ลักษณะทั่วไป ของ เสือดาว

ลำตัวสีน้ำตาลอมเหลืองหรือมีสีเหลือง มีลายจุดสีดำเรียกว่า "ลายขยุ้มตีนหมา" แต้มบริเวณลำตัวเป็นจำนวนมากโดยลายจุดจะเรียงตัวกันเป็นกลุ่ม ๆ โดยจะปรากฏเฉพาะที่บริเวณด้านหลังและด้านข้างของลำตัว แตกต่างจากบริเวณส่วนหัว ขา เท้า บริเวณใต้ท้องที่จะมีจุดสีดำปรากฏอยู่เช่นเดียวกับขนใต้ท้องที่มีสีขาวหรือสีเทา ขนาดความยาวหัวถึงลำตัว 107–129 เซนติเมตร หางมีความยาว 79.2–99.1 เซนติเมตร ใบหูมีความยาว 6.5–7.4 เซนติเมตร และหนัก 45–65 กิโลกรัม

เสือดาวและเสือดำ จัดอยู่ในเสือชนิดเดียวกัน ซึ่งส่วนมากโดยทั่วไปจะเข้าใจผิดว่า เสือดาว และ เสือดำ เป็นเสือคนละชนิด ซึ่งในการผสมพันธุ์ของเสือดาว ลูกเสือที่เกิดใหม่ในครอกเดียวกัน อาจมีลูกเสือได้ทั้งสองชนิดคือเสือดาวและเสือดำ โดยที่เสือดำจะมีสีขนปกคลุมตามร่างกายด้วยสีดำ ซึ่งมีลายจุดเช่นเดียวกับเสือดาว เพียงแต่กลมกลืนกับสีขนทำให้มองเห็นได้ไม่ชัด

พบในแอฟริกาและเอเชีย ตั้งแต่แมนจูเรียลงมาถึงอินโดจีน ไทย มาเลเซีย ชวา เอเชียใต้ บางส่วนของเอเชียกลาง จนถึงตะวันออกกลาง โดยเสือดาวที่พบนอกทวีปแอฟริกามักมีอุปนิสัยดุร้ายกว่า[3]สำหรับประเทศไทยพบตามป่าทั่วไปแต่พบมากทางภาคใต้ กินสัตว์ป่าทุกชนิดที่จับได้ เช่น หมู กวาง ลิง นกยูง สุนัข และแมลง บางครั้งปู ปลาก็กิน ว่ายน้ำได้เก่ง มักอยู่อาศัยในป่าโปร่ง สามารถขึ้นล่าเหยื่อบนต้นไม้ หรือ ลากเหยื่อไปกิน บนต้นไม้เพื่อหลีกหนีจากศัตรูได้ ตามลำตัวมีลายจุดสีดำ บนพื้นเหลือง

เสือดาว จัดเป็นเสือขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่กระจายพันธุ์กว้างไกลที่สุด และสามารถปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ โดยสามารถอาศัยอยู่ได้ในอุณหภูมิ 43 องศาเซลเซียสในทะเลทราย หรือกระทั่ง -25 องศาเซลเซียสในรัสเซีย และยังอยู่ได้ในระดับความสูงถึง 5,200 เมตร บนเทือกเขาหิมาลัย รวมถึงพื้นที่ป่าที่ใกล้กับชุมชนหรือแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ได้ด้วย

เชื่อว่าเสือดาว ถือกำเนิดมาเมื่อ 500,000 ปีที่แล้ว ที่แอฟริกา ก่อนจะแพร่กระจายพันธุ์ขยายไปเอเชีย [4]