ลักษณะการโคจร ของ เอนเซลาดัส

วงโคจรของเอนเซลาดัสแสดงเป็นเส้นสีแดง เมื่อมองจากขั้วเหนือของดาวเสาร์ (โปรแกรมเซเลสเทีย)

เอนเซลาดัสเป็นดวงจันทร์ชั้นในขนาดใหญ่ดวงหนึ่งของดาวเสาร์ หากเรียงดวงจันทร์ตามระยะห่างจากดาวเสาร์ เอนเซลาดัสจะอยู่ในลำดับที่ 14 ดวงจันทร์ดวงนี้ยังมีวงโคจรอยู่ในส่วนที่หนาแน่นที่สุดของวงแหวนอี อันเป็นวงแหวนชั้นนอกสุดของดาวเสาร์ ที่มีขนาดกว้างมาก แต่อนุภาคน้ำแข็งและวัสดุคล้ายฝุ่นอันเป็นองค์ประกอบของวงแหวนนี้ก็กระจายมากเช่นกัน อาณาเขตของวงแหวนอีเริ่มต้นประมาณวงโคจรของดวงจันทร์ไมมัส และสิ้นสุดที่ประมาณวงโคจรของเรีย

เอนเซลาดัสตั้งอยู่ระหว่างดวงจันทร์ไมมัสและทีทิส ห่างจากศูนย์กลางดาวเสาร์ (กึ่งแกนเอก) 238,000 กิโลเมตร และห่างจากยอดเมฆ (cloudtop) ของดาวเสาร์ 180,000 กิโลเมตร หมุนรอบดาวเสาร์หนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 32.9 ชั่วโมง เร็วพอที่จะสังเกตได้ตลอดทั้งคืน ปัจจุบันเอนเซลาดัสมีค่าการสั่นพ้องของวงโคจรเฉลี่ย 2:1 เมื่อเทียบกับไดโอนี นั่นหมายถึงเมื่อเอนเซลาดัสโคจรรอบดาวเสาร์ครบ 2 รอบ ไดโอนีจะโคจรรอบดาวเสาร์ได้ครบ 1 รอบพอดี การสั่นพ้องนี้ช่วยรักษาความเยื้องศูนย์กลางของวงโคจรของเอนเซลาดัสให้คงที่ และยังเป็นแหล่งกำเนิดความร้อนให้กับปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาบนดวงจันทร์ดวงนี้อีกด้วย[23]

เช่นเดียวกับดวงจันทร์ของดาวเสาร์ดวงอื่นที่ใหญ่กว่า เอนเซลาดัสใช้เวลาหมุนรอบตัวเองครบหนึ่งรอบเท่ากับหมุนรอบดาวเสาร์ครบหนึ่งรอบ ทำให้มีเพียงด้านเดียวที่หันเข้าดาวเสาร์ตลอดเวลา คล้ายกับดวงจันทร์ของโลก แต่เอนเซลาดัสต่างกับดวงจันทร์ของโลกที่ เอนเซลาดัสไม่ปรากฏการเกิดไลเบรชัน (การแกว่งของดาว) อย่างไรก็ตาม ผลจากการวิเคราะห์รูปร่างของเอนเซลาดัสทำให้ทราบว่าดวงจันทร์ดวงนี้อาจเกิดการแกว่งขนาดเล็กได้ในบางช่วง[23] มีการคาดการณ์ว่าการแกว่งนี้อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดแหล่งความร้อนภายในเอนเซลาดัส เช่นเดียวกับผลจากการสั่นพ้องของวงโคจร

ปฏิสัมพันธ์กับวงแหวนอี

วงแหวนอี (E-ring) ของดาวเสาร์เป็นวงแหวนที่อยู่นอกสุดและกว้างที่สุด แต่อนุภาคที่เป็นองค์ประกอบอยู่กระจายกันมาก มีขอบเขตตั้งแต่ดวงจันทร์ไมมัสออกไปจนถึงเรีย และอาจไปถึงไททัน ซึ่งจะทำให้วงแหวนนี้กว้างถึง 1,000,000 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม แบบจำลองทางคณิตศาสตร์แสดงให้เห็นว่าวงแหวนวงนี้ไม่เสถียร ด้วยอายุขัยระหว่าง 10,000 ถึง 1,000,000 ปี ดังนั้นการที่วงแหวนอยู่มาจนถึงปัจจุบันได้จะต้องมีอนุภาคเข้ามาแทนที่ส่วนที่สูญเสียไปในทันที ซึ่งเอนเซลาดัสมีวงโคจรอยู่ในวงแหวนนี้ ทั้งยังตั้งอยู่ในส่วนที่บางที่สุดแต่หนาแน่นที่สุด ทำให้มีการตั้งสมมติฐานว่าเอนเซลาดัสอาจเป็นแหล่งกำเนิดของวงแหวนอี ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากการผลสำรวจของยานแคสซีนี

อย่างไรก็ตามการเกิดและส่งเสริมวงแหวนอี มีอยู่ 2 กลไกที่ไม่เกี่ยวข้องกันเท่าใดนัก[24] กลไกแรก ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเป็นกลไกที่สำคัญที่สุด อธิบายว่า แหล่งกำเนิดอนุภาคมาจากการปะทุของภูเขาไฟน้ำแข็ง (cryovolcano) ที่ตั้งอยู่ทางขั้วใต้ของเอนเซลาดัส โดยที่อนุภาคส่วนใหญ่ตกกลับสู่พื้นผิวดาว แต่ก็จะมีบางส่วนที่หลุดพ้นแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์แล้วออกสู่อวกาศ เคลื่อนที่เป็นวงโคจรรอบดาวเสาร์ ซึ่งเป็นไปได้เนื่องจากค่าความเร็วหลุดพ้นของเอนเซลาดัสอยู่ที่ 866 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนกลไกตัวที่สองอธิบายว่า อนุภาคอาจเกิดจากฝุ่นที่ฟุ้งขึ้นมาจากพื้นผิวดวงจันทร์ เมื่อดวงจันทร์ถูกชนโดยเทหวัตถุต่าง ๆ กลไกตัวนี้ยังใช้ได้ไม่เฉพาะกับเอนเซลาดัสเท่านั้น ยังสามารถใช้ได้กับดวงจันทร์ดวงอื่น ๆ ที่อยู่ในเขตวงแหวนอีอีกด้วย

ตำแหน่งของเอนเซลาดัส เมื่อมองจากด้านข้างของดาวเสาร์ สังเกตว่าเอนเซลาดัสตั้งอยู่ในตำแหน่งที่หนาแน่นของวงแหวนอี

แหล่งที่มา

WikiPedia: เอนเซลาดัส http://www.astronews.com/news/artikel/2013/08/1308... http://www.bbc.com/news/science-environment-268721... http://www.cosmovisions.com/SaturneChrono02.htm http://www.dailygalaxy.com/my_weblog/2011/06/satur... http://online.liebertpub.com/doi/full/10.1089/ast.... http://www.nature.com/nature/journal/v460/n7254/fu... http://www.nature.com/news/2011/110531/full/news.2... http://www.space.com/5179-seeds-life-saturn.html http://www.spacedaily.com/reports/Tour_de_Saturn_S... http://adsabs.harvard.edu//full/seri/MNRAS/0008//0...