องค์ประกอบของเพลงลูกทุ่ง ของ เพลงลูกทุ่ง

ทำนองและจังหวะ

ในภาคอีสานนิยมใช้ทำนองเพลงของหมอลำ

มีเพลงลูกทุ่งหลายเพลงได้ดัดแปลงจากเพลงไทยเดิม ยังคงทำนองเดิมแต่ตัดการเอื้อนแบบเพลงไทยเดิมออกและใส่คำร้องลงไปแทนที่ ส่วนทำนองก็มาจากเพลงพื้นบ้าน พื้นเมืองของทุก ๆ ภาค อย่างภาคกลางใช้ทำนองเพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงลำตัด เพลงกลองยาว เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว ฯลฯ ภาคอีสานจะใช้ทำนองเพลงลำหรือหมอลำและเซิ้ง ทำนองลำที่นิยมในเพลงลูกทุ่ง ได้แก่ ลำเต้ย ลำเพลิน ลำสารวัน ส่วนทำนองเพลงเซิ้งนิยมเป็นเซิ้งบ้องไฟ

เพลงลูกทุ่งมักมีการนำทำนองจากการขับร้องลิเกและทำนองเพลงแหล่มาใช้ การใช้ทำนองเพลงลิเกซึ่งเป็นมหรสพพื้นบ้านโบราณของไทยมักไม่ใช้ทำนองเพลงลิเกโดด ๆ แต่จะนำมาผสมผสานกับทำนองเพลงสากลด้วย ส่วนทำนองเพลงแหล่ ที่เป็นการแสดงธรรมเทศนา เพลงลูกทุ่งนำมาใช้ในสองลักษณะ คือ ใช้ทำนองเพลงแหล่ตลอดทั้งเพลง และใช้ทำนองแหล่ผสมกับทำนองลิเกหรือกับทำนองเพลงสากล สำหรับนักร้องเพลงลูกทุ่งที่ร้องเพลงทำนองแหล่ที่เป็นที่รู้จักกันดีได้แก่ พร ภิรมย์ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ และชินกร ไกรลาศ และหลังจากที่พร ภิรมย์ เข้าสู่สมณเพศแล้วก็คงเหลือแต่ไวพจน์และชินกรเท่านั้นที่มีชื่อเสียงในการร้องเพลงทำนองแหล่มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทั้งสองท่านมีชื่อเสียงด้านทำขวัญนาคอีกด้วย

การโห่ เป็นลักษณะอีกประการหนึ่งที่พบได้บ่อยครั้ง มีสองลักษณะคือ การโห่แบบไทยและการโห่แบบตะวันตก การโห่แบบไทยปรากฏในเพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึงการบวชนาค การแห่ขันหมาก คือเป็นการโห่ประกอบขบวน จะร้องว่า “โห่……. (ฮิ้ว) ” และอาจพบในเพลงที่เอ่ยถึงการแห่วงดนตรีด้วย เช่น รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ร้องโห่ในเพลง "ยกพลรุ่งเพชร"

“โห่โดรีโฮ” การโห่แบบนี้ในเพลงลูกทุ่งแสดงถึงอิทธิพลจากเพลงลูกทุ่งตะวันตก คือมีลักษณะการโห่ การผิวปาก และการกู่ตะโกน แบบหนุ่มโคบาลหรือคาวบอยในทุ่งหญ้า เพลงลูกทุ่งไทยที่ใช้การโห่แบบตะวันตกนี้ มักพรรณนาชื่นชมบรรยากาศความงามและความสงบของธรรมชาติท้องทุ่งเช่นเดียวกัน สร้างบรรยากาศที่สนุกสนาน

ยังมีผู้แต่งเพลงลูกทุ่งบางท่านนำเอาทำนองเพลงต่างชาติเข้ามาเป็นส่วนประกอบในเพลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำนองเพลงของชาติในเอเซียที่เกี่ยวข้องหรือคุ้นเคยกับคนไทย เช่น จีน อินเดีย ลาว ญี่ปุ่น เกาหลี[17]

คำร้อง

ในแง่การใช้ภาษา ภาษาที่ใช้ในเพลงลูกทุ่งมีสองรูปแบบคือภาษามาตรฐานและภาษาชาวบ้าน ภาษามาตรฐานมักจะใช้กับเพลงลูกทุ่งที่กล่าวถึงเรื่องราวนิทานชาดก นิทานเกี่ยวกับพุทธประวัติ ตลอดจนวรรณคดีลายลักษณ์ของไทย เช่น อิเหนา รามเกียรติ์ กากี พระลอ ฯลฯ ที่มีลักษณะคำร้อยกรอง มีความงดงามของภาษา นอกจากนี้เพลงลูกทุ่งที่ใช้ภาษาใช้ภาษาหนังสือตามแบบแผน จะพรรณาชมธรรมชาติ ชีวิตอันสุขสงบในชนบท ความรักของหนุ่มสาว ความงามของสาว

เพลงลูกทุ่งโดยส่วนมากจะใช้ภาษาชาวบ้าน ภาษาที่ใช้ในเพลงลูกทุ่งจึงเป็นภาษาพื้น ๆ แบบชาวบ้านทั่วไป ง่ายต่อการเข้าใจ สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของชาวชนบทเนื่องจากผู้ที่ฟังเพลงลูกทุ่งมักเป็นชาวบ้านและชาวชนบท กอปรทั้งผู้แต่งเพลงลูกทุ่งส่วนใหญ่มักมีพื้นเพมาจากชนบท มีการศึกษาน้อย

การร้องเพลงลูกทุ่งบางเพลงยังใช้คำร้องและศัพท์สำนวนที่เป็นของท้องถิ่น เช่น สำเนียงสุพรรณบุรี และสำเนียงถิ่นภาคต่าง ๆ อย่าง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสานอีกด้วย การขับร้องด้วยสำเนียงถิ่นต่าง ๆ นี้เป็นลักษณะเฉพาะของเพลงลูกทุ่ง เมื่อเทียบกับเพลงลูกกรุง กล่าวคือนักร้องเพลงลูกกรุงจะออกเสียงให้ตรงตามวรรณยุกต์ของภาษามาตรฐาน ส่วนนักร้องเพลงลูกทุ่งมักออกเสียงเพี้ยนไปจากเสียงวรรณยุกต์ของภาษามาตรฐาน และนักร้องบางคนยังมีสำเนียงที่ติดมากับตัว มีทั้งเจตนาที่จะเพี้ยนเสียงเพื่อสร้างความรู้สึกให้เป็นชนบทถิ่นนั้น ๆ ตามที่ต้องการ นักร้องเพลงลูกทุ่งที่มีการร้องแบบเพี้ยนสำเนียง เช่น ชาย เมืองสิงห์ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ศรคีรี ศรีประจวบ ศรเพชร ศรสุพรรณ สายัณห์ สัญญา จีระพันธ์ วีระพงษ์ ฯลฯ เป็นต้น

ส่วนสาระของคำร้องในเพลงลูกทุ่งนั้นมีคุณค่าเกี่ยวกับสังคมไทยและวิถีชีวิตของชาวชนบทไทยอย่างกว้างขวาง เพลงลูกทุ่งสะท้อนให้เห็นความผูกพันอันแนบแน่นของชาวชนบทกับขนบธรรมเนียมประเพณี ความยึดมั่นในพุทธศาสนา และความเชื่อเรื่องบุญกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีรวมที่เพลงลูกทุ่งกล่าวถึง ได้แก่ สงกรานต์ เข้าพรรษา การอุปสมบท ออกพรรษา การทอดกฐิน การทอดผ้าป่า ลอยกระทง การหมั้น การแต่งงาน ตลอดจนงานศพ ส่วนขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นที่ปรากฏในเพลงลูกทุ่ง ได้แก่ การถวายขวัญข้าว การเล่นเพลงพื้นบ้าน การเล่นกลองยาว งานบุญพระเวศ บุญบั้งไฟ งานชักพระ

นอกจากสะท้อนถึงสังคมไทยและวิถีชีวิตยังมีเนื้อหาบรรยายถึงสภาพแวดล้อมธรรมชาติของชนบทไทย การประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ท้องทุ่ง ไร่นา แม่น้ำ ต้นไม้ สัตว์ต่าง ๆ ตลอดจนสายลม แสงแดด แสงจันทร์ ดวงดาว ฯลฯ ประชากรที่กล่าวถึงในเพลงมักเป็นชาวชนบทหรือไม่ก็คนยาก คนจน บรรยายถึงความรัก การประกอบอาชีพ ลักษณะบ้านเรือนที่อยู่อาศัย การแต่งกาย การบริโภคอาหาร สิ่งบันเทิง และในบางครั้งเพลงลูกทุ่งสะท้อนถึงระบบความเชื่อและระบบค่านิยมของประชากรเหล่านี้ อาทิ ความเชื่อในไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ ค่านิยมเกี่ยวกับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ค่านิยมเชิงวัตถุในเรื่องความร่ำรวยและทรัพย์สมบัติ ค่านิยมในฐานันดรภาพและอำนาจ ค่านิยมในชีวิตเมืองกรุง ค่านิยมเรื่องอบายมุขและสตรี และในเนื้อหาเพลงลูกทุ่งบางส่วนภาพพจน์ของสตรี จะถูกประณามเมื่อเสียพรหมจรรย์หรือถูกหลอกลวง แต่กับผู้ชายแล้วเห็นว่าการมีอนุภรรยาเป็นเรื่องโก้เก๋

เพลงลูกทุ่งบางเพลงยังเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นปัญหาในแง่มุมต่าง ๆ อันสืบเนื่องมาจากความยากจนและสภาวะธรรมชาติ เช่น สภาพนาแล้ง นาล่ม ภาวะหนี้สิน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การเอารัดเอาเปรียบของนายทุนเงินกู้และพ่อค้าคนกลาง ฯลฯ สาระต่าง ๆ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการกระจายรายได้ซึ่งยังคงเป็นปัญหาหลักของสังคมไทย[18]

เครื่องดนตรี

ในช่วงแรกของเพลงลูกทุ่ง จะมีลักษณะเป็นเพลงไทยเดิมและเพลงพื้นเมืองอยู่มาก ขุนวิจิตรมาตรา กล่าวว่า "วงดนตรีเพลงลูกทุ่งในช่วงนั้นตั้งเป็นวงดนตรีแบบสากล แต่คงปรากฏการใช้เครื่องดนตรีที่บรรเลงเพลงไทยเดิม และเพลงพื้นเมือง ประกอบในบางเพลงอยู่"

มีการใช้เครื่องดนตรีไทยประกอบเพลงลูกทุ่งบรรเลงรับเมื่อร้องจบแต่ละท่อนเป็นช่วงสั้น ๆ เครื่องดนตรีที่ใช้ได้แก่ ระนาด ฉิ่ง โทน กลอง ฯลฯ เป็นต้น เช่น ในเพลงหอมหน่อย ฉิมพลี ดาวลูกไก่ ฯลฯ

ยังมีการนำเครื่องดนตรีพื้นเมืองของภาคต่าง ๆ มาบรรเลงประกอบกับเครื่องดนตรีสากล ในเพลงลูกทุ่ง เช่นเครื่องดนตรีพื้นเมืองของภาคอีสานที่นำมาใช้ได้แก่ แคน โปงลาง ของภาคเหนือ ได้แก่ ซึง ซอ พิณ ของภาคใต้ ได้แก่ กลอง โหม่ง ส่วนของภาคกลางมีกลองยาว ระนาด ฉิ่ง กรับ โทน เป็นต้น เพลงลูกทุ่งที่ใช้เครื่องดนตรีพื้นเมืองมาประกอบ เช่น เพลงลำเลาะทุ่ง เพลงเสียงซอสั่งสาว เพลงต้อนไว้ ๆ เป็นต้น

และยังมีการใช้เครื่องดนตรีสากลหรือเครื่องดนตรีตะวันตก ประกอบด้วยเครื่องเป่า เครื่องสาย และเครื่องประกอบจังหวะ รวมแล้วประมาณ 12–18 ชิ้น วงดนตรีของสุรพล สมบัติเจริญ และของสุรฃัย สมบัติเจริญ มีจุดเด่นที่ใช้แอคคอร์เดียนหรือหีบเพลง อย่างไรก็ตามวงดนตรีเพลงลูกทุ่งอื่น ๆ ก็มีการใช้เครื่องดนตรีสากลบ้าง[19]

หางเครื่อง

เพลงลูกทุ่งที่มีการประกวดประชันการเต้นและเครื่องแต่งกายของหางเครื่องประกอบ

ที่มาของคำว่าหางเครื่อง คาดว่ามาจากสำนวนคำว่า “เขย่าหางเครื่อง” ในขณะที่นักร้องออกมาร้องเพลงบนเวที คนที่ให้เสียงจังหวะเรียกว่า หางเครื่อง คือจะมีคนออกมาตีฉิ่ง ฉาบ กรับ ไม้ต๊อก และเคาะลูกแซ๊กอยู่ข้างหลังนักร้องเพื่อให้จังหวะเพลงให้เด่นชัดขึ้นและสนุกสนานมากขึ้น แต่ความหมายดังกล่าวได้เปลี่ยนไปมีความหมายว่า คนเต้นประกอบเพลงในปัจจุบัน

ตำบลบางเสร่ ในอดีตนั้นเป็นที่กล่าวขานถึงความโด่งดังของ " หมู่บ้านหางเครื่อง " ซึ่งเป็นหางเครื่องพื้นบ้าน ซึ่งนักเต้นหรือหางเครื่องภายในวงส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นลูกหลานของชาวบ้านตำบลบางเสร่ จุดเด่นของหางเครื่องบางเสร่อยู่ที่ท่วงท่าการเต้นที่สวย งามและพร้อมเพรียงเป็นเอกลักษณ์ และที่สำคัญไม่ออกในแนวทางการเต้นที่ส่อในทางลามกอนาจาร แต่ในปัจจุบันวิถีชีวิตเปลี่ยนไปและเริ่มมีการรับเอาวัฒนธรรมของต่างชาติในงานแสดงต่างๆหันไปใช้นักเต้นที่นิยมนุ่งน้อยห่มน้อย และท่าเต้นที่ส่อไปในทางลามกอนาจาร ทำให้หางเครื่องบางเสร่ที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์เดิมๆไว้แทบจะหมดสิ้นไป หลายวงต้องเลิกหรือยุบคณะบางวงที่อยู่ได้ก็ต้องออกไปนอกพื้นที่ๆไกลมากขึ้นเราจึงควรอนุรักษ์วัฒนธรรม " หมู่บ้านหางเครื่องบางเสร่ " ต่อไปมิให้เหลือแต่เพียงชื่อหรือตำนานหรือเพียงคำๆหนึ่งในคำขวัญของตำบลบางเสร่เท่านั้น หากท่านใดที่สนใจใช้บริการของวงหางเครื่องเช่นในงานมงคล งานบวช และงานแสดง เช่นงานประกอบมิวสิกวิดีโอใดๆ ก็สามารถติดต่อใช้บริการได้ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยได้เช่นกัน...

ในช่วงแรก ผู้เขย่าหางเครื่องก็มีทั้งหญิงและชาย ไม่ได้เป็นกลุ่มคณะ บางครั้งก็เป็นตัวตลกประจำวง บางครั้งก็เป็นนักร้องประจำวง ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ต่อมาได้มีการพัฒนาขึ้นโดยมีผู้หญิงสวย ๆ ออกมาเขย่าหางเครื่อง แต่ก็ยังไม่ออกลีลาการเต้น เพียงเดินให้เข้ากับจังหวะเพลงเท่านั้น เพลงส่วนใหญ่ที่ใช้หางเครื่องจะมีจังหวะบีกิน ช่าช่าช่า โบเล หลังจากนั้นได้ใส่ลีลาการเต้นและการแต่งกายมากขึ้น โดยพัฒนามาจากการเต้นระบำฝรั่งเศสของฟอลลี่ แบร์แช (Folies Bergeres) และการเต้นโมเดิร์นด๊านซ์ (Modern Dance)[20] จนในปี พ.ศ. 2509 หางเครื่องแต่งตัวเหมือนกันเป็นทีม อย่างเช่นวงของสุรพล สมบัติเจริญ สมานมิตร เกิดกำแพง และหลังจากที่สุรพล เสียชีวิตลง ศรีนวล สมบัติเจริญ ภรรยาสุรพลได้จัดหางเครื่องใช้ผู้เต้นประมาณ 10 คน ลีลาการเต้นก็เป็นแบบระบำฮาวายของตะวันตก จนปี 2510 หางเครื่องเริ่มเปลี่ยนแปลงชัดเจนกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ของวงดนตรีลูกทุ่ง[21]

นับตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2517 ในช่วงนี้คำนี้ “หางเครื่อง” แปรเปลี่ยนมาเป็นบุคคลที่เต้นประกอบเพลงและจำนวนผู้เต้นก็มีมากขึ้น[19] และเมื่อเข้าสู่ปีทองอีกช่วงในปี 2520 มีการแข่งขันด้านหางเครื่องจึงเพิ่มขึ้น วงดนตรีใหญ่ ๆ มีหางเครื่องในสังกัดตัวเองประมาณ 60 คน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในเรื่องเครื่องแต่งกายหางเครื่องสูงถึง 1 ล้านบาท[21]

ลักษณะการแต่งกายของหางเครื่องมักแต่งกายด้วยผ้าสีสด เช่น สีแดงสด ฟ้า เขียว ชมพูสด เหลืองจำปา สีทอง สีดำ เนื้อผ้ามักเป็นผ้าเนื้อนุ่มพลิ้ว ปักเลื่อม ประดับสายสร้อย กำไล ตุ้มหู และดอกไม้ ส่วนผู้ชายมักสวมรองเท้าบู๊ต

หางเครื่องที่เป็นการนำมาจากวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งไม่น่าจะเข้ากันได้กับการแสดงเพลงลูกทุ่ง แต่ในแง่ธุรกิจผู้ที่อยู่ในวงการเพลงลูกทุ่งต่างยอมรับว่าหางเครื่องเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ผู้ชมชื่นชอบกับการชมหางเครื่องประกอบการแสดงเพลงลูกทุ่ง หางเครื่องในปัจจุบันจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เพลงลูกทุ่งต่างจากลูกกรุง ผู้ชมก็ตื่นตาตื่นใจกับเสื้อผ้าและลีลาการเต้นของหางเครื่อง[19]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เพลงลูกทุ่ง http://www.bangkokbiznews.com/2007/06/01/WW12_1233... http://www.bangkokcity.com/2003/vc/place/bnews/det... http://www.bcmthailand.com/content.php?data=401635... http://www.bcmthailand.com/content.php?data=412122... http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=65... http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=65... http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=65... http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=65... http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=65... http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=65...