แซ่แต้

แต้ ตามสำเนียงแต้จิ๋วและฮกเกี้ยน หรือ เจิ้ง ตามสำเนียงจีนกลาง (จีนตัวย่อ: 郑; จีนตัวเต็ม: 鄭; พินอิน: Zhèng; เวด-ไจลส์: cheng4) เป็นแซ่หรือสกุลหนึ่งของชาวจีน และเป็นสกุลเดียวกับประเทศที่รับวัฒนธรรมจีนโดยออกเสียงตามสำเนียงของตน ในภาษาเวียดนามว่า จิ่ญ (เวียดนาม: Trịnh; จื๋อโนม: 鄭) ภาษาเกาหลีว่า ช็อง (ฮันกึล: 정; ฮันจา: 鄭; อาร์อาร์: Jeong; เอ็มอาร์: Chŏng) และภาษาญี่ปุ่นว่า เต (ญี่ปุ่น: 鄭 โรมาจิTei) ในประเทศจีน ได้มีการจัดอันดับแซ่ที่มีผู้ใช้มากที่สุด 100 อันดับ ผลสำรวจพบว่ามีผู้ใช้ แซ่เจิ้ง เป็นอันดับที่ 21 หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของประชากร[1][2][3] โดยในยุคราชวงศ์ถัง คนในแซ่เจิ้งส่วนใหญ่มีฐานะดีและทรงอิทธิพล[4]ในฮ่องกงและไต้หวัน นามสกุลดังกล่าวได้สะกดด้วยอักษรโรมันเป็น Cheng หรือ Tcheng ในฮ่องกงบ้างสะกดว่า Chang ในมาเลเซียสะกดว่า Cheang หรือ Teh ในสิงคโปร์สะกดว่า Tay และในอินโดนีเซียสะกดว่า The[5]ส่วนในประเทศไทยสันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งที่ชาวจีนที่ใช้แซ่เจิ้งหรือแซ่แต้ได้มาตั้งรกรากและมีครอบครัวในเมืองไทย โดยหนึ่งในนั้นคือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งพระราชสกุลเดิมคือแซ่แต้สืบแต่บิดา แต่ในปัจจุบันลูกหลานของผู้ใช้ แซ่แต้ ส่วนมากได้เปลี่ยนเป็นนามสกุลให้เป็นไทย แต่จะขึ้นต้นด้วย เต และ เตชะ ตัวอย่างนามสกุลที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย เช่น เตชะไพบูลย์ เตชะรัตนประเสริฐ เตชะมนตรีกุล และอื่น ๆ ยังเป็นแซ่ที่มีคนใช้มากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของประเทศไทย 25,922 คน