ปฏิกิริยา ของ เหตุกราดยิงที่สยามพารากอน

รถไฟฟ้าบีทีเอสได้ทำการปิดทางเข้า-ออกเลขคี่ของสถานีสยาม ซึ่งอยู่ฝั่งสยามพารากอนที่เป็นพื้นที่เกิดเหตุ ตั้งแต่เวลา 16:25 น. โดยผู้โดยสารยังสามารถใช้ทางเข้า-ออก ฝั่งสยามสแควร์วันได้ตามปกติ[32] และหลังจากตำรวจจับกุมผู้ก่อเหตุแล้วจึงกลับมาเปิดให้บริการสถานีสยามฝั่งสยามพารากอนตามปกติเมื่อเวลา 17:20 น.[33]

นอกจากนี้ ในขณะเกิดเหตุ มีการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติครั้งที่ 1/2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน ร่วมเป็นกรรมการด้วย เมื่อได้รับรายงานจึงขอตัวออกจากห้องประชุม และเดินทางไปยังสยามพารากอนเพื่อติดตามสถานการณ์ ขณะที่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยพลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะทำงาน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ และรายงานความคืบหน้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ทราบเป็นระยะ[34] ภายหลังเหตุการณ์สงบลง เศรษฐาได้กล่าวแสดงความเสียใจและให้กำลังใจแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ[35] อีกทั้งได้เข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ[36] และเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บในช่วงค่ำวันเดียวกัน[37]

ช่อง 3 เอชดี ประกาศยกเลิกงาน "เปิดวิกบิ๊ก 3 Best & Beyond" ซึ่งเป็นงานเปิดตัวละครใหม่ของช่อง ที่มีกำหนดจัดที่รอยัลพารากอนฮอลล์ในวันดังกล่าวทันที[38] ทั้งนี้ ในวันถัดจากนั้น งานอื่น ๆ ในอาคารดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียง ยังมีการจัดตามปกติ แต่ได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้เข้มงวดมากขึ้น[39][40]

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงรับผู้บาดเจ็บจากเหตุดังกล่าวทุกคน เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์[41] อีกทั้งยังพระราชทานดอกไม้และตะกร้าสิ่งของไปยังผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทุกคนอีกด้วย โดยมี พลอากาศโท ภักดี แสงชูโต ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ เป็นผู้แทนพระองค์[42]

สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเหตุดังกล่าว ระบุได้เร่งใช้กลไกฉุกเฉินในการตรวจสอบ และประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย อีกทั้งระบุว่านายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้โทรศัพท์แสดงความเสียใจมายังนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูต พร้อมให้คำมั่นว่าฝ่ายไทยจะสอบสวนและจัดการเหตุการณ์นี้ตามกฎหมายอย่างรวดเร็ว และเสริมสร้างการจัดการความปลอดภัยทางสาธารณะ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ชาวจีนที่เดินทางมาประเทศไทย[43]

กระทรวงมหาดไทยออกมาตรการระยะสั้น เช่น ห้ามการนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน, ห้ามบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าสนามยิงปืน ยกเว้นนักกีฬายิงปืนทีมชาติ, ระงับการนำเข้าปืนและการออกใบอนุญาตมีอาวุธปืนติดตัว, และขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปราบปรามและปิดเว็บไซต์ เพจออนไลน์ซื้อขายอาวุธปืนเถื่อนและสิ่งเทียมอาวุธปืน เป็นต้น ส่วนมาตรการระยะยาวคือการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490[44] ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดศูนย์ Care D+ Space ในพื้นที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของอาคารสยามพารากอน เพื่อเยียวยาจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว[45]

รัฐบาลไทยและสยามพารากอนได้มอบเงินช่วยเหลือผู้เสียชีวิตรวมคนละ 6.2 ล้านบาท และผู้บาดเจ็บคนละ 350,000 บาท[46]

ครอบครัวของผู้ก่อเหตุได้เผยแพร่จดหมายชี้แจงและขอโทษต่อเหตุดังกล่าวในวันที่ 6 ตุลาคม[47] อีกทั้งในวันดังกล่าว บิดาของผู้ก่อเหตุได้เข้าเคารพศพชาวเมียนมาที่เสียชีวิต[48]

ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือประชาชนไม่ขยายผลกระทบจากเหตุดังกล่าวจนเกินความเป็นจริง อีกทั้งเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นการชดเชยความรู้สึกที่ไม่ดี และแสดงออกถึงความรู้สึกเสียใจต่อเหตุดังกล่าว[49]

ในส่วนของฝ่ายการเมือง พริษฐ์ วัชรสินธุ จากพรรคก้าวไกล เสนอให้รัฐบาลพัฒนาปรับปรุงระบบเตือนภัย, การครอบครองอาวุธปืน และสร้างความเข้าใจกับสังคมในการงดเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของผู้ก่อเหตุ[50] ด้านวทันยา บุนนาคจากพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้มีการบรรจุหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อในสถานศึกษา[51]

หลังสื่อบางสำนักเสนอประเด็นว่าการก่อเหตุรุนแรงดังกล่าวมาจากพฤติกรรมเลียนแบบเกมแบตเทิลรอยัล แฮชแท็ก "#อย่าโทษเกม" ได้ติดอันดับความนิยมในเอกซ์ ฮาร์ตร็อกเกอร์ หนึ่งในสตรีมเมอร์เกมผู้มีชื่อเสียงในไทย กล่าวว่าหลายเกมแสดงให้เห็นผลจากการทำชั่ว การโทษเกมเพียงอย่างเดียวจึงเป็นการปัดภาระและอำพรางสาเหตุอันแท้จริง ด้านนายแพทย์ วรต โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิตให้ความเห็นว่าควรมองถึงปัจจัยอื่น ๆ นอกจากเกมด้วย[52]

ใกล้เคียง

เหตุการณ์ 6 ตุลา เหตุการณ์ 14 ตุลา เหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2563 เหตุการณ์การสูญพันธุ์ยุคเพอร์เมียน–ไทรแอสซิก เหตุการณ์พายุหมุนนาร์กิส พ.ศ. 2551 เหตุการณ์รถตู้สาธารณะถูกชนบนทางยกระดับอุตราภิมุข พ.ศ. 2553 เหตุกราดยิงที่สยามพารากอน เหตุการณ์ นปช. ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ 2 กันยายน พ.ศ. 2551 เหตุการณ์ทุจริตการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2544 เหตุการณ์โกก้าง

แหล่งที่มา

WikiPedia: เหตุกราดยิงที่สยามพารากอน https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_78979... https://www.thansettakij.com/news/general-news/577... https://www.thairath.co.th/news/politic/2730061 https://thematter.co/brief/214297/214297 https://www.thairath.co.th/news/politic/2730131 https://www.matichon.co.th/politics/news_4213241 https://mgronline.com/uptodate/detail/966000008913... https://www.thairath.co.th/news/crime/2730076 https://www.matichon.co.th/local/news_4213031 https://mgronline.com/entertainment/detail/9660000...