เบื้องหลัง ของ เหตุการณ์_6_ตุลา

เหตุการณ์ 14 ตุลาและผลสืบเนื่อง

ก่อนปี 2516 ทหารครอบงำรัฐบาลมานานหลายทศวรรษ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา มีการเดินขบวนเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นผลให้จอมพล ถนอม กิตติขจร เดินทางออกนอกประเทศ ระหว่างเดือนมกราคม 2517 ถึงสิงหาคม 2519 เกิดเหตุการณ์แกนนำนักศึกษา ผู้นำกรรมการ ผู้นำชาวนาถูกสังหารด้วยอาวุธปืนและระเบิดอีกอย่างน้อย 85 ราย อาทิ ดร. บุญสนอง บุณโยทยาน ต่อมา องคมนตรี สัญญา ธรรมศักดิ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2517 ผู้คบคิดรัฐประหารนำจอมพล ถนอม กิตติขจร เดินทางกลับประเทศไทย แต่เขาต้องออกนอกประเทศแทบทันที เพราะมติมหาชนคัดค้านการหวนกลับของระบอบทหารในขณะนั้นอย่างหนักแน่น[6]

ช่วงปี 2518 ถึง 2519 หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผลัดกันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรครัฐบาลขาดเสียงข้างมากในสภา รัฐบาลจึงขาดเสถียรภาพ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำระหว่างประเทศและการเติบโตของการเคลื่อนไหวนักศึกษานำไปสู่การนัดหยุดงานประท้วงของกรรมกรและการประท้วงของชาวนามากขึ้นอีก

ส่วนสถานการณ์ในอินโดจีนขณะนั้น การยึดเวียดนามใต้ของคอมมิวนิสต์หลังไซ่ง่อนแตกในเดือนเมษายน 2518 และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยึดอำนาจของขบวนการปะเทดลาวอันเป็นคอมมิวนิสต์ในประเทศลาวในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันมีผลใหญ่หลวงต่อมติมหาชนของไทย หลายฝ่ายเกรงว่าประเทศไทยจะเป็นเป้าหมายต่อไปของคอมมิวนิสต์ และรู้สึกว่า นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายกำลังช่วยเหลือข้าศึก[7] ในเดือนสิงหาคม ตำรวจอาละวาดผ่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการฝึกซ้อมการสังหารหมู่ในภายหลัง[8] รัฐประหารเป็นไปไม่ได้ตราบเท่าที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชยังได้รับการหนุนหลังจากพลเอก บุญชัย บำรุงพงศ์ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้อยู่ในอุปถัมภ์ของพลเอก กฤษณ์ สีวะรา ซึ่งเป็นวีรบุรุษที่ได้รับความนิยมจากบทบาทของเขาในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

เดือนมกราคม 2519 เป็นเดือนแห่งกลียุค การนัดหยุดงานและการชุมนุมขนาดใหญ่ซึ่งเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีขาดเสียงข้างมากในสภา ชวนให้นายทหารที่เคยถือรัฐธรรมนูญนิยมหลายคนมองว่า รัฐประหารอาจจำเป็นเพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพ ราคาข้าวที่สูงขึ้นเป็นชนวนการนัดหยุดงานทั่วไป หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชยอมตามข้อเรียกร้องของสหภาพ ทำให้ฝ่ายขวาเดือดดาล การชุมนุมจำนวน 15,000 คน ซึ่งจัดโดยกลุ่มกึ่งทหารนวพล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร เรียกร้องให้หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชมอบอำนาจคืนแก่ทหาร[9] การชุมนุมดังกล่าวนำโดยพระกิตติวุฒโฑ พระภิกษุเจ้าของวาทะ "ฆ่าคอมมิวนิสต์ ไม่บาป" กลุ่มสมาชิกรัฐสภาเสรีนิยมจากพรรคประชาธิปัตย์แตกกับรัฐบาลผสมและเข้ากับฝ่ายค้านซึ่งเป็นฝ่ายซ้าย[10] พลเอก บุญชัย บำรุงพงศ์ คัดค้านความคิดรัฐบาลผสมเอียงซ้าย ซึ่งบีบให้หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดการเลือกตั้งใหม่กำหนดมีขึ้นวันที่ 4 เมษายน[10] ซึ่งกระชั้นเกินไปแม้สำหรับนายทหารสายกลาง ตัวอย่างรัฐบาลผสมเอียงซ้ายของลาวที่พ่ายต่อคอมมิวนิสต์ยังสดใหม่ พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จึงยื่นแผนรัฐประหาร[11]

ตรงข้ามกับพรรคพวกของพลเอก กฤษณ์ สีวะรา, พลเรือเอก สงัด ชลออยู่, กลุ่มของพลตรี ประมาณ อดิเรกสาร รวมเอาผู้คบคิดซึ่งไม่เคยยอมรับการปกครองแบบรัฐสภาหรือผู้ปลดจอมพล ถนอม กิตติขจร อันได้แก่ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายขวา พรรคชาติไทย และนายทหารแห่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) อย่างสมบูรณ์ แผนสมคบรัฐประหารทั้งสองจะดำเนินเป็นเอกเทศต่อกันในช่วงอีกไม่กี่เดือนต่อมา อันเป็นการกำเนิดใหม่ของการแบ่งฝ่ายในกองทัพระหว่างพลเอก กฤษณ์ สีวะรากับจอมพล ถนอม กิตติขจร ในปี 2516

พรรคชาติไทยของพลตรี ประมาณ อดิเรกสาร ใช้คำขวัญ "ขวาพิฆาตซ้าย" ลงเลือกตั้งในเดือนเมษายน[12] มีการฆ่าคน 30 ครั้งที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งนี้[8] พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากทั้งพลเอก กฤษณ์ สีวะรา และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐคว้าที่นั่งในสภาได้ถึงร้อยละ 40 ทำให้หัวหน้าพรรค หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช กลับเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย[13] พรรคกิจสังคมของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชกลับเป็นฝ่ายค้าน ขณะที่พรรคฝ่ายซ้ายแทบไม่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเลย[14] พลเอกกฤษณ์เสียชีวิตอย่างไม่คาดฝันด้วยอาการหัวใจล้มเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2519 เพียงหนึ่งสัปดาห์หลังได้รับเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม[15] และผู้ที่รับตำแหน่งแทน คือ พลเอก ทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา สมาชิกพรรคพวกของพลตรีประมาณ เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะเลือกผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่เมื่อพลเอก บุญชัย บำรุงพงศ์ เกษียณในอีกห้าเดือนข้างหน้า ตำแหน่งนี้จึงสำคัญมาก ในเดือนสิงหาคม พลเอก ทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา จัดการให้จอมพล ประภาส จารุเสถียร เดินทางกลับประเทศไทยช่วงสั้น ๆ เพื่อทดสอบมติมหาชน[16] โดยอาศัยปฏิกิริยาดังกล่าว พลตรีประมาณตัดสินใจนำจอมพลถนอม กิตติขจรกลับประเทศไทยด้วยหวังจุดชนวนการเดินขบวนประท้วงซึ่งอาจใช้เป็นข้ออ้างรัฐประหารได้[16] หม่อมราชวงศ์เสนีย์พยายามดักการคบคิดเพิ่มเติมโดยถอดพลเอก ทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา จากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สมัคร สุนทรเวช และสมบุญ ศิริธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้คบคิดรัฐประหาร วิจารณ์หม่อมราชวงศ์เสนีย์อย่างรุนแรงในการเคลื่อนไหวนี้โดยการระเบิดอารมณ์ขัดระเบียบการของรัฐสภา[17][18] นำมาสู่การปลดทั้งสองในวันที่ 23 กันยายน 2519

กลุ่มที่เกี่ยวข้อง

ด้วยมุมมองนักศึกษาเป็นฝ่ายสืบรับอุดมการณ์สังคมนิยม ชนชั้นปกครองไทยจึงดำเนินการทางลับเพื่อบ่อนทำลายขบวนการนิสิตนักศึกษา โดยสลายฝ่ายนักเรียนอาชีวศึกษาออกมา แล้วจัดตั้งเป็นกลุ่มพลังต่าง ๆ เช่น กระทิงแดง นวพล ค้างคาวไทย เป็นต้น[19] โดยมุ่งตั้งตนเป็นปรปักษ์กับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย มีการยกกำลังเข้าทำร้ายนักศึกษาและทำลายสถานที่ถึงภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลายครั้ง ในเวลาไล่เลี่ยกัน ยังมีการจัดตั้งกลุ่มพลังอื่น ๆ เช่น ชมรมแม่บ้าน นำโดย วิมล เจียมเจริญ นามปากกา "ทมยันตี" หรือลูกเสือชาวบ้าน เป็นต้น โดยมีชมรมวิทยุเสรี เป็นสื่อกลางชี้นำกลุ่มพลังเหล่านี้ ซึ่งสถานีวิทยุยานเกราะอันเป็นเครือข่ายของกองทัพบกเป็นแม่ข่าย และผู้จัดรายการคือ พันโท อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, อาคม มกรานนท์, วิมล เจียมเจริญ, สมัคร สุนทรเวช, อุทิศ นาคสวัสดิ์ , ประหยัด ศ. นาคะนาท , ส่งสุข ภัคเกษม , สมบุญ ศิริธร , ดุสิต ศิริวรรณ เป็นต้น นอกจากนี้คือ พ.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร และ ดร. สมชัย รักวิจิตร ผู้เขียนหนังสือต่อต้านคอมมิวนิสต์ให้ กอ.รมน. เป็นต้น บุคคลเหล่านี้หลายคน ต่อมาได้มีบทบาทสำคัญในรัฐบาลคณะปฏิรูป

กลุ่มทหารอาสาสมัครฝ่ายขวาหลายกลุ่มมีบทบาทสำคัญเป็นผู้ก่อการสังหารหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตำรวจตระเวนชายแดนติดอาวุธและฝึกกลุ่มเหล่านี้เมื่อปลายปี 2517 เพื่อเตรียมการปราบปรามรุนแรง พอล แฮนด์ลีย์ ผู้ประพันธ์ เดอะคิงเนเวอร์สไมส์ อธิบายสถานการณ์นั้นว่าเป็น "ลัทธิศาลเตี้ยเกี่ยวกับเจ้า" (royal vigilantism)[20] ใจ อึ๊งภากรณ์ นักเขียนมาร์กซิสต์ เปรียบเทียบกลุ่มเหล่านี้กับกลุ่มกึ่งทหารฟาสซิสต์ในยุโรปช่วงทศวรรษ 1930[16]

ขบวนการนวพลก่อตั้งขึ้นในปี 2517 โดย วัฒนา เขียววิมล และใช้คำขวัญว่า "ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์"[21] ชื่อนี้ยังหมายถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช[22] กลุ่มลับนี้มีสมาชิกราว 50,000 คนราวกลางปี 2518 โดยมีพลโท สำราญ แพทยกุล เป็นสมาชิกคนแรก[8] กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรให้ความช่วยเหลือทางทหารอย่างลับ ๆ และดำเนินการฝึกซ้อมอย่างทหารขั้นก้าวหน้าแก่สมาชิกที่วิทยาลัยจิตตภาวัน โรงเรียนสอนศาสนาพุทธในจังหวัดชลบุรี ซึ่งก่อตั้งโดยพระภิกษุฝ่ายขวา พระกิตติวุฒโฑ[22] กล่าวกันว่า การฝึกนี้รวมการฝึกการลอบสังหารด้วย และคาดว่าการฆ่านักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายจำนวนหนึ่งเป็นฝีมือของขบวนการนวพล[23] ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหาร ยังเป็นสมาชิกอาวุโสของกลุ่มนี้ด้วย[11]

ขบวนการกระทิงแดงก่อตั้งขึ้นในปี 2517 โดย พันเอก (พิเศษ) สุตสาย หัสดิน นายทหารกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร[24] กลางปี 2518 กลุ่มนี้มีสมาชิก 25,000 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาอาชีวะ ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในการเดินขบวนประท้วงจอมพลถนอม[8] ขบวนการกระทิงแดงเป็นกองเยาวชนของขบวนการนวพล[25] สีแดงเป็นสีของธงชาติไทยเดิม และถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความรักชาติในธงชาติปัจจุบัน กลุ่มประกาศว่าคำขวัญคือ "แนวร่วมต่อต้านจักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์"[25] คล้ายกับเอสเอในประเทศเยอรมนีช่วงทศวรรษ 1930 สมาชิกขบวนการกระทิงแดงปลุกปั่นการต่อสู้ระหว่างนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายกับสหภาพแรงงาน[6] ในเดือนกุมภาพันธ์ 2519 ขบวนการกระทิงแดงโยนระเบิดใส่การประท้วงฝ่ายซ้าย เป็นเหตุให้มีนักศึกษาเสียชีวิต 4 คน[15] พระมหากษัตริย์ทรงเคยทดสอบยิงอาวุธของขบวนการกระทิงแดงครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีเผยแพร่กว้างขวาง[26]

ลูกเสือชาวบ้าน (หรือ กองอาสารักษาดินแดน) ก่อตั้งขึ้นในปี 2497 เพื่อจัดการรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย ตลอดจนการสนองต่อเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติธรรมชาติ ได้รับการขยายในปี 2517 เมื่อกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเข้าควบคุมลูกเสือชาวบ้าน[27] มีการขยายเข้าไปในเขตเมืองเพื่อตอบโต้การเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายซ้าย[28] พระบรมวงศานุวงศ์ (มักเป็นพระราชินี) เป็นผู้พระราชทานผ้าพันคอแก่ลูกเสือชาวบ้าน[28] ณ จุดหนึ่ง ผู้ใหญ่ถึง 1 ใน 5 เคยเป็นสมาชิกลูกเสือชาวบ้าน[16]

แอนเดอร์สันยังชี้เหตุที่ชนชั้นกลางเปลี่ยนจากสนับสนุนประชาธิปไตยมาสนับสนุนเผด็จการและความรุนแรง ดังนี้[29]

  1. เกิดวิกฤตเศรษฐกิจราคาน้ำมันทั่วโลกเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2516 ทำให้ประเทศไทยพลอยประสบปัญหาเศรษฐกิจไปด้วย
  2. รัฐบาลคอมมิวนิสต์เถลิงอำนาจในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ
  3. กรรมกร ชาวนา และนักศึกษาประท้วงและนัดหยุดงานบ่อย เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำสะสม
  4. นักศึกษาที่เรียนจบตกงานเป็นอันมาก ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือต่อสู้กับนิสิตนักศึกษาได้ง่ายขึ้น

เมื่อผู้เดินขบวนฝ่ายซ้ายยึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ องค์การหลักที่ประสานกิจกรรม คือ ศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยและสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงาน (Federation of Trade Unions)[25]

เหตุการณ์ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2519

ราวกลางปี 2519 มีข่าวว่าจอมพล ประภาส จารุเสถียร จะเดินทางกลับประเทศไทยโดยเครื่องบินจากสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ฝ่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดการชุมนุมต่อต้าน จอมพลประภาสกลับประเทศในวันที่ 21 สิงหาคม โดยอ้างว่า ต้องการกลับประเทศในฐานะคนแก่คนหนึ่งเท่านั้น กลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษายกกำลังเข้าปะทะกับกลุ่มนักศึกษาถึงที่ชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนมีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บอีก 60 คน วันต่อมา จอมพลประภาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แล้วเดินทางกลับ[30]

สมัคร สุนทรเวช พระสหายที่พระราชินีไว้วางพระทัย บินไปยังประเทศสิงคโปร์และบอกแก่จอมพลถนอมว่า พระราชวังอนุญาตให้เขาเดินทางกลับประเทศไทย[31] เมื่อวันที่ 7 กันยายน มีการอภิปรายในหัวข้อ "ทำไมจอมพล ถนอม จะกลับมา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อภิปรายหลายคนสรุปว่า ส่วนหนึ่งเป็นแผนการที่วางไว้เพื่อวางแผนรัฐประหาร[32] เมื่อจอมพลถนอมเดินทางกลับในวันที่ 19 กันยายน เขาปฏิเสธแรงจูงใจทางการเมือง และกล่าวว่า มาประเทศไทยเพื่อสำนึกความผิดที่เตียงบิดาผู้เสียชีวิตเท่านั้น[33] เขาอุปสมบทเป็นภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นวัดซึ่งสัมพันธ์กับราชวงศ์จักรีอย่างใกล้ชิด[31] พิธีการถูกปิดอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อเลี่ยงการคัดค้านการบวชและกลุ่มกระทิงแดงล้อมวัดไว้[31] จากนั้นมีวิทยุยานเกราะตักเตือนมิให้นักศึกษาก่อความวุ่นวาย มิฉะนั้นอาจต้องมีการประหารชีวิตสัก 30,000 คนเพื่อให้บ้านเมืองรอดปลอดภัย[32] มีการคัดค้านสถานะภิกษุของจอมพลถนอม แม้แต่สมเด็จพระสังฆราชก็ยอมรับว่าการบวชไม่ถูกต้อง[32] วันที่ 23 กันยายน หม่อมราชวงศ์เสนีย์ไม่อาจจัดการอะไรได้ จึงขอลาออก และเมื่อเวลา 21.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีนาถเสด็จไปวัดบวรนิเวศ ระหว่างการเยือน คุณหญิง เกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นางสนองพระโอษฐ์สมเด็จพระราชินีนาถ แถลงว่า สมเด็จพระราชินีทราบว่าจะมีคนมาเผาวัด "ขอให้ประชาชนช่วยกันดูแลป้องกัน อย่าให้ผู้ใจร้ายมาทำลายวัด"[34] วันที่ 24 กันยายน 2519 สมัครแถลงว่า "การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จวัดบวรนิเวศกลางดึกแสดงให้เห็นว่า พระองค์ต้องการให้พระถนอมอยู่ในประเทศต่อไป" และเมื่อวันที่ 26 กันยายน พระกิตติวุฒโทแถลงย้ำว่า "การบวชของพระถนอมครั้งนี้ได้กราบบังคมทูลขออนุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งขอเข้ามาในเมืองไทยด้วย ดังนั้นพระถนอมจึงเป็นผู้บริสุทธิ์"[35]

นักศึกษาประท้วงการกลับของจอมพลถนอมที่สนามหลวงในวันที่ 30 กันยายน แต่ไม่นานการประท้วงย้ายไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ใกล้เคียงแทน มหาวิทยาลัยยกเลิกการสอบและปิดวิทยาเขต ด้วยหวังไม่ให้เกิดเหตุตำรวจอาละวาดซ้ำรอยเมื่อปีกลาย ทว่า ผู้เดินขบวนพังประตูเข้าไปยึดวิทยาเขตและยึดพื้นที่ประท้วง[33] สหภาพแรงงานสี่สิบสามแห่งเรียกร้องให้รัฐบาลเนรเทศจอมพลถนอมมิฉะนั้นจะนัดหยุดงานทั่วไป[33] การประท้วงคราวนี้ยิ่งกว่าคราวที่จอมพลประภาสกลับมาเสียอีก ส่วนฝ่ายรัฐบาลเห็นควรยับยั้งไว้ โดยมอบหมายให้ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์และดำรง ลัทธพิพัฒน์เป็นผู้แทนเจรจา แต่ก็ไม่เป็นผล ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นส่วนตัวว่า ตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญปี 2517 รัฐบาลไม่อาจห้ามบุคคลสัญชาติไทยกลับประเทศได้[36] ในวันที่ 1 ตุลาคม ฝ่ายขวารวมกันออกแถลงการณ์ว่า "ได้ปรากฏแน่ชัดแล้วว่า ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย นักศึกษา สภาแรงงานแห่งประเทศไทยและนักการเมืองฝ่ายซ้ายถือเอาพระถนอมมาเป็นเงื่อนไขสร้างความไม่สงบขึ้นภายในประเทศชาติถึงขั้นจะก่อวินาศกรรมทำลายวัดบวรนิเวศวิหาร และล้มล้างรัฐบาล เรื่องนี้กลุ่มต่าง ๆ ดังกล่าวประชุมลงมติว่า จะร่วมกันปกป้องวัดบวรนิเวศทุกวิถีทางตามพระราชเสาวนีย์"[35]

ทว่าในระยะแรก การชุมนุมของฝ่ายนิสิตนักศึกษาที่ลานโพ หน้าอาคารคณะศิลปศาสตร์ มีประชาชนทั่วไปเข้าร่วมไม่มากเมื่อเทียบกับเมื่อครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา แม้จะมีกิจกรรมแสดงละครล้อการเมืองเพื่อเรียกความสนใจให้ผู้เข้าร่วมชุมนุม กิจกรรมต่อต้านหนึ่งของนิสิตนักศึกษาคือการปิดโปสเตอร์แสดงจุดยืนและเชิญชวนให้เข้าร่วมการชุมนุมทั่วกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดทั่วประเทศ เป็นเหตุให้นักศึกษาและแนวร่วมซึ่งออกปิดโปสเตอร์ดังกล่าวถูกลอบทำร้ายบาดเจ็บหลายครั้ง จนเกิดคดีพนักงานการไฟฟ้า 2 คน ซึ่งร่วมปิดโปสเตอร์ประท้วงที่ตำบลพระประโทน จังหวัดนครปฐม ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตแล้วนำศพไปแขวนคอไว้หน้าประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรแห่งหนึ่ง แต่ตำรวจไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้[36]

การแสดงละครล้อกรณีฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้านครปฐม เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2519

ช่วงบ่ายวันที่ 4 ตุลาคม ชมรมศิลปการแสดงของธรรมศาสตร์จัดแสดงละครรำลึกถึงเหตุการฆ่าคนดังกล่าวที่ลานโพ แล้วในช่วงบ่ายเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ที่ท้องสนามหลวง ก่อนย้ายเข้าสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ในช่วงค่ำ[30] วันรุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์กรุงเทพมหานครสองฉบับ ได้แก่ บางกอกโพสต์ และ ดาวสยาม ลงภาพการแสดงล้อการแขวนคอโดยผู้เดินขบวนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากนักศึกษาที่แสดงเป็นเหยื่อมีใบหน้าคล้ายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ผู้ประท้วงจึงถูกกล่าวหาว่าแขวนคอรูปจำลองพระบรมวงศานุวงศ์ บางครั้งมีการอ้างว่า ภาพถ่ายนี้ถูกตกแต่งขึ้นให้นักศึกษาคนดังกล่าวดูเหมือนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร แต่สำเนาทุกฉบับที่ยังเหลืออยู่เป็นภาพเดียวกัน[16] จากนั้น สถานีวิทยุยานเกราะของกองทัพบก นำโดย พันโท อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุทธยา กล่าวหาว่า นักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และประกาศให้ "ฆ่ามัน" และ "ฆ่าพวกคอมมิวนิสต์"[37] จนถึงวันที่ 5 ตุลาคม มีการชุมนุมประท้วงในอีกหลายจังหวัด เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสงขลา เป็นต้น[38] เย็นนั้น มีกำลังกึ่งทหารนิยมเจ้า 4,000 คนอยู่บริเวณประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[37] ขณะที่มีนักศึกษาอยู่ภายในราว 2,000 คน[8] ค่ำวันเดียวกัน ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) นำวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ และอภินันท์ บัวหภักดี ผู้แสดงเป็นศพผู้ถูกแขวนคอ มาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน[30]

ด้านหม่อมราชวงศ์เสนีย์ นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเป็นการด่วนที่บ้านพัก โดยที่ประชุมลงความเห็นว่าควรมีประกาศอย่างเป็นทางการของสำนักนายกรัฐมนตรีถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และนายกรัฐมนตรีควรออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ แต่เมื่อถึงเวลากลับมีไทยทีวีสีช่อง 9 ออกอากาศเพียงสถานีเดียวเท่านั้น ส่วนไทยทีวีสีช่อง 3, กองทัพบกช่อง 5 และกองทัพบกช่อง 7 ไม่สามารถติดต่อได้ เพราะดึกแล้ว[36]

ใกล้เคียง

เหตุการณ์ 6 ตุลา เหตุการณ์ 14 ตุลา เหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2563 เหตุการณ์การสูญพันธุ์ยุคเพอร์เมียน–ไทรแอสซิก เหตุการณ์พายุหมุนนาร์กิส พ.ศ. 2551 เหตุการณ์รถตู้สาธารณะถูกชนบนทางยกระดับอุตราภิมุข พ.ศ. 2553 เหตุกราดยิงที่สยามพารากอน เหตุการณ์ นปช. ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ 2 กันยายน พ.ศ. 2551 เหตุการณ์ทุจริตการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2544 เหตุการณ์โกก้าง

แหล่งที่มา

WikiPedia: เหตุการณ์_6_ตุลา http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2007/08/2... http://bangkokpundit.blogspot.com/2007/08/samak-su... http://jotman.blogspot.com/2008/02/6-october-1976-... http://somsakwork.blogspot.com/2006/10/6.html http://somsakwork.blogspot.com/2007/11/2518-2519.h... http://edition.cnn.com/2008/WORLD/asiapcf/02/18/ta... http://www.scribd.com/doc/35147971/Bulletin-of-Con... http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,9... http://www.youtube.com/watch?v=sb_Zz0JzShU http://data3.blog.de/media/661/2347661_35e0d731fd_...