ประวัติ ของ เรือประจัญบานชั้นยามาโตะ

การออกแบบเรือประจัญบานชั้นยะมะโตะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นจากการเคลื่อนไหวที่ต้องการขยายดินแดน (expansionist) ภายในรัฐบาลญี่ปุ่น อำนาจอุตสหกรรมของญี่ปุ่น และความต้องการกองทัพเรืออันทรงพลังเพียงพอจะคุกคามประเทศที่มีแนวโน้มเป็นคู่แข่งได้[9]

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสงบลง กองทัพเรือหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และจักรวรรดิญี่ปุ่น ได้มีโครงการที่จะก่อสร้างและขยายกองทัพอย่างต่อเนื่องในระหว่างสงครามโลกครั้งนั้น ด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาลที่เป็นผลจากโครงการดังกล่าว กดดันให้บรรดาผู้นำรัฐบาลเริ่มประชุมลดอาวุธ วันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1921 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา ชาร์ลส์ อีแวนส์ ฮิวส์ (Charles Evans Hughes) ได้เชิญคณะผู้แทนจากประเทศมหาอำนาจทางทะเล ซึ่งประกอบด้วย ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร มายังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อประชุมหารือถึงความเป็นไปได้ในการยุติการแข่งขันนาวิกานุภาพ ซึ่งรวมถึงการลดขนาดและอาวุธของกองทัพเรือ ผลการประชุมรัฐนาวีวอชิงตันในเวลาต่อมาได้ข้อสรุปเป็นสนธิสัญญารัฐนาวีวอชิงตัน (Washington Naval Treaty) ในบรรดาข้อกำหนดจำนวนมากนั้น มีการจำกัดมาตรฐานระวางขับน้ำของเรือรบที่จะสร้างขึ้นใหม่ในอนาคตเป็น 35,000 ตัน และขนาดลำกล้องปืนใหญ่ไม่เกิน 16 นิ้ว (406 มม.) ทั้ง 5 ประเทศตกลงที่จะไม่สร้างเรือหลวงเพิ่มเป็นเวลา 10 ปีและไม่แทนที่เรืออื่นที่สร้างก่อนสนธิสัญญาจนกว่าเรือมีอายุอย่างน้อย 20 ปี[10][11]

ในคริสต์ทศวรรษที่ 1930 รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มเปลี่ยนไปสู่ความเป็นชาตินิยมอย่างเข้มข้น[12] การเคลื่อนไหวนี้เรียกร้องให้มีการขยายตัวของจักรวรรดิญี่ปุ่นออกไปสู่มหาสมุทรแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การที่จะผดุงจักรวรรดิที่กว้างใหญ่ที่มีระยะถึง 4,800 กม. จากประเทศจีนถึงหมู่เกาะมิดเวย์ จำต้องมีกองเรือขนาดใหญ่จึงจะควบคุมดินแดนญี่ปุ่นได้[13] แม้ว่าเรือประจัญบานทั้งหมดของญี่ปุ่นที่สร้างก่อนชั้นยะมะโตะจะสร้างเสร็จสิ้นก่อนปี ค.ศ. 1921 โดยตามข้อตกลงในสนธิสัญญานาวีวอชิงตันที่ห้ามปรับปรุงเรือที่สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ทั้งหมดก็ถูกบรณะหรือปรับปรุงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองในช่วงในคริสต์ทศวรรษที่ 1930[14] ในการปรับปรุงนี้ยังรวมไปถึงความเร็วและอำนาจการยิงที่ญี่ปุ่นมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในการพิชิตและปกป้องในความทะเยอทะยานที่จะเป็นจักรวรรดิ[15] เมื่อญี่ปุ่นถอนตัวออกจากสันนิบาตชาติในปี ค.ศ. 1934 จากกรณีมุกเดน และประกาศยกเลิกสนธิสัญญาทั้งหมดที่ญี่ปุ่นเคยทำไว้[16] ทำให้การออกแบบเรือประจัญบานไม่ถูกจำกัดตามสนธิสัญญาและสามารถสร้างเรือรบที่มีขนาดใหญ่กว่าประเทศมหาอำนาจทางทะเลอื่นๆ[17]

รูปวาดของมูซาชิ วาดให้เห็นลักษณะที่ปรากฏในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1944

ญี่ปุ่นซึ่งต้องการรักษาอาณานิคมที่ผลิตทรัพยากรไว้ทำให้นำไปสู่ความเป็นไปได้ของการเผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกา[18] สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นคู่แข่งที่มีศักยภาพอันดับแรกของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามสหรัฐอเมริกาก็มีอำนาจทางอุตสาหกรรมมากกว่าญี่ปุ่นซึ่งคิด 32.2% ของการผลิตภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นคือ 3.5% ของการผลิตทั่วโลก[19] นอกจากนี้ สมาชิกคนสำคัญหลายคนของรัฐสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกายังสัญญาว่า "จะเอาชนะญี่ปุ่นในการแข่งขันด้านนาวีด้วยอัตราส่วนสามต่อหนึ่ง"[20] ดังนั้น อำนาจทางอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นจึงไม่มีหวังที่จะแข่งขันชิงชัยกับสหรัฐอเมริกาได้[9] ด้วยเหตุนี้ เงื่อนไขการออกแบบเรือประจัญบานลำใหม่จึงต้องเหนือกว่าแบบลำต่อลำเมื่อเทียบกับเรือของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาในเรือแบบเดียวกัน[21] เรือประจัญบานที่ออกแบบแต่ละลำต้องมีความสามารถในการต่อสู้กับเรือหลวงฝ่ายศัตรูได้พร้อมกันทีละหลายลำ และต้องไม่มีค่าใช้จ่ายมากเท่ากับสหรัฐอเมริกาในการสร้างเรือประจัญบาน[9] ผู้บัญชากองทัพบกและกองทัพเรือของญี่ปุ่นจำนวนมากหวังว่าเรือเหล่านี้จะขู่ขวัญสหรัฐอเมริกาในเข้าระงับการรุกรานในมหาสมุทรแปซิฟิกของญี่ปุ่น[22]

ใกล้เคียง

เรือประจัญบานยามาโตะ เรือประจัญบานชั้นยามาโตะ เรือประจัญบานบิสมาร์ค เรือประจัญบานมูซาชิ เรือประจัญบานชั้นเซาท์ดาโคตา เรือประจัญบาน เรือประจัญบานชั้นมอนแทนา เรือประจัญบานมิกาซะ เรือป้องกันชายฝั่งรัสเซียแอดมิรัลเซเนียวิน เรือป้องกันชายฝั่งรัสเซียเจเนอรัลแอดมิรัลอะพรักซิน

แหล่งที่มา

WikiPedia: เรือประจัญบานชั้นยามาโตะ http://combinedfleet.com/Shinano.htm http://combinedfleet.com/musashi.htm http://combinedfleet.com/ship.php?q=shinan_c.htm http://combinedfleet.com/yamato.htm http://www.combinedfleet.com/b_underw.htm http://www.combinedfleet.com/yamato_c.htm http://books.google.com/?id=mw0GLSCmfCQC http://www.imdb.com/title/tt0140644/ http://www.imdb.com/title/tt0451845/ http://www.navweaps.com/Weapons/WNJAP_18-45_t94.ht...