การสำรวจ ของ เอนเซลาดัส

ถ่ายโดยยานวอยเอจเจอร์ 2 (1981)

วอยเอจเจอร์

รูปถ่ายระยะใกล้ชุดแรกของเอนเซลาดัสถูกถ่ายจากยานอวกาศในโครงการวอยเอจเจอร์ โดยยานลำแรกที่โคจรผ่านดวงจันทร์เอนเซลาดัสมีชื่อว่า "วอยเอจเจอร์ 1" โดยเข้าใกล้สุดครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523)[12] ที่ระยะห่าง 202,000 กิโลเมตรจากดวงจันทร์ ซึ่งภาพที่ถ่ายได้จากระยะนี้จะมองเห็นอวกาศที่ความละเอียดต่ำมาก แต่ภาพนี้ก็ได้เปิดเผยลักษณะพื้นผิวดวงจันทร์ที่สะท้อนแสงได้ดีมาก ปราศจากหลุมอุกกาบาตใด ๆ เป็นตัวบ่งชี้ว่าพื้นผิวดวงจันทร์ดวงนี้ยังมีอายุไม่มาก[13] ยานวอยเอจเจอร์ 1 ยังยืนยันว่าเอนเซลาดัสโคจรอยู่ในส่วนหนาแน่นสุดของวงแหวนอี (E-ring) อันเบาบางของดาวเสาร์ ด้วยเหตุผลข้างต้นทั้งพื้นผิวที่มีอายุน้อยและที่ตั้งในวงแหวนอี นักวิทยาศาสตร์จึงคาดการณ์ว่าวงแหวนอีน่าจะประกอบไปด้วยอนุภาคที่ถูกขับออกมาจากเอนเซลาดัส[13]

ต่อมาเมื่อยาน "วอยเอจเจอร์ 2" ออกปฏิบัติภารกิจ ยานลำนี้ได้โคจรผ่านเอนเซลาดัสในระยะห่างที่ใกล้กว่าวอยเอจเจอร์ 1 ที่ 87,010 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524) ภาพถ่ายที่ได้จึงมีความละเอียดสูงกว่ามาก[12] ยิ่งเปิดเผยให้เห็นว่าพื้นผิวบนดวงจันทร์หลายแห่งมีอายุน้อยมาก[14] นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่า พื้นผิวบริเวณต่าง ๆ บนดวงจันทร์อาจมีอายุแตกต่างกันได้อย่างมาก ภาพถ่ายทำให้เรารู้ว่าพื้นที่ทางตอนบนของดาวมีหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วไป ในขณะที่พื้นที่บริเวณเส้นศูนย์สูตรมีหลุมอุกกาบาตน้อยกว่ามาก ด้วยลักษณะทางธรณีวิทยาเหล่านี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์งุนงง เนื่องจากในขณะนั้นไม่มีทฤษฎีใดสามารถอธิบายว่าทำไมเทหวัตถุขนาดเล็กถึงมีพื้นผิวที่ใหม่เอี่ยมเช่นนี้ และก็ไม่สามารถอธิบายได้เช่นกันว่าทำไมเทหวัตถุที่เย็นเป็นน้ำแข็งถึงยังเกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ บนพื้นผิวได้ อย่างไรก็ตามยานวอยเอจเจอร์ 2 ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเอนเซลาดัสกำลังมีปรากฏการณ์บนพื้นผิวใด ๆ อยู่ในขณะนั้น หรือแม้แต่เรื่องที่เป็นต้นกำเนิดของวงแหวนอี

แคสซีนี-ไฮเกนส์

ข้อสงสัยจากโครงการวอยเอจเจอร์ได้รับการเปิดเผยเมื่อ "ยานแคสซีนี–ไฮเกนส์" เดินทางเข้าสู่วงโคจรรอบดาวเสาร์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) ยานแคสซีนีถูกกำหนดให้เอนเซลาดัสเป็นเป้าหมายสำคัญในการสำรวจ โดยให้ยานแคสซีนีโคจรเข้าใกล้ในระยะเพียง 1,500 กิโลเมตรหลายครั้ง รวมถึงโอกาสในการแล่นเฉียดในระยะ 100,000 กิโลเมตรอีกหลายครั้ง การสำรวจของยานแคสซีนีทำให้เราทราบข้อมูลสำคัญหลายอย่างเกี่ยวกับพื้นผิวของดวงจันทร์ รวมไปถึงการค้นพบไอน้ำและอนุภาคไฮโดรคาร์บอนที่ปะทุออกมาบริเวณขั้วใต้ ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้ทีมควบคุมยานแคสซีนีเปลี่ยนแปลงเส้นทางการโคจรให้ยิ่งเข้าใกล้เอนเซลาดัสมากขึ้น ซึ่งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) ยานแคสซีนีแล่นเฉียดที่ระยะเพียง 52 กิโลเมตรจากพื้นผิวดวงจันทร์[15] นอกจากนี้ยานอวกาศยังปฏิบัติภารกิจพิเศษเพิ่มเติมในการแล่นเฉียดอีก 7 ครั้งตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2008 ถึงกรกฎาคม ค.ศ. 2010 ซึ่งมีสองครั้งในเดือนสิงหาคมและตุลาคม ค.ศ. 2008 ยานโคจรเข้าใกล้ในระยะไม่ถึง 50 กิโลเมตร[16]

เมื่อยานแคสซีนี-ไฮเกนส์บินเข้าใกล้เอนเซลาดัส (28 ตุลาคม ค.ศ. 2015)[17]
เริ่มเข้าใกล้
ก่อนถึง
ใกล้ที่สุด
การปะทุ
เสร็จสิ้นภารกิจ
สูงจากพื้นผิว 49 กิโลเมตร
เมื่อยานแคสซีนี-ไฮเกนส์บินเข้าใกล้เอนเซลาดัสเป็นครั้งสุดท้าย (19 ธันวาคม ค.ศ. 2015)[18]
ภูมิประเทศเก่าแก่และใหม่เอี่ยม
สิ่งพิเศษทางตอนเหนือ
รอยแตกแช่แข็ง
จุดเข้ม
น้ำแข็งและชั้นบรรยากาศ
สูงจากพื้นผิว 4,999 กิโลเมตร

โครงการสำรวจในอนาคต

การค้นพบสิ่งต่าง ๆ บนดวงจันทร์เอนเซลาดัสของยานแคสซีนีทำให้มีการศึกษาและเสนอโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแทบทันที โดยในปี ค.ศ. 2007 นาซาได้เสนอโครงการที่จะนำยานไปโคจรรอบเอนเซลาดัสและศึกษาปรากฏการณ์การปะทุบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์[19] แต่ก็ไม่ได้รับการคัดเลือก[20] อย่างไรก็ตาม องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ก็มีแผนส่งยานขึ้นไปสำรวจเอนเซลาดัสพร้อม ๆ กับสำรวจไททัน ดวงจันทร์ดวงใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์[21] ดังนั้นจึงเกิดภารกิจ Titan Saturn System Mission (TSSM) ขึ้นมา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างนาซาและอีเอสเอ ที่จะส่งยานขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ของดาวเสาร์ ซึ่งรวมถึงเอนเซลาดัสด้วยอย่างแน่นอน ภารกิจนี้ถูกเสนอ (เข้าชิง) เพื่อขอเงินสนับสนุนพร้อมกับภารกิจ Europa Jupiter System Mission (EJSM) ซึ่งเป็นภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี ซึ่งได้ประกาศผลไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) โดยที่ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี (EJSM) ได้รับการคัดเลือกให้จัดตั้งก่อนภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของเสาร์ (TSSM)[22]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เอนเซลาดัส http://www.astronews.com/news/artikel/2013/08/1308... http://www.bbc.com/news/science-environment-268721... http://www.cosmovisions.com/SaturneChrono02.htm http://www.dailygalaxy.com/my_weblog/2011/06/satur... http://online.liebertpub.com/doi/full/10.1089/ast.... http://www.nature.com/nature/journal/v460/n7254/fu... http://www.nature.com/news/2011/110531/full/news.2... http://www.space.com/5179-seeds-life-saturn.html http://www.spacedaily.com/reports/Tour_de_Saturn_S... http://adsabs.harvard.edu//full/seri/MNRAS/0008//0...