ประวัติ ของ แดน_บีช_บรัดเลย์

ชีวิตช่วงแรก

แดน บีช บรัดเลย์ เป็นชาวเมืองมาร์เซลลัส (Marcellus) รัฐนิวยอร์ก สหรัฐ เกิดันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2347 บุตรคนที่ห้าของนายแดน บรัดเลย์และนางยูนิช บีช บรัดเลย์ บิดาเกิดที่เมืองแฮมเดน รัฐคอนเนตทิคัต ก่อนจะย้ายครอบครัวมายังเมืองมาร์เซลลัสเมื่อ พ.ศ. 2288 บิดาของหมอบรัดเลย์เป็นผู้หนึ่งที่เริ่มก่อตั้งเมืองมาร์เซลลัส ส่วนมารดา ยูนิช เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2347 เมื่ออายุ 38 ปี หลังจากที่คลอดหมอบรัดเลย์ ท่านจึงได้มารดาเลี้ยงคือ แนนซี ดูแลในวัยเด็ก[1]

หมอบรัดเลย์เลือกศึกษาวิชาแพทย์เพราะในสมัยนั้นต้องการมิชชันนารีเป็นอย่างมาก ระยะแรกศึกษากับ ดร.เอ.เอฟ โอลิเวอร์ ที่เมืองเพนน์แยน โดยพยายามแก้ไขการพูดติดอ่างซึ่งเป็นมาตั้งแต่วัยรุ่นโดยการเข้ากลุ่มฝึกพูด ท่านเคยไปฟังบรรยายทางการแพทย์ที่ฮาเวิร์ด ในปี ค.ศ. 1830 และกลับไปฝึกปฏิบัติงานการแพทย์ สลับกับการเป็นครูในหมู่บ้าน เมื่อสะสมเงินได้เพียงพอจึงไปโรงเรียแพทย์ที่กรุงนิวยอร์ก เพื่อเรียนและสอบได้รับปริญญาแพทย์ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1833 ระหว่างอยู่ที่นิวยอร์กได้ปฏิบัติงานหาความชำนาญ จนสมัครเป็นแพทย์มิชชันนารีกับคณะกรรมการพันธกิจคริสตจักรโพ้นทะเล (American Board of Commissioners for Foreign Missions) เพื่อทำงานในเอเชีย[2]

เดินทางมายังสยาม

แดเนียล บีช บรัดเลย์ ออกเดินทางพร้อมภรรยา เอมิลี จากเมืองบอสตัน เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2377 พร้อมมิชชันนารีกลุ่มหนึ่งซึ่งจะเดินทางไปพม่า โดยสารมากับเรือชื่อแคชเมียร์ ใช้เวลา 157 วัน จนถึงเมืองท่าแอมเฮิสต์ ของพม่า (ปัจจุบันคือเมืองไจคามี) เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2377 จนวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม พ.ศ. 2378 เรือมาทอดสมอที่เกาะปีนัง แล้วเดินทางต่อมาถึงสิงคโปร์ 12 มกราคม ใช้เวลา 6 เดือนกว่าจะถึงสิงคโปร์ เมื่อมาถึงสิงคโปร์ได้พักอาศัยอยู่กับสมาคมมิชชันนารีแห่งลอนดอน (London Missionary Society) โดยพยายามเรียนภาษาไทยกับชาวอินเดียในสิงคโปร์ และเดินทางออกจากสิงคโปร์เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม เรือมาทอดสมออยู่นอกสันดอนแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่เช้า เวลา 7.00 น. ของวันที่ 16 กรกฎาคม รอน้ำขึ้นและคนนำร่อง ในที่สุดเรือผ่านสันดอนได้วันที่ 18 กรกฎาคม จึงได้ลงเรือยาวพร้อมกับสัมภาระบางส่วนเข้ามายังกรุงเทพฯ มาถึงปากน้ำเวลาเที่ยงวัน และถึงกรุงเทพฯ เวลา 21.00 น. ของวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2378 ซึ่งตรงกับวันเกิดปีที่ 31 พอดี[2]

หมอบรัดเลย์พักอาศัยอยู่แถววัดเกาะ สำเพ็ง (วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร) โดยอาศัยพักรวมกับครอบครัวของศาสนาจารย์สตีเฟน จอห์นสัน หมอบรัดเลย์เปิดโอสถศาลาขึ้นเป็นที่แรกในสยาม เพื่อทำการรักษา จ่ายยาและหนังสือเกี่ยวกับศาสนาให้กับคนไข้ แต่เนื่องจากในย่านนั้นมีชาวจีนอาศัยอยู่ กิจการนี้จึงถูกเพ่งเล็งว่าอาจทำให้ชาวจีนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลสยามได้[3] จึงกดดันให้เจ้าของที่ดินคือนายกลิ่น ไม่ให้มิชชันนารีเช่าอีกต่อไป ต่อมาจึงย้ายไปอยู่แถวกุฎีจีน ที่เป็นย่านของชาวโปรตุเกส เช่าบ้านที่ปลูกให้ฝรั่งเช่าของเจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งต่อมาคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) บริเวณหน้าวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร โดยหมอบรัดเลย์และคณะมิชชันนารีดัดแปลงบ้านเช่าที่พักแห่งใหม่นี้เป็น โอสถศาลา เปิดทำการเมื่อ 30 ตุลาคม 2378

ที่บ้านพักแห่งใหม่นี้ หมอบรัดเลย์ได้ทำการผ่าตัดครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การแพทย์ของไทย โดยตัดแขนให้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2380 พระภิกษุรูปนั้นประสบอุบัติเหตุจากกระบอกบรรจุดินดำทำพลุแตก ในงานฉลองที่วัดประยุรวงศ์ ซึ่งประสบความสำเร็จดีจนเป็นที่เลื่องลือ เพราะแต่ก่อนคนไทยยังไม่รู้วิธีผ่าตัดร่างกายมนุษย์แล้วยังมีชีวิตอยู่ดี[4] หมอบรัดเลย์ได้ทำการรักษาคนไข้จนมีชื่อเสียง ส่วนภรรยา เอมิลี เข้าไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในวัง ค่าใช้จ่ายเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีใครสนับสนุน หมอจึงหางานเสริมมาเลี้ยงครอบครัว จนหน่วยงานด้านกิจการศาสนาในอเมริกา ขอยุติการสนับสนุนภารกิจของมิชชันนารีในสยาม และขอให้ยกทีมเดินทางกลับอเมริกา ส่วนหมอบรัดเลย์กำลังหมดตัว แต่คณะมิชชันนารีได้ทิ้งเครื่องพิมพ์ไว้ให้ จนหมอหันมาทุ่มเทด้านการพิมพ์ จนประดิษฐ์อักษรไทยสำเร็จ เมื่อ พ.ศ. 2395 และได้ทุนรับจ้างพิมพ์จากทางราชการสยาม[3]

กลับอเมริกาและกลับมายังสยาม

สุสานหมอบรัดเลย์

จนภรรยาที่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้ราชสำนักสยามมานาน 10 ปีล้มป่วยและเสียชีวิตด้วยวัณโรค จึงพาลูก 4 คนที่เกิดในสยามกลับไปอเมริกา เป็นเวลา 3 ปีเศษ ส่งลูกศึกษาที่อเมริกา ดิ้นรนจนได้รับทุนสนับสนุนจากสมาคมมิชชันนารีอเมริกันเป็นผลสำเร็จ และได้พบรักใหม่กับภรรยาใหม่ ซาราห์ บลักลี (Sarah Blachly) บัณฑิตจากวิทยาลัยโอเบอร์ลิน รัฐโอไฮโอ หลังแต่งงานก็กลับสยามเพื่อทำงานที่ค้างไว้ในสยามเมื่อ 3 ปีก่อน การกลับมาครั้งนี้ ได้พิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยฉบับแรก บางกอกรีคอร์เดอร์ เป็นทั้งบรรณาธิการและเขียนบทความเอง และได้พิมพ์หนังสือต่าง ๆ อีกหลายเล่ม ส่วนภรรยา ซาราห์ ก็สอนภาษาอังกฤษในราชสำนัก หมอบรัดเลย์ยังริเริ่มการปลูกฝี ที่กำลังระบาดในสยาม[3]

6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2395 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินให้หมอบรัดเลย์ รวมถึงมิชชานารี ได้สร้างโรงพิมพ์บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ข้างป้อมวิชัยประสิทธิ์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตบางกอกใหญ่) พระองค์เสด็จไปสนทนาภาษาอังกฤษและเรื่องราวความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์กับคุณหมอและแหม่มซาราห์ที่บ้านอยู่บ่อยครั้ง[3]

หมอบรัดเลย์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2416 อายุ 69 ปี ศพฝังที่สุสานโปรเตสแตนต์ ที่ใกล้โรงงานยาสูบ ถนนตก ซึ่งยังมีอยู่จนทุกวันนี้

แหล่งที่มา

WikiPedia: แดน_บีช_บรัดเลย์ http://161.246.14.22/research/index.php?option=com... http://www.chivitchiva.com/339 http://www.praphansarn.com/home/content/627 http://archaeology.thai-archaeology.info/index.php... http://www.komchadluek.net/news/politic/145481 http://www.sonrisecenter.org/m_dan.html http://archive.lib.kmutt.ac.th/king4/exhibit1/doc/... http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?b... http://valuablebook2.tkpark.or.th/2015/13/document... http://rescom.trf.or.th/display/keydefault.aspx?id...