ภัยที่คุกคาม ของ เสือดาว

แม้ว่าเสือดาวจะมีความสามารถในการปรับตัวเพื่ออาศัยในพื้นที่ ๆ มีการรบกวนจากการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ได้ดี แต่ความหนาแน่นของเสือดาวในบริเวณดังกล่าวจะน้อยกว่าพื้นที่ ๆ ไม่ถูกมนุษย์รบกวนอย่างเห็นได้ชัด โดยอาจต่างกันเป็นสิบหรือเป็นร้อยเท่า ความแตกต่างนี้ย่อมแสดงว่าการอาศัยของมนุษย์มีผลต่อจำนวนประชากรของเสือดาว

เช่นเดียวกับเสือส่วนใหญ่ ภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดของเสือดาวก็คือการสูญเสียถิ่นที่อยู่หาศัย แม้ว่าเสือดาวจะปรับตัวเข้ากับป่าชั้นสองได้ดีก็ตาม แต่ก็ต้องประสบความยากลำบากไม่มากก็น้อย ปัญหานี้แสดงชัดเจนที่สุดในกรณีของเสือดาวในเอเชียกลางและตะวันออกกลาง ซึ่งถูกคุกคามอย่างมากและอยู่ในภาวะล่อแหลมต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง ถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือดาวถูกตัดขาดจากกันจนเป็นผืนเล็กผืนน้อย การจับคู่ผสมพันธุ์จึงเกิดขึ้นในสายเลือดที่ใกล้ชิดหรือแม้แต่มีการจับคู่ระหว่างแม่ลูก ทำให้เสือในรุ่นถัดไปไม่แข็งแรง

เสือดาวพันธุ์อามูร์ประสบปัญหากับจำนวนประชากรที่เหลือน้อย จนเกิดการผสมพันธุ์ในสายเลือดขึ้น ทั้งระหว่างพ่อ-ลูก และพี่-น้อง ตั้งแต่ 2516 จนถึงปี 2534 จำนวนเฉลี่ยของลูกเสือดาวครอกหนึ่งลดลงจาก 1.75 เหลือเพียง 1.0 แต่ก็ยังยากที่จะสรุปว่าการลดลงนี้เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม ความอุดมสมบูรณ์ลดลง หรือเป็นเพียงการขึ้นลงเชิงประกรศาสตร์

เสือดาวในหลายพื้นที่ต้องเผชิญกับภาวะอดอยากเนื่องจากสัตว์กีบที่เป็นอาหารหลักถูกล่าไปเป็นจำนวนมาก เช่นเสือดาวในแถบรัสเซียตะวันออก บางส่วนต้องถูกฆ่าเนื่องจากไปจับสัตว์ในฟาร์มของชาวบ้านกิน ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยนอกพื้นที่เขตอนุรักษ์ โดยเฉพาะในแถบอุทยานแห่งชาติจิตวันนั้นพบว่าบริเวณขอบอุทยานซึ่งใกล้เคียงกับฟาร์มปศุสัตว์จะมีเสือดาวอาศัยอยู่หนาแน่นกว่าในใจกลางของอุทยานเสียอีก เสือดาวเป็นเสือที่มีปัญหาการเผชิญหน้ากับชุมชนมากที่สุด ถันปังเจี๋ย (1990) เคยบันทึกไว้ว่ามีเสือดาวตัวหนึ่งติดกับดักที่ห่างจากปักกิ่งเพียง 50 กิโลเมตร ในเกาะชวาซึ่งเป็นเกาะที่มีผู้คนอาศัยหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็ยังมีเสือดาวอาศัยอยู่ ความใกล้ชิดนี้ทำให้มีโอกาสสร้างปัญหาขัดแย้งกับชุมชนได้ง่าย เมื่อชาวบ้านรู้สึกว่าเสือดาวเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงหรือตัวเขาเอง ย่อมต้องล่าเสือดาวเพื่อล้างแค้นหรือตัดปัญหาในอนาคต ในปี 2525-2532 ชาวอินเดีย 170 คนถูกเสือดาวฆ่าตาย ส่วนใหญ่เหตุเกิดใน Kumaon และ Garhwal hill ในอุตตรประเทศ

ภัยคุกคามที่รองลงมาก็คือ การล่าเพื่อเอาหนัง กระดูกแลเครื่องในเพื่อเอาไปทำยาจีน การล่าเพื่อเอาหนังเคยเป็นภัยที่คุกคามเสือดาวในแอฟริกามากที่สุดในช่วงทศวรรษ 1960 ถึง 1970 แต่หลังจากนั้น ตลาดขนสัตว์ได้ล่มสลายลงเนื่องจากทรรศนะเรื่องแฟชันขนสัตว์ของผู้คนที่เริ่มเปลี่ยนไปและเริ่มมีการควบคุมภายใต้อนุสัญญาไซเตส การล่าเสือดาวเพื่อเอาหนังทำให้จำนวนประชากรของเสือดาวลดลงไปมาก และพบว่าเสือดาวถูกจับได้ค่อนข้างง่ายด้วยกับดัก ทั้งนี้เนื่องจากเสือดาวมักจะเดินหากินเป็นพื้นที่เล็ก ๆ และมีเส้นทางประจำ นอกจากนี้การล่าโดยการวางยาพิษก็ฆ่าเสือดาวไปไม่น้อย แต่สำหรับเสือดาวในแอฟริกาตะวันออกแล้ว การล่ามีผลต่อจำนวนของเสือดาวน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม อนาคตของเสือดาวก็ยังเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา พื้นที่อนุรักษ์ในปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่อาศัยของเสือดาวที่สำคัญ ๆ เพียง 13% เท่านั้น

ประเทศที่ห้ามล่า

แองโกลา เบนิน บูร์กินาฟาโซ แคเมอรูน คองโก จิบูตี อิเควทอเรียลกินี กาบอง กานา กินีบิสเซา ไอเวอรีโคสต์ ไลบีเรีย มาลี มอริเตเนีย ไนเจอร์ ไนจีเรีย รวันดา เซเนกัล เซียร์ราลีโอน โซมาเลีย ซูดาน โตโก ยูกันดา คองโก แอลจีเรีย อาร์เมเนีย อียิปต์ จอร์เจีย อิหร่าน อิสราเอล จอร์แดน โมร็อกโก ปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน บังกลาเทศ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ปากีสถาน รัสเซีย ศรีลังกา ไทย

ประเทศที่ควบคุมการล่า

เนปาล

ไม่คุ้มครองนอกเขตอนุรักษ์

ภูฏาน

ไม่มีการคุ้มครอง

แกมเบีย เลบานอน โอมาน ตูนิเซีย ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ไม่มีข้อมูล

อัฟกานิสถาน อาเซอร์ไบจาน อิรัก ลิเบีย คูเวต ซีเรีย ทาจิกิสถาน เยเมน บุรุนดี ชาด กินี กัมพูชา เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ พม่า เวียดนาม