ตกพุ่มม่ายและการสำเร็จราชการ ของ เอลิซาเบธแห่งบอสเนีย

แผนที่ดินแดนที่พระเจ้าหลุยส์ปกครอง

พระเจ้าหลุยส์สวรรคตในวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1382 โดยพระนางเอลิซาเบธและพระราชธิดาประทับอยู่เคียงข้าง[27] ตอนนี้พระราชชนนีเอลิซาเบธเป็น สมเด็จพระพันปีหลวง เจ้าหญิงแมรีทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกเป็น "พระมหากษัตริย์"แห่งฮังการีในเวลาเจ็ดวันถัดมา นักประวัติศาสตร์ ฮาเล็คกี เชื่อว่า เหตุที่สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงเร่งรีบและการใช้พระอิสริยยศสำหรับบุรุษแก่สมเด็จพระราชินีนาถแมรี เป็นความปรารถนาของสมเด็จพระพันปีหลวงเพื่อกีดกันเจ้าชายซีกิสมุนด์ พระชามาดาของพระนางในอนาคต ออกจากอำนาจในรัฐบาลขุนนาง[28] พระนางทรงดำรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในพระนามของพระประมุขซึ่งมีพระชนมายุ 11 พรรษา สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงแต่งตั้งให้การายเป็นประธานคณะที่ปรึกษาของพระนาง การปกครองของพระนางไม่ได้สงบสุข ราชสำนักพอใจกับการจัดการเช่นนี้ แต่เหล่าขุนนางฮังการีกลับไม่พอใจที่จะต้องเคารพสตรีและคัดค้านการสืบราชบัลลังก์ของสมเด็จพระราชินีนาถแมรี กลุ่มขุนนางพยายามยืนยันสิทธิในราชบัลลังก์ตามกฎหมายของพระเจ้าชาร์ลที่ 3 แห่งเนเปิลส์ ซึ่งเป็นเชื้อสายอานเจวินฝ่ายชายเพียงคนเดียวที่ยังทรงพระชนม์อยู่ ในขณะนั้นพระเจ้าชาร์ลไม่ทรงสามารถเรียกร้องราชบัลลังก์ของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีได้ เนื่องจากพระองค์เองยังทรงถูกคุกคามจากหลุยส์ที่ 1 ดยุกแห่งอ็องชู[29]

การลุกฮือครั้งแรกในการต่อต้านสมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธ ปี ค.ศ. 1383 นำโดยจอห์นแห่งปาลิสนา เจ้าคณะแห่งวรานา นักประวัติศาสตร์ จอห์น ฟาน แอนต์เวิร์ป ไฟน์ จูเนียร์ กล่าวว่า เจ้าคณะ "เหมือนจะต่อต้านเป็นสำคัญ"ต่อนโยบายการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางซึ่งพระสวามีของพระนางได้ประกาศใช้ พระเจ้าทวตโกที่ 1 แห่งบอสเนีย พระญาติของพระนางใช้โอกาสในช่วงที่พระเจ้าหลุยส์สวรรคตและการที่สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธไม่ได้รับความนิยม โดยทรงพยายามกอบกู้ดินแดนที่ทรงสูญเสียไปในปี ค.ศ. 1357 คืนมา พระเจ้าทวตโกและเจ้าคณะจอห์นได้เป็นพันธมิตรกันในการต่อต้านพระนางเอลิซาเบธ แต่ในที่สุดกองทัพของพระองค์และจอห์นพ่ายแพ้ต่อกองทัพของพระพันปีหลวง โดยจอห์นหลบหนีไปยังบอสเนีย[30]

การสืบราชบัลลังก์โปแลนด์

แม้ว่าพระเจ้าหลุยส์ทรงระบุให้สมเด็จพระราชินีนาถแมรีเป็นผู้สืบราชบัลลังก์ทั้งสองราชอาณาจักร แต่เหล่าขุนนางโปแลนด์ต้องการยุติรัฐร่วมประมุขของสหภาพฮังการีและโปแลนด์ ดังนั้นเหล่าขุนนางจึงไม่เต็มใจที่จะยอมรับสมเด็จพระราชินีนาถแมรีและเจ้าชายซีกิสมุนด์ พระคู่หม้นให้มาเป็นพระประมุข[31] พวกเขาจะยอมรับสมเด็จพระราชินีนาถแมรี ถ้าหากพระนางทรงย้ายมาประทับที่กรากุฟและปกครองราชอาณาจักรทั้งสองที่เมืองนี้มากกว่าที่ฮังการี และทรงต้องรับฟังคำปรึกษาจากขุนนางโปแลนด์มากกว่าขุนนางฮังการี อีกทั้งต้องอภิเษกสมรสกับเจ้าชายที่เหล่าขุนนางเลือกให้ ความตั้งใจของเหล่าขุนนางนี้กลับทำให้สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธไม่พอพระทัย ซึ่งถ้าหากพระนางต้องเสด็จย้ายไปที่กรากุฟ พระนางจะขาดกลุ่มขุนนางที่จงรักภักดีต่อพระนางซึ่งจะทำให้พระนางไม่สามารถใช้พระราชอำนาจเพื่อให้เป็นไปตามพระประสงค์ได้ สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงตระหนักถึงความยากลำบากที่พระสัสสุของพระนางต้องเผชิญเมื่อทรงสำเร็จราชการในโปแลนด์ ซึ่งทำให้สมเด็จพระพันปีหลวงองค์ก่อนที่พระชราต้องเสด็จหนีกลับราชอาณาจักรเดิม (ฮังการี) ของพระนางด้วยความอัปยศอดสูแม้ว่าจะเป็นเจ้าหญิงจากโปแลนด์ก็ตาม[32]

ข้อตกลงระหว่างสมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธกับคณะผู้แทนจากโปแลนด์บรรลุผลที่เซียรัดส์ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1383[33] สมเด็จพระพันปีหลวงทรงเสนอเจ้าหญิงเจดวิกา พระราชธิดาองค์สุดท้องให้เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ของพระเจ้าหลุยส์ในโปแลนด์[32][34] และทรงอภัยโทษแก่ขุนนางโปแลนด์ที่เคยให้สัตย์ปฏิญาณแก่สมเด็จพระราชินีนาถแมรีและเจ้าชายซีกิสมุนด์เมื่อปี ค.ศ. 1382[33][34] สมเด็จพระพันปีหลวงทรงยินยอมให้เจ้าหญิงเจดวิกาประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในกรากุฟ แต่ทรงร้องขอให้เจ้าหญิงเจดวิกาต้องประทับที่บูดอเป็นเวลามากกว่าสามเดือนก่อนจะถึงวันพระราชพิธี เนื่องจากทรงมองว่าพระราชธิดายังมีเยาว์พระชันษา ชาวโปลซึ่งกำลังวุ่นวายจากสงครามกลางเมืองโปแลนด์ครั้งยิ่งใหญ่ ได้ให้การยินยอมข้อเรียกร้องของพระนางในช่วงต้นแต่ภายหลังยอมรับไม่ได้ที่พระมหากษัตริย์ของพวกเขาประทับอยู่ที่ต่างประเทศเป็นเวลานาน การประชุมครั้งที่สองที่เซียรัดส์ ในวันที่ 28 มีนาคม เหล่าขุนนางไตร่ตรองว่าควรมอบราชบัลลังก์ให้กับ ซีโมวิทที่ 4 ดยุกแห่งมาโซเวีย พระญาติห่างๆของเจ้าหญิงเจดวิกา[34] แต่ท้ายที่สุดเหล่าขุนนางก็เลือกที่จะต่อต้านข้อเสนอนี้ แต่ในการประชุมครั้งที่สาม ดยุกซีโมวิทตัดสินใจอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ด้วยตนเอง สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงตอบสนองด้วยการส่งกองทัพที่มีทหาร 12,000 นายเข้าไปกวาดล้างกองทัพของมาโซเวียในเดือนสิงหาคม เพื่อให้เขายกเลิกการอ้างสิทธิ[35] ในขณะเดียวกันพระนางก็ตระหนักแล้วว่าไม่ทรงสามารถคาดหวังให้ขุนนางยอมรับข้อเรียกร้องของพระนางได้และพระนางทรงแก้ปัญหาด้วยการเลื่อนการเสด็จถึงของเจ้าหญิงเจดวิกาให้ช้าลงแทน ทั้งๆที่ขุนนางโปแลนด์พยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งให้เจ้าหญิงเจดวิกาเสด็จมาถึงโดยเร็ว แต่เจ้าหญิงเจดวิกาก็ยังเสด็จไม่ถึงกรากุฟจนกระทั่งปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1384[36] เจ้าหญิงเจดวิกาทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1384[37][38] ไม่มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมเด็จพระราชินีนาถพระชนมายุ 10 พรรษาทรงสามารถใช้พระราชอำนาจภายใต้คำปรึกษาของขุนนางผู้มีอิทธิพลในกรากุฟ[39] สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธไม่ทรงได้พบกับพระราชธิดาองค์นี้อีกเลย[40]

ในปี ค.ศ. 1385 สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธเสด็จรับคณะผู้แทนจากแกรนด์ดยุกโยไกลาแห่งแกรนด์ดัชชีลิทัวเนีย ผู้ประสงค์จะอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีนาถเจดวิกา ตามพระราชบัญญัติเครวา แกรนด์ดยุกโยไกลาทรงสัญญาที่จะจ่ายค่าชดเชยให้แก่วิลเลียมแห่งออสเตรียในพระนามของพระนางเอลิซาเบธ ซึ่งเป็นพระมเหสีม่ายของพระเจ้าหลุยส์และทายาทหญิงแห่งโปแลนด์ในฐานะพระราชปนัดดาของพระเจ้าวลาดิสเลาสที่ 1 แห่งโปแลนด์ (ซึ่งสันนิษฐานว่าแกรนด์ดยุกโยไกลาทรงใช้พระนามของพระองค์เมื่อทรงเข้าพิธีบัพติศมาครั้งแรก) โดยทรงรับแกรนด์ดยุกเป็นพระโอรสของพระนางตามกฎหมายเพื่อที่จะทำให้พระองค์มีสิทธิในราชบัลลังก์โปแลนด์เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถเจดวิกาสวรรคต[41][42] พระราชพิธีอภิเษกสมรสจัดขึ้นในปี ค.ศ. 1386[37]

การอภิเษกสมรสของสมเด็จพระราชินีนาถแมรี

เจ้าชายซีกิสมุนด์ พระคู่หมั้นในสมเด็จพระราชินีนาถแมรี และพระเจ้าเวนสเลาสแห่งเยอรมนีและโบฮีเมีย ซึ่งเป็นพระอนุชาในเจ้าชายซีกิสมุนด์ ทรงต่อต้านสมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธและการาย ในทางกลับกันสมเด็จพระพันปีหลวงและพาลาทีนการายก็ไม่ได้รีบเร่งให้เจ้าชายซีกิสมุนด์ครองราชย์ร่วมกับพระนางแมรี ทั้งเจ้าชายซีกิสมุนด์และพระเจ้าชาร์ลที่ 3 แห่งเนเปิลส์ต่างทรงวางแผนที่จะบุกฮังการี ซึ่งในอดีตทรงพยายามอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีนาถแมรีและครองราชย์ร่วมกับพระนาง แต่ในภายหลังทรงมีจุดประสงค์ที่จะถอดถอนพระนางออกจากราชบัลลังก์ สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงมุ่งมั่นที่จะไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น และในปี ค.ศ. 1384 ทรงเริ่มพิจารณาการอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระราชินีนาถแมรีกับเจ้าชายหลุยส์แห่งฝรั่งเศส แม้ว่าพระราชธิดาจะทรงหมั้นกับเจ้าชายซีกิสมุนด์อยู่แล้ว ข้อเสนอนี้มีการพิจารณาขึ้นหลังจากเจ้าหญิงแคทเทอรีน พระราชธิดาองค์โตสิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1378 ซึ่งเหตุการณ์ศาสนเภทตะวันตกทำให้เกิดปัญหา ด้วยฝรั่งเศสยอมรับผู้อ้างตนเป็นพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 ในฐานะสมเด็จพระสันตะปาปา ส่วนฮังการียอมรับสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6 เป็นสมเด็จพระสันตะปาปา แต่อย่างไรก็ตามสมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธก็ทรงหมดหวังที่จะหลีกเลี่ยงการรุกรานในปี ค.ศ. 1384 และไม่ทรงเต็มพระทัยที่จะให้ความแตกแยกทางศาสนามาขัดขวางการดำเนินการเจรจากับฝรั่งเศส ผู้อ้างตนเป็นพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 ทรงออกประกาศยกเลิกการหมั้นระหว่างสมเด็จพระราชินีนาถแมรีกับเจ้าชายซีกิสมุนด์ และประกาศจัดพิธีอภิเษกสมรสผ่านตัวแทนกับเจ้าชายหลุยส์แห่งฝรั่งเศสในเดือนเมษายน ค.ศ. 1385 แต่การดำเนินการนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากขุนนางฮังการี ซึ่งยึดมั่นในสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6[43]

สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงมีแผนที่จะให้สมเด็จพระราชินีนาถแมรีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายหลุยส์โดยแบ่งราชสำนักกัน ตระกูลลัคโกวิก นิโคลัส ซัมโบ เจ้ากรมพระคลังและนิโคลัส สเซคซี ตุลาการหลวง ออกมาต่อต้านอย่างเปิดเผยและประกาศละทิ้งความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระพันปีหลวงในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นผลให้พระนางทรงปลดพวกเขาออกจากตำแหน่งทั้งหมดและแทนที่ตำแหน่งเหล่านั้นด้วยคนของการาย ราชอาณาจักรจึงอยู่ในสภาพที่เกือบจะเกิดสงครามกลางเมืองซึ่งทำให้พระเจ้าชาร์ลทรงปรารถนาที่จะเข้าโจมตี โดยได้รับการสนับสนุนจากจอห์น ฮอร์วัตและน้องชายคือ ปอล ฮอร์วัต บิชอปแห่งซาเกร็บ การใกล้เข้ามาของกองทัพพระเจ้าชาร์ลได้บีบให้สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธยอมแพ้และละทิ้งความคิดเรื่องการอภิเษกสมรสกับฝรั่งเศส ในขณะที่คณะทูตของพระนางในกรุงปารีสกำลังเตรียมตัวสำหรับการเดินทางของเจ้าชายหลุยส์ สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงทำข้อตกลงกับฝ่ายตรงข้ามของพระนางและทรงแต่งตั้งให้สเซคซีเป็นพาลาทีนคนใหม่[44]

สี่เดือนหลังจากการอภิเษกสมรสผ่านตัวแทน (โดยฉันทะ) กับเจ้าชายหลุยส์ เจ้าชายซีกิสมุนด์เสด็จถึงฮังการีและอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีนาถแมรี แต่การเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างฝ่ายต่างๆสายเกินไปที่จะขัดขวางการรุกรานของพระเจ้าชาร์ล พระเจ้าซีกิสมุนด์เสด็จลี้ภัยไปยังราชสำนักของพระอนุชาในกรุงปรากในฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ. 1385[44]

การปลดออกจากราชบัลลังก์และการฟื้นฟูราชบัลลังก์

สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธ (ประทับยืน) และอดีตสมเด็จพระราชินีนาถแมรี (คุกพระชานุ) ทรงไว้อาลัยต่อหน้าโลงพระศพพระเจ้าหลุยส์ในระหว่างพระราชพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ล วาดโดยซันดอร์ ลีเซน-มาเยอร์ วาดในปี ค.ศ. 1864

การเสด็จมาถึงของพระเจ้าชาร์ลมีการเตรียมการอย่างดี พระองค์เสด็จมาพร้อมกับผู้สนับสนุนชาวฮังการีของพระองค์ และสมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธก็ไม่ทรงสามารถจัดกองทัพออกมาต่อต้านหรือขัดขวางไม่ให้พระองค์เข้าไปในสภาได้ ซึ่งที่สภาพระองค์ทรงได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้น สมเด็จพระราชินีนาถแมรีทรงถูกบังคับให้สละราชบัลลังก์ เพื่อเปิดโอกาสให้พระเข้าชาร์ลประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1385[44] สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธและอดีตสมเด็จพระราชินีนาถแมรีทรงถูกบังคับให้เข้าร่วมพระราชพิธี[45] และต้องถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อพระเจ้าชาร์ล[46]

เมื่อปราศจากอำนาจ สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงแสร้งทำเป็นมิตรกับพระเจ้าชาร์ลในขณะที่ผู้ติดตามของพระเจ้าชาร์ลยังอยู่ในราชสำนัก แต่หลังจากผู้สนับสนุนเหล่านั้นเดินทางกลับ พระองค์ก็ทรงไร้ทางป้องกันพระองค์เอง[47] พระนางเอลิซาเบธทรงรีบเร่งเชิญพระเจ้าชาร์ลให้เสด็จมาเยี่ยมอดีตสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ปราสาทบูดอ เมื่อพระเจ้าชาร์ลเสด็จมาถึงในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1386 สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงให้ข้าราชบริพารของพระนางแทงพระเจ้าชาร์ลในห้องที่ประทับของพระนางและทรงแสดงตนที่นั่นด้วย พระองค์ทรงถูกนำเสด็จออกไปที่วิเซกราด ซึ่งพระองค์ทรงพระประชวรจากการบาดเจ็บและเสด็จสวรรคตในวันที่ 24 กุมภาพันธ์[45][47]

พระนางสามารถฟื้นฟูราชบัลลังก์ให้แก่พระราชธิดาได้ พระนางทรงประทานรางวัลแก่ผู้ที่ช่วยเหลือพระนางโดยทันที ทรงประทานปราสาทในเยเลเนคแก่ไบลซ์ ฟอร์กาช พนักงานเชิญจอกเสวย ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้พระเจ้าชาร์ลบาดเจ็บ ในเดือนเมษายน พระเจ้าซีกิสมุนด์ทรงถูกนำเสด็จมาที่ฮังการีโดยพระเจ้าเวนสเลาส พระอนุชา และสมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธกับสมเด็จพระราชินีนาถแมรีทรงถูกกดดันให้ยอมรับพระเจ้าซีกิสมุนด์เป็นพระประมุขร่วมกับพระนางแมรีในอนาคตตามสนธิสัญญากูร์[47] การลอบปลงพระชนม์พระเจ้าชาร์ลไม่ได้ทำให้สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงพอพระทัยตามที่คาดหวัง ในขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนพระเจ้าชาร์ลได้ยอมรับพระเจ้าลาดิสเลาสแห่งเนเปิลส์ พระโอรสให้เป็นองค์รัชทายาท[48]และหนีไปรวมกำลังที่ซาเกร็บ บิชอปปอลได้จำนองที่ดินของโบสถ์เพื่อรวบรวมเงินในการจัดตั้งกองกำลังต่อต้านสมเด็จพระราชินีนาถ[49]

ใกล้เคียง

เอลิซาเบธ เดบิคกี เอลิซาเบธแห่งเวดส์ สมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนีย เอลิซาเบธแห่งยอร์ก เอลิซาเบธแห่งโรมาเนีย เอลิซาเบธแห่งบอสเนีย เอลิซาเบธ เฟลชแมน เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ เอลิซาเบธ โฮล์ม เอลิซาเบธ ชู เอลิซาเบธ เฮอร์ลีย์