เศรษฐศาสตร์มหภาค ของ เศรษฐศาสตร์

เศรษฐศาสตร์มหภาคนั้นจะพิจารณาระบบเศรษฐกิจในภาพรวมเพื่ออธิบายอุปสงค์-อุปทานมวลรวมและความสัมพันธ์ในลักษณะ "บนลงล่าง" กล่าวคือ ใช้ทฤษฎีดุลยภาพทั่วไปอย่างง่ายในการอธิบาย[8] ไม่ว่าจะเป็น รายได้ประชาชาติ, ผลผลิตประชาชาติ, อัตราการว่างงาน, ภาวะเงินเฟ้อ ย่อยลงมาก็ได้แก่ การบริโภคโดยรวม, การลงทุนและองค์ประกอบของการลงทุน นอกจากนี้ เศรษฐศาสตร์มหภาคยังทำการศึกษาผลกระทบของนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง

ในการจะอธิบายหัวข้อดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องจำลองภาพระบบเศรษฐกิจระดับมหภาคในรูปแบบที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์มหภาค ซึ่งบรรยายตัวระบบโดยคร่าว ๆ เพื่อประโยชน์ในการอภิปราย แบบจำลองดังกล่าวอาจมีรูปแบบแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น แผนภาพ, สมการ, การเปรียบเปรยในเชิงเทคนิค, ตารางเลออนเทียฟ เป็นต้น

นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา เศรษฐศาสตร์มหภาคได้เริ่มผนวกเอาแนวคิดแบบจำลองเศรษฐศาสตร์จุลภาคเข้ามาใช้ ทั้งในแง่ของภาคการผลิต, รวมเอาความมีเหตุมีผลของตัวประกอบในระบบเศรษฐกิจ, การใช้ข้อมูลสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และการแข่งขันแบบไม่สมบูรณ์[9] ซึ่งได้แก้ปมประเด็นที่เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างเศรษฐศาสตร์ทั้งสองแขนง[10]

การวิเคราะห์ในด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคนอกจากนี้ยังคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อระดับความเติบโตในระยะยาวของรายได้ประชาชาติ อันได้แก่ การสะสมทุน, การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการขยายตัวของกำลังแรงงาน[11]

ความเติบโตทางเศรษฐกิจ

เศรษฐศาสตร์ด้านความเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นมุ่งเน้นศึกษาปัจจัยที่อธิบายความเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือคือการเพิ่มขึ้นของผลผลิตต่อหัวของประเทศในระยะยาว ปัจจัยดังกล่าวก็ยังใช้ในการอธิบายความแตกต่างระหว่างระดับผลผลิตต่อหัวระหว่างประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะว่าทำไมบางประเทศเติบโตได้รวดเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ หรือว่าบางกลุ่มประเทศมีแนวโน้มเติบโตเท่าทันกันหรือไม่ เป็นต้น

ปัจจัยที่มีการวิจัยศึกษาค่อนข้างมากก็ได้แก่ อัตราการลงทุน, การเติบโตของประชากร และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทั้งหมดนี้มีปรากฏทั้งในรูปทฤษฎีและผลการศึกษาเชิงประจักษ์ ทั้งในแบบจำลองคลาสสิกใหม่, แบบจำลองการเติบโตภายใน (endogeneous growth) และในการบันทึกบัญชีการเติบโต (growth accounting)[12]

วัฏจักรธุรกิจ

ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจราวทศวรรษ 1930 นี้เองที่เป็นจุดกำเนิดให้กับเศรษฐศาสตร์มหภาคที่แตกแขนงออกไปเป็นศาสตร์เฉพาะทาง ระหว่างภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่นั้น จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ได้แต่งหนังสือที่ชื่อว่า ทฤษฎีทั่วไปของการจ้างงาน, ดอกเบี้ย และเงินตรา โดยวางรากฐานทฤษฎีหลัก ๆ ของเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ไว้ แต่ต่อมาก็มีทฤษฎีและแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มหภาคที่ถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ข้อผิดพลาดในแบบจำลองดังกล่าว

เศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกใหม่ใช้สมมติฐานว่าระดับราคาและค่าแรงนั้นปรับตัวโดยอัตโนมัติเพื่อเข้าสู่ภาวะการจ้างงานสมบูรณ์ ขณะที่เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ใหม่นั้นมองว่าการจ้างงานสมบูรณ์นั้นมีได้แต่ในระยะยาว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีนโยบายรัฐและธนาคารกลางแทรกแซงเพราะว่า​ "ระยะยาว" ที่ว่าอาจจะยาวนานเกินไป

ภาวะเงินเฟ้อและนโยบายการเงิน

เงินตราเป็นสื่อกลางในการชำระหนี้สำหรับสินค้าในระบบเศรษฐกิจที่อิงราคาเป็นหลัก และยังเป็นหน่วยทางบัญชีที่มักไว้ใช้ระบุราคา โดยเงินตรารวมถึงสกุลเงินที่ถือครองโดยสาธารณะที่ไม่ใช่ธนาคารและเงินฝากที่ขึ้นเงินได้

เมื่อเงินตราเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนธุรกรรม เงินจึงช่วยให้การค้าดำเนินไปได้อย่างสะดวก หน้าที่ดังกล่าวสามารถนำมาเปรียบเทียบได้กับระบบแลกเปลี่ยนสินค้า (barter) ที่มีข้อเสียหลักคือการจับคู่ผู้ซื้อและผู้ขายที่มีความต้องการตรงกัน เพราะประเภทสินค้ามีหลากหลาย เงินตรานั้นช่วยลดต้นทุนธุรกรรมของการแลกเปลี่ยนลงเนื่องจากการยอมรับที่เป็นสากล[13]

หากมองในระดับประเทศแล้ว ทฤษฎีและหลักฐานเชิงประจักษ์นั้นต่างลงความเห็นว่าปริมาณอุปทานเงินตราโดยรวมนั้นสัมพันธ์ในเชิงบวกกับมูลค่าที่เป็นตัวเงินของผลผลิตโดยรวมและระดับราคาโดยรวม ด้วยเหตุนี้ การจัดการอุปสงค์เงินตราจึงเป็นประเด็นหลักของนโยบายการเงิน[14]

นโยบายการคลัง

การจัดทำบัญชีประชาชาติเป็นกรรมวิธีในการสรุปกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ บัญชีประชาชาติมีลักษณะเป็นระบบการบัญชีแบบจดบันทึกคู่ (double-entry accounting system) ที่เจาะจงรายละเอียดวิธีที่ใช้วัดแต่ละรายการไว้อย่างละเอียด อันได้แก่ บัญชีรายได้และผลิตภัณฑ์ประชาชาติ ซึ่งระบุมูลค่าประเมินของรายได้และผลผลิตต่อไตรมาสหรือต่อปี

บัญชีรายได้และผลิตภัณฑ์ประชาชาติช่วยให้รัฐสามารถติดตามผลการดำเนินงานของระบบเศรษฐกิจและองค์ประกอบภายในวัฏจักรธุรกิจหรือติดตามข้ามช่วงเวลา ข้อมูลเกี่ยวกับราคาอาจช่วยให้สามารถแยกแยะมูลค่าที่เป็นตัวเงินออกจากมูลค่าที่แท้จริง (nominal vs. real) ได้ หรือคือการปรับฐานค่าเงินตามการเปลี่ยนแปลงระดับราคาตามระยะเวลาที่ผ่านไป บัญชีประชาชาติยังรวมเอาการวัดมูลค่าทุนสะสม, ความมั่งคั่งของประเทศ และกระแสทุนระหว่างประเทศอีกด้วย[15]