หลังเหตุการณ์ ของ เหตุการณ์_6_ตุลา

ความเจริญและความเสื่อมของลัทธิคลั่งเจ้า (Ultraroyalism)

รัฐประหารครั้งนี้ได้รับการต้อนรับด้วยความโล่งใจอย่างกว้างขวางเพราะวิกฤตการณ์ซึ่งเกิดขึ้นจากการกลับประเทศของจอมพลถนอมได้สร้างความวิตกกังวลใหญ่หลวง[33] แฮนด์ลีย์เขียนว่า "มันเป็นรูปแบบของรัฐประหารที่ผ่านมาหลายครั้ง...เริ่มความรุนแรง ทิ้งให้ตำรวจแสดงให้เห็นว่าไม่สามารถสถาปนาระเบียบได้ จากนั้นปล่อยให้ทหารก้าวเข้ามา"[49] ความเดือดดาลอันเกิดจากภาพถ่ายการแสดงล้อการแขวนคอได้นำส่วนที่เกิดเอง แต่รูปแบบการฝึกและการเกณฑ์กำลังกึ่งทหารในช่วงปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าความรุนแรงต่อฝ่ายซ้ายมีการวางแผนล่วงหน้าเป็นอย่างดี[49] แฮนด์ลีย์ยังเขียนว่า สี่วันหลังการสังหารหมู่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารพระราชทานรางวัลแก่บุคลากรกึ่งทหารที่เกี่ยวข้อง[49]

คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินแต่งตั้งธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่พระมหากษัตริย์โปรด เป็นนายกรัฐมนตรี ธานินทร์เลือกคณะรัฐมนตรีด้วยตัวเองโดยไม่สนใจรายชื่อของคณะผู้ยึดอำนาจการปกครอง รวมทั้งสมัครเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย[50] พลเรือเอกสงัดคงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบกที่เพิ่งเกษียณ พลเอกบุญชัย ได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี มีการล้อมจับผู้ต้องสงสัยฝ่ายซ้ายสามพันคน สื่อทั้งหมดถูกตรวจพิจารณา และสมาชิกในองค์การคอมมิวนิสต์ถูกลงโทษประหารชีวิต มีการกวาดล้างครอบคลุมมหาวิทยาลัย สื่อและบริการสาธารณะ[8] รัฐบาลสั่งห้ามเผยแพร่ภาพเหตุการณ์ทั้งหมด ตลอดจนเรื่องราวของเหตุการณ์โดยเด็ดขาด ตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สมัคร สุนทรเวช รวมถึงคณะปฏิรูปฯ ยังมีคำสั่งห้ามจำหน่ายหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ เป็นเวลา 3 วันหลังเหตุการณ์ และตรวจสอบเนื้อหาของสื่อมวลชนอีกหลายประการ ทั้งยกเลิกการสอนเรื่องการเมืองในโรงเรียนต่าง ๆ อีกด้วย[30] ประชาธิปไตยค่อย ๆ ได้รับการฟื้นฟูภายในโครงการ 12 ปี[51] รัฐบาลชุดนี้เป็นชุดที่นิยมเจ้าและต่อต้านฝ่ายซ้ายดุดันที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แต่ก็ปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างหนักด้วย ฝ่ายซ้ายเมืองราว 800 คนหลบหนีไปยังพื้นที่ชายแดนซึ่งคอมมิวนิสต์ควบคุมอยู่หลังรัฐประหาร[52] มีการโจมตีกองโจรเป็นระลอกตามมา ซึ่งเพิ่มถึงขีดสุดในต้น พ.ศ. 2520[52]

ไม่ช้า ลัทธิคลั่งชาติของธานินทร์ก็ได้บาดหมางกับแทบทุกภาคส่วนของสังคมไทย[53] ทั้งรัฐบาลยังถูกวิจารณ์ว่ามีแนวคิดขวาจัด ดำเนินแนวนโยบายรุนแรง ส่งผลให้มีนักศึกษาจำนวนมากต้องหลบหนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งต่อมาก็ปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐหลายครั้งจนมีผู้เสียชีวิตเป็นอันมาก[54] อีกทั้งเสถียรภาพของรัฐบาลเองก็ไม่มั่นคง เพราะถูกครอบงำจากคณะนายทหาร จึงมีความหวาดหวั่นกันว่าจะมีการรัฐประหารซ้อนเกิดขึ้น จนเช้าวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 มีความพยายามรัฐประหารโดยมีพลเอก ฉลาด หิรัญศิริ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้นำ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นนายทหารอีกคณะหนึ่งที่จะรัฐประหารซ้อนคณะของพลเรือเอกสงัด แต่กระทำการไม่สำเร็จ พลเอกฉลาดถูกประหารชีวิต ฐานเป็นกบฏในราชอาณาจักร[55] รัฐบาลชุดนี้สิ้นสุดลงด้วยรัฐประหาร นำโดยพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ โดยอ้างถึงความมั่นคงของรัฐ และความล่าช้าในการร่างรัฐธรรมนูญ[55]

การดำเนินคดี

หลังเหตุการณ์ ไม่มีการจับกุมผู้ลงมือฆ่า แต่นักศึกษาและประชาชนที่รอดชีวิต 3,094 คนถูกจับกุมภายในวันนั้น[56] ผู้ถูกจับกุมเกือบทุกคนถูกตำรวจรุมซ้อมเมื่อมาถึงสถานที่คุมขัง นอกจากนี้ ยังมีพยานว่า ตำรวจเรียกผู้ถูกจับกุมว่า "เชลย" อันสื่อว่า ตำรวจกำลังทำสงครามกับนักศึกษา[57] ต่อมา ส่วนใหญ่ได้รับประกันตัว แต่ยังเหลือ 27 คนถูกอายัดตัวเพื่อดำเนินคดี พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีสมัยที่ปล่อยตัวผู้ต้องหากล่าวว่า "แล้วก็ให้แล้วกันไป ลืมมันเสียเถิดนะ" ส่วนผู้ฆ่าได้รับความดีความชอบในฐานะผู้พิทักษ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์[56]

มีแกนนำนักศึกษาและประชาชนถูกตั้งข้อกล่าวหาใน "คดี 6 ตุลาคม" สุวรรณ แสงประทุมกับพวกรวม 18 คนถูกตั้งข้อกล่าวหาก่อกบฏ ก่อจลาจล ต่อสู้และพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ และรวมกันกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ คดีเริ่มในศาลทหารเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2520 รัฐบาลกำหนดให้ต้องหาไม่มีสิทธิใช้ทนายความพลเรือน ต่อมา หลังการกดดันทั้งในและต่างประเทศและรัฐบาลธานินทร์ล้มไป จำเลยจึงมีสิทธิแต่งตั้งทนายความพลเรือน คดีนี้ยังกลายเป็นเวทีของประชาชนในการประท้วงนอกศาลเรื่องสิทธิเสรีภาพด้วย รัฐบาลจึงรีบนิรโทษกรรมผู้ต้องหาทั้งหมดในวันที่ 15 กันยายน 2521 ก่อนข้อมูลจะรั่วสู่สาธารณะ และคงเป็นความต้องการของรัฐบาลในการปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงจากการฟ้องร้องในอนาคตด้วย[58]

เหตุผลที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐเสนอเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามนักศึกษาและประชาชนในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้แก่

  1. นักศึกษาเล่นละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
  2. นักศึกษาชุมนุมและสะสมอาวุธในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อก่อกบฏ
  3. มีการปะทะระหว่าง "ผู้รักชาติ" กับนักศึกษา แล้วตำรวจควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ จึงบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  4. นักศึกษาอาศัยการมี "ประชาธิปไตยมากเกินไป" หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา เพื่อฉวยโอกาสเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์อันมีวัตถุประสงค์ทำลายชาติ[45]

ในหนังสืออาชญากรรมรัฐในวิกฤติการเปลี่ยนแปลง พิจารณาทั้งสี่ประเด็นข้างต้นดังนี้

  • นักศึกษาไม่ได้เล่นละครดูหมิ่นฟ้าชาย ปรากฏว่า ผู้ชมการแสดงดังกล่าวมีอาจารย์ที่เป็นสมาชิกกลุ่มนวพล ตำรวจจราจร ตำรวจสันติบาล และสื่อมวลชน แต่ไม่มีผู้ใดมองว่าเป็นการเล่นละครดูหมิ่น ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับแต่งตั้งให้สอบสวนเรื่องนี้ได้ข้อสรุปภายในไม่กี่วันว่า ไม่มีข้อมูลเพียงพอดำเนินคดีกับใคร โดยนายตำรวจพยานโจทก์หลายนายว่า ตนทราบข่าวนักศึกษาหมิ่นฟ้าชายจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์[59] ด้านพลตำรวจโทชุมพล กล่าวว่า ตำรวจต้องการเข้าไปเจรจาอย่างสันติกับนักศึกษาเพื่อเอาตัวผู้แสดงละครมาสอบสวน แต่ 1. เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถโทรศัพท์เข้าไปพูดคุยกับแกนนำนักศึกษาได้ แต่ไม่เลือกทำ ทั้งเมื่อสถานการณ์เลวร้ายลง และนักศึกษาพยายามโทรศัพท์ออกมาขอความช่วยเหลือ สายโทรศัพท์กลับถูกเจ้าหน้าที่ตัดขาด และ 2. กำหนดว่าหากแกนนำนักศึกษาไม่ออกมาชี้แจงภายในเวลา 7.00 น. จะส่งตำรวจเข้าไปเจรจาในมหาวิทยาลัย แต่ฝ่ายนักศึกษาว่า ได้ตกลงกับนายกรัฐมนตรีเมื่อคืนก่อนแล้วว่าจะส่งผู้แทนและผู้แสดงละครออกไปชี้แจงกับนายกรัฐมนตรีในเช้าวันนั้นอยู่แล้ว ซึ่งพลตำรวจโทชุมพลน่าจะมีข้อมูลนี้[60]
  • เมื่อโฆษกรัฐบาลนำสำนักข่าวต่างชาติไปดูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลังเหตุการณ์ เขายอมรับว่า หาอุโมงค์ลับและบังเกอร์ไม่พบ "ใครยิงก่อนไม่ใช่ประเด็น" และเมื่อนักข่าวถามว่า "นักศึกษามีอาวุธมากน้อยแค่ไหน ขอดูได้ไหม และถ้านักศึกษามีอาวุธทำไมนักศึกษาตายมากกว่าตำรวจ" เขาตอบว่า "ไม่ทราบ"[61] การที่นักศึกษามีอาวุธนั้นมีความจำเป็น เพราะเมื่อมีการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชน มักถูกกลุ่มกระทิงแดงก่อกวนลอบยิงและขว้างระเบิดเป็นประจำ อาวุธที่นักศึกษามีในมหาวิทยาลัยวันนั้นเป็นปืนสั้นไม่เกิน 30 กระบอก ปืนลูกซองยาว 2 กระบอก และระเบิดมือประมาณ 10 ลูก ซึ่งไม่เหมาะกับการก่อกบฏหรือสู้รบกับหน่วยงานของรัฐ[62] ในวันนั้นมีตำรวจตาย 2 นาย ซึ่งหลายคนเชื่อว่าถูกพวกเดียวกันยิงจากความสับสน[61]
  • พลตำรวจโทชุมพลชี้แจงว่า ตำรวจควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ต้องใช้อาวุธบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อปกป้องประชาชนที่บุกเข้าไปในลักษณะ "มือเปล่า" ขณะที่นักศึกษายิงปืนออกมา และต้องเข้าไปคุ้มครองสถานที่ราชการ เขาว่าพลเรือนที่บุกเข้าไปมีเป็น "พัน ๆ" แต่พยานฝ่ายโจทก์ว่ามีเพียง 70-80 คนเท่านั้น จึงมิได้มีมากถึงกับตำรวจควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ฝ่ายพันตำรวจโทสล้างชี้แจงว่า ตนควบคุมลูกน้องไม่ได้[63] ทว่า ในความเป็นจริง ตำรวจยิงปืนกลกราดเข้าไปในตึกบัญชี และมีการนำตำรวจมาประจำทางเข้าออกเพื่อไม่ให้นักศึกษาหนีออกไป ซึ่งมีข้อสงสัยว่า หากตำรวจจะมาจับกุมแกนนำนักศึกษาและผู้แสดงละคร เหตุใดจึงห้ามมิให้นักศึกษาคนอื่นออกไป[64] ด้านประเสริฐ ณ นคร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ชี้แจงว่า "การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจมิได้กระทำเกินกว่าเหตุ เพราะในวันดังกล่าวประชาชนมีความเคียดแค้น และต้องการเข้าจับตัวนักศึกษาที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เข้าไปปฏิบัติงานก่อน ประชาชนที่เคียดแค้นก็อาจจะเข้าไปประชาทัณฑ์นักศึกษา และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยทั้งหมดอาจถูกทำลาย" ซึ่งเป็นความเท็จ[65]
  • ในความเห็นของฝ่ายขวา การปกป้องสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ สามารถใช้ความรุนแรงเท่าไรก็ได้ และมีความชอบธรรมทั้งสิ้น และมองว่า "ประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพมากเกินไป" หลัง 14 ตุลา ดังนั้นถ้าจะมีเสถียรภาพในสังคมต้องมีเผด็จการ ทว่า ต่อมา พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มีความเห็นว่า การสร้างความเป็นธรรมและเสรีภาพในสังคมจะเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์ได้ ฉะนั้นแม้แต่พลเอกเปรมยังมองว่า เสถียรภาพของสังคมไทยมาจากสิทธิเสรีภาพต่างหาก นอกจากนี้ ขบวนการนักศึกษาที่หนีไปเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์ถกเถียงกับผู้นำพรรคก่อนออกจากป่า เพราะไม่พอใจที่พรรคเป็นเผด็จการ และการถกเถียงดังกล่าวช่วยลดบทบาทและอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในที่สุด[66]

เหตุการณ์ในฐานะประวัติศาสตร์

ไม่มีผู้ก่อการคนใดถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและประเด็นดังกล่าวมีความละเอียดอย่างยิ่งในประเทศไทย สมาชิกคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองได้รับการนิรโทษกรรม แต่ไม่มีการห้ามดำเนินคดีกับบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย[67] หนังสือเรียนประวัติศาสตร์สมัยใหม่ในประเทศไทยจำนวนมากข้ามเหตุการณ์นี้ไปทั้งหมด หรือรวมรายงานด้านเดียวของตำรวจในขณะนั้นซึ่งอ้างว่าผู้ประท้วงนักศึกษาก่อเหตุรุนแรง บางเล่มลดความสำคัญของการสังหารหมู่ลงเป็นเพียง "ความเข้าใจผิด" ระหว่างสองฝ่าย ขณะที่แม้แต่เล่มที่แม่นที่สุดก็ยังเป็นเหตุการณ์ฉบับที่ลดความรุนแรงลง

ศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล เสนอเหตุผล 4 ประการที่ทำให้ไม่มีประวัติศาสตร์สาธารณะของเหตุการณ์ 6 ตุลา ดังนี้[68]

  1. ฝ่ายชนะ คือ ฝ่ายที่มีส่วนโดยตรงหรือโดยอ้อมในเหตุการณ์ล้วนเป็นผู้มีอำนาจและอิทธิพลในสังคมไทย จึงไม่ได้ประโยชน์จากการเปิดเผยเหตุการณ์
  2. เหตุการณ์นี้เป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ไม่ได้มีผู้ร้ายคนเดียว เทียบกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่สังคมสรุปว่า ผู้ร้ายคือ ระบอบเผด็จการทหาร จึงมักมีการแยกสองเหตุการณ์นี้ออกจากกัน
  3. ผู้ถูกกระทำ "ลืมไม่ได้" แต่ "จำไม่ลง" ในขณะเดียวกัน
  4. แม้สังคมไทยจะเปลี่ยนทัศนคติจากที่มองว่านักศึกษากระทำผิดเป็นเหยื่อ แต่กระแสหลักของสังคมกำหนดว่า นักศึกษาต้องเลิกต้องข้อสงสัยต่าง ๆ ซึ่งเป็น "การหุบปากเหยื่อเพื่อสมานฉันท์สังคม"

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2537 พันตำรวจตรี มนัส สัตยารักษ์ เขียนบทความชื่อ "รำลึก 6 ตุลาคม 2519 วันวังเวง" ในมติชนสุดสัปดาห์ มีใจความว่า ตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุทั้งการใช้อาวุธและการควบคุมนักศึกษา เขาว่า "ตำรวจที่อยู่รอบนอก [มหาวิทยาลัย] ใช้อาวุธปืนประจำตัวยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยโดยไม่ได้หวังผลอะไรมากไปกว่าสร้างความพอใจให้แก่ตัวเอง" เขายังว่า การชุมนุมของนักศึกษาเป็นไปโดยสงบตลอด ซึ่งชี้ว่า นักศึกษาบริสุทธิ์และตำรวจบางนายไม่เห็นด้วยกับวิธีการปราบปรามในวันนั้น[69]

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานประจำขึ้นทุกปีเพื่อจัดแสดงหนังสือพิมพ์ที่แสดงความชั่วร้าย ร่วมกับรายงานของพยานและบันทึกประวัติศาสตร์ มีการสร้างประติมากรรมอนสรณ์ในมหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2539[70]

สมัครได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2551 เมื่อมีการตั้งคำถามถึงบทบาทของเขา เขาว่า "มีผู้เสียชีวิตเพียงคนเดียว" และการเสียชีวิตนั้นเป็นอุบัติเหตุ[71] ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ซึ่งออกอากาศวันที่ 9 และ 10 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน เขาตอบคำถามเกี่ยวกับการสังหารหมู่โดยกล่าวว่า เขาเป็น "คนนอกในขณะนั้น" เขาอ้างถึง "ชายโชคร้ายคนหนึ่งถูกทุบตีและเผาที่สนามหลวง"[71] (เป็นการอ้างถึงศิลปิน มนัส เศียรสิงห์ ซึ่งร่างถูกลากออกมาจากกองศพและถูกตัดแขนขาต่อหน้าผู้เห็นเหตุการณ์ที่ยืนเชียร์)[71][72]

ใกล้เคียง

เหตุการณ์ 6 ตุลา เหตุการณ์ 14 ตุลา เหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2563 เหตุการณ์การสูญพันธุ์ยุคเพอร์เมียน–ไทรแอสซิก เหตุการณ์พายุหมุนนาร์กิส พ.ศ. 2551 เหตุการณ์รถตู้สาธารณะถูกชนบนทางยกระดับอุตราภิมุข พ.ศ. 2553 เหตุกราดยิงที่สยามพารากอน เหตุการณ์ นปช. ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ 2 กันยายน พ.ศ. 2551 เหตุการณ์ทุจริตการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2544 เหตุการณ์โกก้าง

แหล่งที่มา

WikiPedia: เหตุการณ์_6_ตุลา http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2007/08/2... http://bangkokpundit.blogspot.com/2007/08/samak-su... http://jotman.blogspot.com/2008/02/6-october-1976-... http://somsakwork.blogspot.com/2006/10/6.html http://somsakwork.blogspot.com/2007/11/2518-2519.h... http://edition.cnn.com/2008/WORLD/asiapcf/02/18/ta... http://www.scribd.com/doc/35147971/Bulletin-of-Con... http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,9... http://www.youtube.com/watch?v=sb_Zz0JzShU http://data3.blog.de/media/661/2347661_35e0d731fd_...