่น ครูสอนให้เด็กรู้จักความดีของบุคคลหนึ่ง เด็กก็จะชื่นชมยินดีและสรรเสริญคนคนนั้น แต่พอเด็กได้รู้ว่าบุคคลผู้นั้นมิได้มีความดีตามที่ครูสอน หากแต่ยังมีความชั่วหลายอย่างที่ถูกปิดบังเอาไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้เด็กก็จะเสื่อมศรัทธาต่อบุคคลผู้นั้นทันที ซ้ำยังจะพลอยขาดความเชื่อถือในตัวครูไปด้วย และไม่เชื่อในความดีว่าเป็นสิ่งที่ดีจริงตามที่ครูสอน รัสเซลเห็นว่าเรื่องนี้จะโทษครูเพียงฝ่ายเดียวก็ไม่ถูก เพราะครูที่ดีนั้นย่อมมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในตัวศิษย์ มีความรักใคร่ห่วงใยศิษย์อยู่เสมอ แต่ครูไม่อาจตัดสินใจด้วยตัวเองว่าควรจะสอนอะไรให้แก่ศิษย์ เนื่องจากมีบุคคลคณะหนึ่งเป็นผู้วางเกณฑ์ เนื้อหาและขั้นตอนต่าง ๆ ว่า ครูจะต้องสอนอะไรก่อนหลัง ควรใช้วิธีสอนอย่างไร ด้วยเหตุนี้ครูจึงไม่มีเสรีภาพในการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ ขาดโอกาสที่จะตัดสินใจด้วนตนเองและถูกแทรกแซงจากบรรดาพวกอวดรู้ทั้งหลาย

คงจะไม่มีใครชื่นชมยินดีหากบรรดาแพทย์ทั้งหลายต้องตกอยู่ภายใต้อาณัติของผู้มีอำนาจที่ไม่เคยรู้เรื่องแพทย์มาก่อน มาบงการให้เยียวยารักษาผู้ป่วย ครูก็เช่นเดียวกันกับแพทย์ในการเยียวยารักษาผู้ป่วย (นักเรียน) ให้หายจากโรคโง่เง่า แต่ครูกลับไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเสรีภาพให้ใช้วิจารณญาณ และประสบการณ์ตลอดจนความรู้ความสามารถของตนตัดสินว่า ควรใช้วิธีแบบไหนจึงจะเหมาะสมที่สุดสำหรับเด็ก แม้แต่ในระดับมหาวิทยาลัย ก็มีอยู่เพียงสองสามแห่งเท่านั้นที่ยังคงหวงแหนและธำรงสิทธิแห่งการตัดสินใจด้วยตนเองเอาไว้ แต่สถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ได้ถูกควบคุมโดยคณะบุคคลที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในการสอนอย่างเพียงพอ รัสเซลเห็นว่า มีอยู่ทางเดียวเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ได้ คือต้องออกกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพของครูให้มากที่สุดเท่านั้น