อรรถาธิบาย ของ เศรษฐกิจสีเขียว

ในช่วงยี่สิบถึงสามสิบปีที่ผ่านมา เมื่อมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพบรรยากาศโลกมากขึ้นและปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่ขาดแคลนกลายเป็นปัญหาในระดับระหว่างประเทศ เศรษฐกิจสีเขียวได้รับความสนใจทั้งในฐานะการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ การแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบเชิงบรรษัทของผู้ผลิต และกระแสความนิยมธรรมชาติอันเกิดจากการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมในหมู่ผู้บริโภคที่สร้างตลาดใหม่ขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจ แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวเกิดขึ้นและพัฒนาไปพร้อมกับการพัฒนาการผลิตแบบคาร์บอนต่ำ (low-carbon development) ซึ่งหมายถึงรูปแบบของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ที่มีกระบวนการลดการใช้พลังงานคาร์บอน และเพิ่มสัดส่วนของพลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นคือการช่วยลดการปล่อยคาร์บอนอันเป็นสาเหตุของปัญหาเรือนกระจกและโลกร้อน และมีเป้าหมายระยะยาวคือสร้างระบบอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกให้เป็นประเด็นหลักของเศรษฐกิจสีเขียวคือพลังงานสีเขียว เนื่องจากพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของโลก และเป็นต้นเหตุสำคัญของการทำลายสิ่งแวดล้อมและการปล่อยมลพิษ ประเด็นพลังงานสีเขียวจึงเป็นประเด็นที่ใหญ่มากประเด็นหนึ่งและอาจได้รับการพิจารณาโดยมิได้เกี่ยวข้องอะไรกับเศรษฐกิจสีเขียวในฐานะประเด็นเอกเทศ

องค์ประกอบของความเป็นเศรษฐกิจสีเขียวคาร์ล เบิร์คคาร์ท แบ่งเศรษฐกิจสีเขียวออกเป็น 6 ส่วน ดังนี้

  • พลังงานซึ่งนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น พลังงานน้ำ ลม แสงแดด ความร้อนใต้พิภพ ฯลฯ เป็นพลังงานธรรมชาติที่ไม่หมดไปเหมือนเชื้อเพลิงฟอสซิลชนิดต่างๆ และไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
  • อาคารสีเขียว อาคารซึ่งออกแบบและสร้างให้ใช้ทรัพยากรในการก่อสร้างน้อยและประหยัดพลังงานในการใช้สอย เช่น การติดตั้งแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบหมุนเวียนน้ำฝนมาใช้ภายในอาคาร ฯลฯ
  • พาหนะสะอาด ยานพาหนะซึ่งใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น รถไฮบริดจ์ รถพลังไฟฟ้า ฯลฯ
  • การจัดการน้ำ มีการอนุรักษ์แหล่งน้ำในธรรมชาติ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเชิงเศรษฐกิจให้มีการใช้งานคุ้มค่า มีการบำบัดน้ำเสียจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างปลอดภัย ฯลฯ
  • การจัดการของเสีย การนำขยะกลับมาใช้ใหม่ การบำบัดของเสีย การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ให้เกิดขยะน้อยที่สุด
  • การจัดการที่ดิน การอนุรักษ์ที่ดิน การฟื้นฟูสภาพดิน การจัดพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ป่าชุมชน เกษตรอินทรีย์ ฯลฯ

เป้าหมายของเศรษฐกิจสีเขียวแตกต่างกันไปตามคำจำกัดความ ซึ่งมองได้ว่าเศรษฐกิจสีเขียวนั้นเป็นสำนักเศรษฐศาสตร์แบบใหม่ที่ยกให้ระบบนิเวศน์เหนือกว่ากำไรสุทธิหรือเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งที่เพิ่มเข้าไปในแนวคิดเศรษฐศาสตร์สำนักต่างๆ เช่น เศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกจะมองว่าธรรมชาติเป็นทุนอย่างหนึ่ง (natural capital) หรือสำนักมาร์กซิสต์มองว่าธรรมชาติเป็นเหมือนกับชนชั้นกรรมาชีพที่ถูกกดขี่จากการแสวงหาประโยชน์ของนายทุน แต่โดยรวมแล้วเศรษฐกิจสีเขียวมีเป้าหมายคือการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการอนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งในแง่การใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนของมนุษย์ สมดุลของระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางธรรมชาติ (และยังรวมไปจนถึงการพัฒนาสังคมในด้านอื่นๆอย่างยั่งยืน เช่น การสร้างโอกาสให้แก่พลเมืองอย่างเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้นในทุกๆด้านด้วยเช่นกัน)[2][3]