ภูมิภาค ของ เลขยันต์

เลขยันต์ภาคกลางอันสืบสายวิชามาแต่กรุงศรีอยุธยาที่ดูเหมือนจะสืบเนื่องมาจากลัทธิพราหมณ์แท้เพราะอ้างอิงถึงพระอิศวร พระนารายณ์อยู่เสมอ เลขยันต์ยุคก่อนเสียกรุงครั้งที่หนึ่งจึงประกอบด้วยยันต์ที่เกี่ยวกับเทพเจ้าของพราหมณ์อยู่มาก มีจุดเด่นของเลขยันต์ของสายภาคกลาง คือนิยมใช้อักขระขอมในการเขียนยันต์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ชนชั้นที่เป็นคนประดิษฐ์เลขยันต์ไทยเป็นหลักคือพระภิกษุ เนื่องจากเป็นชนชั้นที่ใช้ภาษาบาลีและอักษรขอมเป็นหลัก และเลขยันต์นั้นใช้สำหรับบันทึกเรื่องราวทางศาสนา อีกจุดเด่นของภาคกลางคือมีการนำยันต์มาทำเป็นผงพุทธคุณ

เลขยันต์ภาคใต้ได้รับอิทธิพลหลักจากสำนักวัดเขาอ้อ มีจุดเด่นคือ นิยมใช้อักษรไทยในการประกอบเลขยันต์ นิยมใช้ อักขระชุดนอโมธงชัย

เลขยันต์ในภาคอีสานนี้ได้รับอิทธิพลจาก 3 แหล่ง คือ จากสายวิชาลาว สายวิชาของชนพื้นถิ่นอีสานใต้ เช่นเขมร และสายวิชาภาคกลาง จุดเด่นของเลขยันต์ภาคอีสานคือ นิยมเขียนด้วยอักษรธรรมอีสาน นิยมบันทึกเลขยันต์ในสมุดใบลาน เลขยันต์ที่พบส่วนใหญ่ในภาคอีสานมักลงเป็นอักขระมากกว่ารูปยันต์ เครื่องรางที่มีเอกลักษณ์คือสมุดก้อมที่เขียนเลขยันต์ถูกใช้เป็นเครื่องรางนำพกติดตัว และนิยมใช้อักขระชุดธาตุ คือ นะมะพะทะฯ และธาตุแก้วคือ "นะมะอะอุ"

เลขยันต์ภาคเหนือ มีจุดเด่นคือ นิยมลงด้วยอักษรธรรมล้านนา เลขยันต์กลุ่มที่พบหนาแน่นที่สุดในตำราสายล้านนาคือ ยันต์เทียน และมีการพบผ้ายันต์ขนาดใหญ่หลายแบบที่มีขนาดใหญ่กว่าผ้ายันต์ภาคอื่น[6]