การทำงาน ของ เอโบ_โมราเลส

ราวปี ค.ศ. 1985 โมราเลสได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการสหภาพเกษตรกรโคคาโบลิเวีย โดยปัจจุบันยังอยู่ตำแหน่งนี้ เขากลายเป็นผู้นำขบวนการเกษตรกรต่อต้านสหรัฐอเมริกาและรัฐบาล เมื่อไร่โคคาของเขาถูกทหารทำลายล้างภายใต้การหนุนหลังจากสหรัฐอเมริกาที่ต้องการปราบปรามการผลิตโคเคน ทั้ง ๆ ในโบลิเวียยุคนั้น ที่โคคาเป็นพืชเศรษฐกิจที่ใช้เคี้ยวและใช้ชงชาดื่มกันทั่วไป ตั้งแต่นั้นมาเขาผันตัวเองมาเล่นการเมืองเต็มตัว[3]

การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

โมราเลสกับลูลา ประธานาธิบดีของบราซิล เมื่อปี ค.ศ. 2006

เริ่มดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 หลังจากนั้นไม่กี่เดือน เขาเดินหน้ายึดกิจการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของต่างชาติในโบลิเวียกลับคืนมาเป็นของชาติ สร้างความตกตะลึงให้แก่บรรดานายทุน-บรรษัทข้ามชาติน้ำมัน ที่กำลังจะสูญเสียผลประโยชน์ขนานใหญ่จากกิจการน้ำมันในโบลิเวีย รวมไปถึงประเทศเสรีนิยมทั่วโลกที่มุ่งเดินหน้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือโอนกิจการของชาติให้ไปอยู่ในตลาดทุนที่เสรีมากขึ้น

เอโบ โมราเลส กล่าวถึงเหตุผลเบื้องหลังความยากจนของประชาชนในประเทศของตนว่า "เป็นผลมาจากการเอารัดเอาเปรียบ การฉกฉวยผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่โบลิเวียมีอยู่ใต้ผืนมาตุภูมิของตนเองไปแบบหน้าตาเฉย ของบรรดาบริษัทต่างชาติตะวันตกที่เข้ามาในประเทศ" โมราเลสเรียกพฤติกรรมดังกล่าวว่าเป็น "การปล้นสะดม" จากประชาชนโบลิเวีย เขาจึงแก้ปัญหาที่ว่านี้ ด้วยการส่งกำลังทหารเข้าไปยึดที่ทำการของบริษัท โรงกลั่นและโรงแปรรูป และหลุมขุดเจาะน้ำมันรวมทั้งสิ้น 56 จุดทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 มาเป็นทรัพย์สินของรัฐ และประชาชนโบลิเวีย

ในขณะเดียวกันก็ได้ให้เวลาบรรดาบริษัทต่างชาติทั้งหลาย 180 วัน เพื่อเปิดการเจรจาและทำสัญญาใหม่โดยที่บริษัททั้งหมดต้องถือหลักที่ว่าด้วย "การเคารพในเกียรติภูมิของชาวโบลิเวีย" โดยการให้ผลตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่อประชาชนเจ้าของประเทศอย่างเหมาะสม[4]

โมลาเรสเน้นสร้างความเป็นปึกแผ่นในกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ ที่เตรียมต่อกรกับทุนนิยมเสรี ระหว่างการครองตำแหน่งประธานาธิบดี โมราเลสเน้นสร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับผู้นำซ้ายจัดของละตินอเมริกาอย่างอูโก ชาเบซ ของเวเนซุเอลา และฟีเดลกับราอุล กัสโตร แห่งคิวบา ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2008 ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับโบลิเวียตึงเครียดขึ้นสมัยรัฐบาลของโมราเลส ทั้งสองฝ่ายต่างถอนทูตของกันและกันกลับประเทศ[5] เมื่อโมราเลสสั่งห้ามการปฏิบัติงานของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกาในโบลิเวีย

ในสมัยที่สองของตำแหน่งประธานาธิบดี เขามีนโยบายเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ และในปี ค.ศ. 2010 โมราเลสได้แปรรูปบริษัทพลังงานต่างชาติให้เป็นของรัฐ ทำการปฏิรูประบบบำนาญโดยการเข้ายึดกองทุนส่วนบุคคลเพื่อนำมาจ่ายให้คนยากจน โมราเลสได้พยายามยกเลิกกองทุนน้ำมัน เป็นผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นมากกว่า 70% จนเป็นเหตุให้มีการนัดหยุดงานในภาคการค้า และการชุมนุมประท้วง นับเป็นการเผชิญปัญหาทางการเมืองเป็นครั้งแรก[6]

มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อเขาเกี่ยวกับยาเสพติดมากมาย โมราเลสให้เหตุผลว่า การปลูกโคคาเป็นวัฒนธรรมในสายเลือดของชาวพื้นเมืองแอนดีส ไม่ใช่เพื่อนำไปผลิตโคเคน

แหล่งที่มา

WikiPedia: เอโบ_โมราเลส http://www.abi.bo/index.php?i=noticias_texto_palet... http://www.presidencia.gob.bo/ http://www.globalresearch.ca/the-most-radical-cons... http://www.digitaljournal.com/article/304909 http://www.economist.com/node/15065929 http://books.google.com/books?id=2XjvRwAACAAJ&dq=T... http://books.google.com/books?id=3cU5ELUxXAEC&dq=R... http://books.google.com/books?id=t5ZFs6vTlKwC&dq=E... http://prachatai.com/journal/2007/01/11178/ http://prachatai.com/journal/2009/12/26903/