ประวัติ ของ เอนเซลาดัส

วิลเลียม เฮอร์เชล ผู้ค้นพบดวงจันทร์เอนเซลาดัส

การค้นพบ

เอนเซลาดัสถูกค้นพบโดยนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษเชื้อสายเยอรมันนาม วิลเลียม เฮอร์เชล เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1789 (พ.ศ. 2332) นับเป็นดวงจันทร์ของดาวเสาร์ดวงที่ 6 ที่ถูกค้นพบ และเป็นดวงจันทร์ในระบบสุริยะดวงที่ 12 ที่ถูกค้นพบ เฮอร์เชลค้นพบโดยการใช้กล้องโทรทรรศน์ตัวใหม่ขนาด 1.2 เมตรของเขา ซึ่งเป็นกล้องที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น[7][8] เนื่องจากเอนเซลาดัสมีค่าโชติมาตรปรากฏสูงถึง +11.7 (ยิ่งค่ามากยิ่งสว่างน้อย) ประกอบกับถูกแสงสว่างกว่าจากดาวเสาร์และวงแหวนบดบัง ทำให้ยากต่อการสังเกตจากภาคพื้นโลก ซึ่งกล้องโทรทรรศน์ที่จะสามารถสังเกตเห็นได้ต้องมีกระจกรัศมีระหว่าง 15–30 เซนติเมตร และยังขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและมลภาวะทางแสงในขณะนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการสำรวจและค้นพบวัตถุบนท้องฟ้าก่อนยุคอวกาศ อันเป็นยุคที่มีกล้องโทรทรรศน์ลอยอยู่ในอวกาศปราศจากการรบกวนของชั้นบรรยากาศโลก เอนเซลาดัสถูกค้นพบครั้งแรกในขณะที่ดาวเสาร์กำลังอยู่ในช่วงวิษุวัต ซึ่งโลกอยู่ในระนาบเดียวกันกับวงแหวนของดาวเสาร์ ทำให้แสงรบกวนจากวงแหวนลดน้อยลงจนสามารถสังเกตดวงจันทร์ได้ง่ายขึ้น นับตั้งแต่สมัยที่เฮอร์เชลค้นพบเอนเซลาดัสจนถึงก่อนการสำรวจของยานวอยเอจเจอร์ มนุษย์รู้จักดวงจันทร์ดวงนี้เพียงแค่ลักษณะการโคจร ค่าประมาณของมวล ความหนาแน่น และอัตราส่วนสะท้อนของมันเท่านั้น

การตั้งชื่อ

ชื่อของดวงจันทร์ดวงนี้ตั้งตามยักษ์ในเทพปกรณัมกรีกชื่อว่า เอนเซลาดัส (Enceladus หรือ Enkelados, Ἐγκέλαδος) ที่ จอห์น เฮอร์เชล ลูกชายของวิลเลียม ได้เสนอไว้ในหนังสือ Results of Astronomical Observations made at the Cape of Good Hope[9] ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1847 (พ.ศ. 2390) โดยกำหนดให้ชื่อดวงจันทร์ของดาวเสาร์เกี่ยวข้องกับเทพไททัน เนื่องจากชื่อของดาวเสาร์ (แซทเทิร์น) ในตำนานกรีกเปรียบได้กับเทพโครเนิส ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดของฝ่ายไททัน

ส่วนลักษณะทางกายภาพต่าง ๆ ที่ปรากฏบนดวงจันทร์เอนเซลาดัสถูกตั้งชื่อโดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) โดยกำหนดให้ใช้ชื่อจากตัวละครและสถานที่ในเรื่อง "อาหรับราตรี"[10] โดยหลุมอุกกาบาตจะถูกตั้งจากชื่อตัวละคร ส่วนลักษณะทางกายภาพอื่น ๆ จะถูกตั้งตามชื่อสถานที่ ปัจจุบัน สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลกำหนดชื่อสถานที่อย่างเป็นทางการแล้ว 57 แห่ง โดยตั้งชื่อเมื่อปี ค.ศ. 1982 จำนวน 22 แห่ง ตามผลการสำรวจของยานวอยเอจเจอร์ และเพิ่มเติมอีก 35 แห่งในปี ค.ศ. 2006 จากผลการสำรวจของยานแคสซีนีในปี ค.ศ. 2005[11]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เอนเซลาดัส http://www.astronews.com/news/artikel/2013/08/1308... http://www.bbc.com/news/science-environment-268721... http://www.cosmovisions.com/SaturneChrono02.htm http://www.dailygalaxy.com/my_weblog/2011/06/satur... http://online.liebertpub.com/doi/full/10.1089/ast.... http://www.nature.com/nature/journal/v460/n7254/fu... http://www.nature.com/news/2011/110531/full/news.2... http://www.space.com/5179-seeds-life-saturn.html http://www.spacedaily.com/reports/Tour_de_Saturn_S... http://adsabs.harvard.edu//full/seri/MNRAS/0008//0...