แคว้นมัตสยะ
แคว้นมัตสยะ

แคว้นมัตสยะ

แคว้นมัตสยะ (อักษรโรมัน: Matsya Kingdom มัจฉะ หรือ มัตสยะ แปลว่า "ปลา"[1]) คือหนึ่งแคว้นใน มหาชนบท 16 แคว้น ที่ปรากฏอยู่ใน ยุคพระเวท ถูกกลาวถึงในมหากาพย์ มหาภารตะ และในพระไตรปิฎก อังคุตตรนิกาย ว่าแคว้นมัจฉะ หรือ มัตสยะ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ หรือตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้นกุรุ ทางใต้ของแคว้นสุรเสนะ และทางตะวันตกของแม่น้ำยมุนา อันเป็นแดนแบ่งเขตกับปัญจาละใต้[2][3] เทียบกับปัจจุบันแคว้นมัจฉะได้แก่ อาณาเขตของจังหวัดชัยปูร์อัลวาร์ และ ภารัตปูร์ ของรัฐราชสถาน รวมทั้งบริเวณใกล้เคียงโดยรอบเมืองหลวงของแคว้นมัจฉะ ชื่อ ไวราฏ หรือ วิราฏนคร และบางครั้งก็เรียกว่ามัตสยานครบ้าง เรียกว่ามัตสยาสัยนครบ้าง ปัจจุบันเรียกว่า ไพราฏ อยู่ห่างจากชัยปูร์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐราชสถานในปัจจุบัน ขึ้นไปทางเหนือ 64 กิโลเมตร หรือ 41 ไมล์ และอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเดลี ระยะทาง 168 กิโลเมตร หรือ 105 ไมล์ [4]เรื่องราวเกี่ยวกับแคว้นมัจฉะ ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนามีน้อยมาก ที่ตั้งของแคว้นและชื่อเมืองหลวงเช่นที่ปรากฏก็ได้จากคัมภีร์และเรื่องราวของฮินดูแทบทั้งหมด แสดงว่าในสมัยของพระพุทธองค์ การพระศาสนายังไม่แพร่หลายในแคว้นมัจฉะ แต่จากการขุดค้นพบศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ไพราฏนี้ ซึ่งมีข้อความเป็นคำเผดียงสงฆ์ ถึงความเคารพเลื่อมใสของพระองค์ ซึ่งมีต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ลงท้ายด้วยทรงระบุหมวดธรรมต่าง ๆ ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้พระภิกษุ สามเณรและอุบาสกอุบาสิกาทั้งปวงสนใจ ท่องบ่นศึกษาและสดับฟัง แสดงให้เห็นว่าในรัชสมัยของพระองค์นั้น แคว้นมัจฉะหรือที่นครไวราฏนี้ คงจะมีวัดและพระสงฆ์อยู่มากในสมัยของพระถังซัมจั๋ง การพระศาสนาในแคว้นมัจฉะหรือโดยเฉพาะที่ไวราฏนี้ได้ทรุดโทรมลงแล้ว ท่านบันทึกไว้ว่า ได้พบวัดรวม 8 วัดด้วยกัน แต่อยู่ในสภาพที่ถูกทอดทิ้งและหักพังทรุดโทรมมาก มีพระภิกษุอยู่เป็นจำนวนน้อย[5][ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้]