ภูมิหลังเหตุการณ์ ของ เหตุโจมตีโครคุสซีตีฮอลล์

รัสเซียเป็นเป้าหมายของการก่อการร้ายใหญ่มาตั้งแต่อดีต ได้แก่ เหตุระเบิดหลายครั้งที่ตึกอพาร์ตเมนต์ในกรุงมอสโกเมื่อปี ค.ศ. 1999 วิกฤตการณ์ตัวประกันโรงละครในกรุงมอสโกเมื่อปี 2002 และการปิดล้อมโรงเรียนในเบสลันเมื่อปี 2004[23][24] หลังจากนั้นหลายปีในเดือนตุลาคม 2015 กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (IS) ได้ยิงเครื่องบินโดยสารของรัสเซียตกเหนืออียิปต์ ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือ 224 คนบนเครื่องทั้งหมดเสียชีวิต[23] กลุ่มรัฐอิสลามได้ก่อการโจมตีขนาดใหญ่อย่างเป็นระบบต่อสถานที่จัดแสดงดนตรีทั่วยุโรปมาตั้งแต่ปี 2010 เช่นการโจมตีระหว่างคอนเสิร์ตร็อคในโรงมหรสพบาตากล็องในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2015 และการวางระเบิดที่เกิดขึ้นหลังจบการแสดงดนตรีป๊อปในแมนเชสเตอร์อะรีนา ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2017 กลุ่มรัฐอิสลามยังได้ก่อเหตุระเบิดสถานทูตรัสเซียในกรุงคาบูล เมื่อปี 2022[25]

หลังจากที่เหตุการณ์ค่อนข้างเงียบสงบมาหลายปี กลุ่มรัฐอิสลามได้พยายามเพิ่มการโจมตีนอกพื้นที่อีกครั้ง[5] วันที่ 3 มกราคม 2024 กลุ่มรัฐอิสลามสาขาแคว้นฮอราซัน (IS–KP) ได้ก่อเหตุระเบิดในอิหร่าน คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 103 คน โดยก่อนหน้านี้สหรัฐได้เตือนอิหร่านถึงการโจมตีที่อาจเกิดขึ้น[5] คอลิน คลาร์ก คลังสมองจากองค์การอิสระศูนย์ Soufan กล่าวว่ากลุ่ม IS–KP "จับจ้องไปยังรัสเซียในช่วงสองปีที่ผ่านมา และมักวิพากษ์วิจารณ์ปูตินในโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มตน"[23] นอกจากนี้ กลุ่มรัฐอิสลามยังเคยเป็นเป้าหมายของรัสเซียในช่วงที่รัสเซียแทรกแซงในสงครามกลางเมืองซีเรียและสนับสนุนรัฐบาลบัชชาร อัลอะซัด อดีตประธานาธิบดีซีเรีย[26]

วันที่ 7 มีนาคม 2024 หน่วยความมั่นคงกลางแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (FSB) แถลงว่าได้ปราบกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มหนึ่งในมอสโกที่เชื่อมโยงกับ IS และได้วางแผนการโจมตีโบสถ์ยิวแห่งหนึ่งในเมือง[27] ถัดมาอีกไม่กี่ชั่วโมง สถานทูตสหรัฐประจำกรุงมอสโกได้ออกคำเตือนว่า "กลุ่มหัวรุนแรงมีแผนมุ่งเป้าไปที่การชุมนุมใหญ่ในมอสโก รวมถึงคอนเสิร์ต" และแนะนำให้พลเมืองสหรัฐ "หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนรวมตัวเป็นจำนวนมากในช่วง 48 ชั่วโมงข้างหน้า"[28][29] ในวันนั้นเอง สหรัฐยังได้เตือนเจ้าหน้าที่รัสเซียเป็นการส่วนตัวถึงอันตรายจากการโจมตีที่กำลังจะเกิดขึ้นจากกลุ่ม IS-KP จากข่าวกรองที่รวบรวมมาเมื่อต้นเดือนมีนาคม ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อกำหนด "หน้าที่ในการเตือน" (duty to warn) ของชุมชนข่าวกรองสหรัฐ[5]

ต่อมาในวันที่ 19 มีนาคม ปูตินออกมากล่าวว่าคำเตือนของสถานทูตสหรัฐ "มีลักษณะคล้ายกับการแบล็กเมล์อย่างโจ่งแจ้งและคล้ายกับตั้งใจข่มขวัญและสั่นคลอนเสถียรภาพทางสังคมของพวกเรา"[30][29][31] ก่อนหน้านี้ในปี 2017 และ 2019 ปูตินเคยขอบคุณสหรัฐและซีไอเอที่ได้ให้คำเตือนที่ทำให้สามารถระงับเหตุก่อการร้ายในรัสเซียได้[32][33] เจ้าหน้าที่สหรัฐยืนยันกับ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ว่าการโจมตีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับคำเตือนของสหรัฐก่อนหน้านี้[29] และยังระบุด้วยว่ารายงานข่าวกรองที่มีพื้นฐานมาจากคำเตือนนั้นได้มีการส่งต่อให้เจ้าหน้าที่รัสเซียก่อนเกิดการโจมตี[23]

ใกล้เคียง

เหตุโจมตีในนอร์เวย์ พ.ศ. 2554 เหตุโจรกรรมร้านทองในจังหวัดลพบุรี พ.ศ. 2563 เหตุโจมตีในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย พ.ศ. 2566 เหตุโจมตีทางอากาศใส่โรงพยาบาลในมารีอูปอล เหตุโจมตีคณะผู้แทนทางทูต พ.ศ. 2555 เหตุโจมตีทางอากาศใส่โรงละครในมารีอูปอล เหตุโจมตีสถานีรถไฟกรามาตอสก์ เหตุโจมตีโครคุสซีตีฮอลล์ เหตุโจมตีในปารีส เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เหตุโจมตีโดยอิหร่านในประเทศอิสราเอล พ.ศ. 2567

แหล่งที่มา

WikiPedia: เหตุโจมตีโครคุสซีตีฮอลล์ https://www.news18.com/world/death-toll-rises-to-1... https://www.theguardian.com/world/live/2024/mar/22... https://www.theguardian.com/world/live/2024/mar/23... https://www.theguardian.com/world/live/2024/mar/22... https://web.archive.org/web/20240322224929/https:/... https://web.archive.org/web/20240323002328/https:/... https://web.archive.org/web/20240323082341/http://... https://web.archive.org/web/20240322182124/https:/... https://web.archive.org/web/20240322192305/https:/... https://web.archive.org/web/20240323022237/https:/...