ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ของ เมโสโปเตเมีย

เมโสโปเตเมียเป็นอู่อารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกสมัยโบราณ โดยตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำไทกริส (Tigris) และแม่น้ำยูเฟรทีส (Euphrates) ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ในประเทศอิรัก แม่น้ำทั้ง 2 สายมีต้นน้ำอยู่ในอาร์มีเนียและเอเชียไมเนอร์มาบรรจบกันเป็นชัฏฏุลอะร็อบแล้วไหลลงสู่ทะเลที่อ่าวเปอร์เซีย

บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรทีสตอนล่างเรียกว่าบาบิโลเนีย (Babylonia) เป็นเขตซึ่งอยู่ติดกับอ่าวเปอร์เซีย มีชื่อเรียกในสมัยหนึ่งว่าชีนา (Shina) เกิดจากการทับถมของดินที่แม่น้ำพัดพามา กล่าวคือ ในฤดูร้อนหิมะบนภูเขาในอาร์มีเนียละลายไหลบ่าลงมาทางใต้พัดพาเอาโคลนตมมาทับถมไว้ยังบริเวณปากน้ำ ทำให้พื้นดินตรงปากแม่น้ำงอกออกทุกปี โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 1 ไมล์ครึ่งทุก ๆ ศตวรรษ (ประมาณปีละ 29 นิ้วครึ่ง)

อาณาบริเวณที่เรียกว่าเมโสโปเตเมีย มีทิศเหนือจรดทะเลดำและทะเลแคสเปียน ทิศตะวันตกเฉียงใต้จรดคาบสมุทรอาหรับซึ่งล้อมรอบด้วยทะเลแดงและมหาสมุทรอินเดีย ทิศตะวันตกจรดที่ราบซีเรียและปาเลสไตน์ ส่วนทิศตะวันออกจรดที่ราบสูงอิหร่าน

เมโสโปเตเมียแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนล่างใกล้กับอ่าวเปอร์เซีย แห้งแล้งเรียกว่าบาบิโลเนีย ส่วนบนซึ่งค่อนอุดมสมบูรณ์เรียกว่าอัสซีเรีย (Assyria)[ต้องการอ้างอิง] บริเวณทั้งหมดมีชนชาติหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่ มีการรบพุ่งกันอยู่เสมอ เมื่อชาติใดมีอำนาจก็เข้าไปยึดครองและกลายเป็นชนชาติเดียวกัน นักประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวว่า ไม่มีแห่งหนตำบลใดจะมีชาติพันธุ์มนุษย์ผสมปนเปกันมากมายเหมือนที่นี่ และยังเป็นยุทธภูมิระหว่างตะวันตกกับตะวันออกตลอดสมัยประวัติศาสตร์ ดังนั้น ประวัติเรื่องราวต่าง ๆ ของชนชาติเหล่านี้จึงค่อนข้างสับสน

บทความนี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยเพิ่มข้อมูล