แรงบันดาลใจ ของ เสียงเรียกของคธูลู

โรเบิร์ต เอ็ม. ไพรซ์ ได้ระบุในบทนำของ The Cthulhu Cycle ว่าบทกวี เดอะคราเคน ของ อัลเฟรด ลอร์ด เทนนีซัน เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในเรื่องเสียงเรียกของคธูลู โดยไพรซ์ได้ระบุถึงความคล้ายคลึงระหว่างคราเคนในบทกวีกับคธูลู ทั้งคู่เป็นอสูรกายคล้ายกับปลาหมึกยักษ์ซึ่งหลับใหลอย่างยาวนาน ณ ก้นมหาสมุทรและจะตื่นขึ้นในยุคแห่งความพินาศ[2]

ไพรซ์ยังเชื่อว่างานของลอร์ดดุนซานีซึ่งเป็นนักประพันธ์ที่เลิฟคราฟท์ชื่นชอบมาก น่าจะเป็นที่มาสำคัญของเทพผู้หลับใหลของเรื่องนี้ โดยในเรื่อง ร้านค้าบนถนนโก-บาย ได้พูดถึง "สวรรค์แห่งเทพผู้หลับใหล" และในเรื่อง เหล่าเทพแห่งเพกานา, ซึ่งเล่าถึงเทพที่ถูกขับกล่อมให้หลับใหลตลอดเวลา เพราะเมื่อตื่นขึ้นมาแล้ว "จะไม่มีเทพหรือมนุษย์อีกต่อไป"[3]

เอส. ที. โจชิ และเดวิด อี. ชูลทซ์ ได้ระบุถึงงานที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจของเลิฟคราฟท์อีกเรื่องคือ เดอะ ฮอร์ลา ของ กาย เดอ มอสพัสแซนท์ ซึ่งเลิฟคราฟท์เคยเขียนถึงในข้อเขียนชื่อ เรื่องสยองเหนือธรรมชาติในงานประพันธ์ ว่าเขาสนใจถึง "สิ่งล่องหนซึ่ง...บิดเบือนจิตใจของสิ่งอื่น และเป็นเหมือนแนวหน้าของกองทัพสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวซึ่งมายังโลกเพื่อกลืนกินมนุษย์" และ เรื่อง นิยายแห่งผนึกดำ ของ อาเทอร์ มาเชนซึ่งเป็นเรื่องที่ดำเนินเรื่องโดยการเชื่อมโยงเรื่องราวที่แยกจากกันเพื่อเปิดเผยถึงความน่ากลัวจากโบราณกาล[4]

เลิฟคราฟท์เองยังได้ระบุถึงงานประพันธ์ที่เป็นแรงบันดาลใจในเสียงเรียกของคธูลูเองอีกด้วย เช่น กิ่งทอง ของ เจมส์ เฟรเซอร์ ลัทธิแม่มดในยุโรปตะวันตก ของ มากาเร็ต เมอเรย์และ แอ็ตแลนติสกับเลมูเรียซึ่งสาบสูญของ ดับเบิลยู. สก็อต เอเลียต[5]