เบื้องหลัง ของ เพลบลูดอต

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2520 องค์การนาซาได้ส่งยานสำรวจอวกาศวอยเอจเจอร์ 1 ขึ้นสู่อวกาศ ยานหุ่นยนต์หนัก 722 กิโลกรัมลำนี้มีภารกิจสำรวจระบบสุริยะชั้นนอกและอวกาศระหว่างดวงดาว[4][5] หลังจากยานวอยเอจเจอร์สำรวจระบบดาวพฤหัสบดี (ซึ่งหมายถึงดาวเคราะห์หลักและดวงจันทร์บริวาร) ใน พ.ศ. 2522 และระบบดาวเสาร์ใน พ.ศ. 2523 ทำให้เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน คณะทำงานในโครงการวอยเอจเจอร์ออกมาแถลงว่ายานอวกาศได้ปฏิบัติภารกิจหลักเสร็จสิ้นแล้ว โดยยานวอยเอจเจอร์ 1 นี้เป็นยานสำรวจลำแรกของมนุษย์ที่ได้ถ่ายภาพความละเอียดสูงของดาวเคราะห์ใหญ่ทั้งสองดวงรวมทั้งดาวบริวารหลักของดาวเคราะห์ดังกล่าวด้วย

ยานวอยเอจเจอร์ 1

ยานอวกาศลำนี้ยังเป็นวัตถุที่เคลื่อนที่เร็วที่สุดที่มนุษย์เคยสร้าง ด้วยความเร็วกว่า 64,000 กิโลเมตร/ชั่วโมง และยังเป็นวัตถุชิ้นแรกของมนุษย์ที่เดินทางออกจากระบบสุริยะ[6] จนถึงปัจจุบันภารกิจของยานวอยเอจเจอร์ 1 ยังคงดำเนินต่อไป ภารกิจที่ถูกเพิ่มเข้ามานี้คือการสำรวจพื้นที่บริเวณขอบของระบบสุริยะ รวมถึง แถบไคเปอร์ เฮลิโอสเฟียร์ และอวกาศระหว่างดวงดาว ทุกวันนี้จึงยังมีการป้อนคำสั่งและรับข้อมูลอย่างต่อเนื่องผ่านเครือข่ายอวกาศห้วงลึก (Deep Space Network, DSN)[4][7][8]

ในตอนแรกคณะทำงานคาดการณ์ว่ายานวอยเอจเจอร์ 1 จะปฏิบัติภารกิจสุดท้ายที่ดาวเสาร์ และหลังจากยานอวกาศบินผ่านดาวเสาร์เมื่อ พ.ศ. 2533 คาร์ล เซแกน จึงได้เสนอให้ยานวอยเอจเจอร์ถ่ายภาพโลกเป็นครั้งสุดท้าย[9] เขาชี้ว่าภาพถ่ายดังกล่าวอาจไม่ได้มีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์มากนัก ด้วยความที่โลกจะปรากฏให้เห็นเป็นจุดเล็กมากจนแทบไม่เห็นรายละเอียดใด ๆ หากแต่ภาพถ่ายนี้จะมีความหมายอย่างยิ่งต่อมุมมองของเราในเรื่องตำแหน่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในจักรวาล

หลายคนในคณะทำงานสนับสนุนแนวคิดนี้ แต่บางคนก็ไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลที่ว่าการหันกล้องกลับมายังศูนย์กลางระบบสุริยะเพื่อถ่ายภาพโลกนั้นมีความเสี่ยงที่ระบบประมวลภาพของยานจะถูกแสงอาทิตย์ทำความเสียหายจนแก้ไขคืนไม่ได้ อย่างไรก็ดี แนวคิดของคาร์ลถูกทำให้เป็นรูปธรรมเมื่อ พ.ศ. 2532 กระนั้นก็ยังมีอุปสรรคเนื่องจากขั้นตอนการปรับเทียบเครื่องมือต้องใช้เวลาทำให้ต้องเลื่อนภารกิจออกไป และเจ้าหน้าที่ผู้เคยทำการแต่งและป้อนคำสั่งให้ยานวอยเอจเจอร์ 1 ก็ถูกปลดหรือไม่ก็ถูกย้ายไปประจำที่โครงการอื่นแล้ว อย่างไรก็ตาม ริชาร์ด ทรูลี ผู้บริหารองค์การนาซาในขณะนั้น ได้ลงมาจัดการปัญหาด้วยตนเอง ทำให้ภารกิจถ่ายภาพโลกนี้สำเร็จลงได้[6][10][11]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เพลบลูดอต http://pqasb.pqarchiver.com/thestar/access/4972863... http://www.space.com/1280-earthly-view-mars.html http://www.thespacereview.com/article/261/1 http://www.loc.gov/item/cosmos000110/ http://fettss.arc.nasa.gov/collection/details/the-... http://nssdc.gsfc.nasa.gov/nmc/masterCatalog.do?sc... http://photojournal.jpl.nasa.gov/catalog/PIA00450 http://photojournal.jpl.nasa.gov/catalog/PIA00452 http://saturn.jpl.nasa.gov/spacecraft/cassiniorbit... http://ssd.jpl.nasa.gov/horizons.cgi