การใช้ประโยชน์ ของ เมทีนามีน

ส่วนใหญ่แล้วเฮกซะเมทิลีนเตตรามีนมักถูกนำมาใช้ในการผลิตผงหรือยางฟีนอลฟอร์มาลดีไฮด์ชนิดเหลว และวัสดุคอมโพสิตชนิดยางฟีนอลิคโดยใช้แม่พิมพ์ (phenolic resin moulding compound) เพื่อเป็นสารทำให้คอมโพสิตแข็งตัว โดยผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ผลิตได้เหล่านี้มักเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องอาศัยการยึดเกาะ เช่น เบรกรถ ผ้าคลัตช์ ผ้าทราย ผ้าใยสังเคราะห์ วัสดุทนไฟ เป็นต้น[3]

นอกจากนี้ยังพบว่าเฮกซะเมทิลีนเตตราอาจสามารถทำหน้าที่เป็นแม่พิมพ์โครงร่างโมเลกุล (molecular building block) สำหรับการสังเคราะห์ผลึกโครงสร้างนาโนโดยจัดวางโมเลกุลอย่างเป็นระเบียบได้ด้วยตนเอง (self-assembly) ได้ด้วย[12][13]

การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

ตัวอย่างฉลากยาเมทีนามีนแมนดีเลท ความแรง 1,000 มิลลิกรัมต่อเม็ด บรรจุ 100 เม็ด ของบริษัทเซตอนฟาร์มาซูติคอล สหรัฐอเมริกา

ในวงการแพทย์ได้ริเริ่มการนำเฮกซะเมทิลีนเตตรามีน มาใช้ในการฆ่าเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1899[14] แต่ใช้ได้ผลในผู้ป่วยที่มีค่าพีเอชของสารละลายในทางเดินปัสสาวะเป็นกรดเท่านั้น ส่วนในผู้ป่วยที่มีสารละลายในทางเดินปัสสวะเป็นด่างมักพิจารณาใช้กรดบอริกแทนสำหรับข้อบ่งใช้ข้างต้น[15] โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่ามีสหสัมพันธ์แบบแปรผันตรงระหว่าง ความเป็นกรดของสภาพแวดล้อมรอบเฮกซะเมทิลีนเตตรามีนกับการสลายตัวของสารดังกล่าว[14] ดังนั้น ประสิทธิภาพในการรักษาของเฮกซะเมทิลีนเตตรามีนจึงขึ้นอยู่กับความเป็นกรดของปัสสาวะ มากกว่าปริมาณยาทั้งหมดที่ผู้ป่วยได้รับในการรักษา[15] ในทางตรงกันข้าม หากสภาพแวดล้อมภายนอกมีสภาวะเป็นด่างนั้น เฮกซะเมทิลีนเตตรามีนแทบจะไม่สามารถออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อก่อโรคใดๆ ได้เลย[15]

นอกจากนี้ เฮกซะเมทิลีนเตตรามีนยังเคยถูกนำมาใช้ในกระบวนการการรักษาทหารได้รับบาดเจ็บจากการสูดก๊าซพิษฟอสจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งการศึกษาทางคลินิกในภายหลังพบว่า การได้รับเฮกซะเมทิลีนเตตรามีนในขนาดสูงก่อนการสูดดมก๊าซพิษดังกล่าว จะช่วยป้องกันการเกิดพิษจากก๊าซนั้นได้ ในทางตรงกันข้าม การได้รับเฮกซะเมทิลีนเตตรามีนภายหลังจากการสัมผัสก๊าซพิษฟอสจีนแล้ว พบว่าไม่ก่อให้เกิดผลในการรักษาอาการพิษแต่อย่างใด[16]

ในปัจจุบัน เฮกซะเมทิลีนเตตรามีนในรูปแบบเกลือของกรดแมนดีลิค (ชื่อสามัญตามเภสัชตำรับอังกฤษ คือ เมทีนามีน แมนดีเลท[17]) นั้นถูกนำมาใช้ในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยสารดังกล่าวจะสลายตัวในกระเพาะปัสสาวะที่มีสภาวะเป็นกรด ได้ผลิตภัณฑ์เป็นฟอร์มาลดีไฮด์และแอมโมเนีย ซึ่งฟอร์มาลดีไฮด์ที่เกิดขึ้นนี้จะมีคุณสมบัติในการฆ่าแบคทีเรียก่อโรค ส่วนกรดแมนดีลิคที่ถูกเพิ่มเข้ามาในเภสัชตำรับนั้นมีจุดประสงค์เพื่อเสริมฤทธิ์ของฟอร์มาลดีไฮด์ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มั่นใจว่าค่าพีเอชของสารละลายในกระเพาะปัสสาวะนั้นเอื้อต่อการออกฤทธิ์ของเฮกซะเมทิลีนเตตรามีน จึงมักมีการบริหารวิตามินซีหรือแอมโมเนียมคลอไรด์ให้กับผู้ป่วยร่วมด้วย เพื่อเพิ่มความเป็นกรดของสารละลายในกระเพาะปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม การใช้เฮกซะเมทิลีนเตตรามีนเพื่อเป็นยาปฏิชีวนะนี้มีปริมาณการใช้ลดลงในช่วงปลายคริสต์ทศวรรตที่ 1990 เนื่องจากอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบรุนแรงชนิด hemorrhagic cystitis จากการเหนี่ยวนำของสารเคมีในผู้ที่ได้รับยาเกินขนาด[5] แต่ ณ ปัจจุบัน ยาดังกล่าวได้รับการรับรองใหม่อีกครั้งเพื่อใช้สำหรับข้อบ่งใช้ดังข้างต้น อันเป็นมาตรการตอบสนองต่อความชุกของการดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรียที่มากขึ้นในปัจจุบัน โดยยานี้มีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะนำมาใช้ต่อเนื่องระยะยาว เพื่อป้องกันการเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากแบคทีเรียไม่สามารถปรับตัวให้ดื้อต่อฟอร์มาลดีไฮด์ได้ อย่างไรก็ดี ยานี้ไม่สามารถใช้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องได้ เนื่องจากจะทำให้อาการชองโรคแย่ลงและเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้มากขึ้น นอกจากนี้แล้วยังมีการพัฒนาเฮกซะเมทิลีนเตตรามีนให้อยู่ในรูปแบบยาครีมและสเปรย์ เพื่อใช้ในการรักษาภาวะที่เหงื่อออกมากและกลิ่นตัวแรงเกินไป[18]

อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยเฮกซะเมทิลีนเตตรามีน ได้แก่ เกิดผื่นคันตามผิวหนัง ระคายเคืองทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน กระเพาะอาหารอักเสบ ท้องเสีย เกิดตะคริวที่ท้อง ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะขัด มีเลือดปนมากับปัสสาวะหรือปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะถี่และบ่อย การตรวจปัสสาวะอาจพบมีโปรตีนในปัสสาวะ[11] ซึ่งอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นกับระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นสาเหตหลักที่ทำให้มีการใช้เฮกซะเมทิลีนเตตรามีนลดน้อยลงในปัจจุบัน[5]

การย้อมสีทางมิญชวิทยา

ในการศึกษาทางมิญชวิทยานั้นมีการนำสีย้อมเมทีนามีนซิลเวอร์หลายชนิดมาใช้เพื่อย้อมติดสีแกรม ได้แก่:

เชื้อเพลิงแข็ง

เช่นเดียวกันกับ 1,3,5-ไตรออกเซน, เฮกซะเมทิลีนเตตรามีนเป็นส่วนประกอบหนึ่งของเชื้อเพลิงเม็ดเฮกซะมีนที่นิยมใช้ในกลุ่มคนตั้งแคมป์, ออกค่าย, หน่วยทหาร เพื่อเป็นแหล่งความร้อนในการประกอบอาหารและการปันส่วนเชื้อเพลิงในหน่วยทหาร เชื้อเพลิงแข็งชนิดนี้มีข้อดีคือไม่ก่อให้เกิดควันเมื่อเกิดการเผาไหม้, มีปริมาณความร้อนจากการเผาไหม้ (Heat of combustion) ที่สูงมากถึง 30.0 เมกะจูลต่อกิโลกรัม (MJ/kg), ไม่กลายเป็นสาเหลวเมื่อเกิดการเผาไหม้ และไม่เหลือเถ้าจากการเผา นอกจากนี้ เชื้อเพลิงเมทีนามีน (เฮกซะมีน) มาตรฐาน 0.149 กรัม ถูกนำมาใช้เป็นแหล่งกำเนิดไฟที่สะอาดและทำซ้ำได้ในห้องปฏิบัติกันไฟเพื่อทดสอบการติดไฟของพรมปูพื้น[7]

วัตถุเจือปนอาหาร

เฮกซะเมทิลีนเตตรามีน หรือเฮกซะมีนยังถูกนำมาใช้เป็นวัตถุเจือปนอาหารเพื่อป้องกันการเน่าเสีย (INS number 239) โดยได้รับการรับรองจากสหภาพยุโรปให้ใช้สารนี้เพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวได้[8] ภายใต้เลขอี E239 อย่างไรก็ตาม เฮกซะเมทิลีนเตตรามีนไม่ได้รับการรับรองให้ใช้เป็นวัตถุเจือปนอาหารในสหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์[19]

ตัวทำปฏิกิริยาในเคมีอินทรีย์

เฮกซะเมทิลีนเตตรามีนเป็นตัวทำปฏิกิริยาอเนกประสงค์ในการสังเคราะห์อินทรีย์,[9] สารนี้ถูกนำมาใช้ในปฏิกิริยาดัฟฟ์ (ปฏิกิริยาฟอร์มิเลชันของเอรีน),[20] ปฏิกิริยาซอมเมเลต์ (การเปลี่ยนเบนซิลเฮไลด์ไปเป็นอัลดีไฮด์),[21] และปฏิกิริยาดีลีพีน (การสังเคราะห์เอมีนจากอัลคิลเฮไลด์)[22]

วัตถุระเบิด

เฮกซะเมทิลีนเตตรามีนเป็นส่วนประกอบพื้นฐานในการสร้างระเบิด RDX และระเบิด C-4[3] รวมไปถึงระเบิดออคโตเจน, เฮกซามีนไดไนเตรท และ เฮกซะเมทิลีน ไตรเปอร์ออกไซด์ ไดเอมีน (HMTD) ตัวอย่างปฏิกิริยาการสร้างระเบิด RDX ดังแสดงต่อไปนี้[23]

เฮกซะมีน + 10 กรดไนตริกRDX + 3 เมทิลีนไดไนเตรท + แอมโมเนียมไนเตรท + 3 น้ำ(CH2)6N4 + 10 HNO3 → (CH2-N-NO2)3 + 3 CH2 (NO3)2 + NH4NO3 + 3 H2O

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: เมทีนามีน http://www.comlaw.gov.au/Details/F2011C00827 http://www.chemspider.com/3959 http://haamor.com/th/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%97%E... http://www.methenaminemandelate.com/ http://library.med.utah.edu/WebPath/RENAHTML/RENAL... http://ecb.jrc.ec.europa.eu/esis/index.php?GENRE=E... http://www.cpsc.gov/BUSINFO/methtabs.pdf http://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/summary/summary.cg... //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/20341260 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/5410299