หมวดเกม ของ แดนซ์_แดนซ์_เรโวลูชัน

ในเกมเต้นแต่ละภาค จะมีหมวดเกมหลาย ๆ หมวด แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ

หมวดเกมประเภทตู้เกม (Arcade Version)

ตู้เล่นเกมเต้น แดนซ์ แดนซ์ เรโวลูชัน (ภาค 1)

เป็นประเภทตู้เกม ซึ่งผู้เล่นจะต้องหยอดเหรียญ 1 หน่วยเครดิตเมื่อเล่น ลักษณะตู้จะมีลักษณะใหญ่กว่าตู้เกมทั่วไป เพราะตู้เกมเต้นจะมีแป้นลูกศรสำหรับเหยียบ และเล่นได้สองคน หมวดเกมประเภทตู้เกมมีดังนี้

หมวดเกมปกติ (Arcade Mode, Game Mode)

ก่อนที่จะทำความรู้จักกับหมวดเกมในแต่ละหมวด ต้องรู้จักหมวดการเล่นปกติก่อน หมวดเกมปกติ เป็นหมวดเกมหลักของเกมเต้น ซึ่งจะได้เล่นตามตู้เกมเต้นทั่วไป ลักษณะของหมวดเกมปกติจะมีขั้นตอนดังนี้

  • หยอดเหรียญ 1 หน่วยเครดิต แล้วเข้าสู่เกม
  • เมื่อเข้าสู่เกมแล้วให้เลือกรูปแบบการเล่นที่ต้องการ (ถ้าเล่นสองคนหรือควบสอง ให้หยอดเหรียญอีก 1 หน่วยเครดิต)
  • เลือกระดับความยาก
  • เลือกเพลงเต้น เมื่อตัวเลือก (เคอร์เซอร์) อยู่ที่เพลงใด จะเล่นท่อนตัวอย่างของเพลงนั้น ๆ สามารถกดปุ่มซ้ายหรือขวาเพื่อเปลี่ยนเพลง กดขึ้นสองครั้งเพื่อลดระดับความยาก หรือกดลงสองครั้งเพื่อเพิ่มระดับความยาก ในขณะที่เลือกเพลงนั้น ในแกมเต้นรุ่นใหม่ ๆ ผู้เล่นสามารถเรียงลำดับเพลงได้ โดยการกดซ้ายกับขวาพร้อมกันอย่างรวดเร็ว ลักษณะการเรียงลำดับคือ
    • เรียงตามกลุ่ม (เรียงให้สีของเพลงอยู่ในกลุ่มเดียวกัน)
    • เรียงตามชื่อ (เรียงตาม A ถึง Z)
    • เรียงตามระดับความเร็ว (เรียงจากเพลงที่ช้าที่สุดไปหาเพลงที่เร็วที่สุด)
    • เรียงตามระดับความยาก (เรียงจากเพลงง่ายที่สุดไปหาเพลงที่ยากที่สุดตามหน่วยเท้าของระดับความยากที่เลือก)
    • เรียงตามความนิยม (เพลงใดที่นิยมกันมากที่สุด จะถูกเรียงลำดับเป็นอันดับต้น ๆ)
  • เมื่อเลือกเพลงเต้นแล้วให้กดปุ่มยืนยัน ถ้ากดค้างไว้จะเข้าสู่การปรับแต่งลูกเล่นเสริม
  • เล่นเกมเต้น
  • ถ้าผู้เล่นสามารถเล่นผ่านได้ เกมจะแสดงเกรด แล้วเลือกเพลงต่อไปจนกว่าจะครบ 3 ถึง 5 เพลง ในตู้เกมเต้นแต่ละตู้จะปรับค่าจำนวนเพลงต่อ 1 เกมที่จะเล่นไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่ ใน 1 เกมจะเล่นได้ 3 ถึง 5 เพลง
  • เมื่อเล่นจบเพลงสุดท้ายแล้ว เกมจะสรุปผล ถ้าคะแนนทำลายสถิติ ให้ลงชื่อไว้กับตู้
  • ฉากจบของเกม แสดงชื่อเพลงทั้งหมดที่อยู่ในตู้เพลง หรือ แสดงผู้จัดทำ

หมวดเล่นเป็นชุดเพลงต่อเนื่อง (Nonstop Mode)

เป็นหมวดเกมสำหรับเล่นเป็นชุดอย่างต่อเนื่อง เมื่อเล่นผ่าน 1 เพลงแล้วไปเล่นเพลงถัดไปทันทีโดยไม่ต้องกลับเข้าไปเลือกเพลงอีก หมวดนี้ สามรถเล่นเพลงต่อเนื่องได้ 3 ถึง 4 เพลงขึ้นไป

หมวดดวลประลอง (Challenging Mode)

ลักษณะคล้ายหมวดเล่นเป็นชุดเพลงต่อเนื่อง แต่จะเปลี่ยนจากแถบเต้น เป็นแถบแบตเตอรี่ ในขณะที่เล่นนั้น ผู้เล่นจะพลาดได้ไม่เกิน 4 ครั้ง ถ้าพลาดเกินกว่านั้นจะทำให้จบเกม ซึงหมวดนี้อาจจะไม่เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น

หมวดเกมประเภทเล่นตามบ้าน (Home Version)

แผ่นเต้นสำหรับเกมเต้นแบบเล่นตามบ้าน

เป็นหมวดเกมที่พบในเกมเต้นประเภทเล่นตามบ้าน โดยใช้เครื่องเกมต่าง ๆ ในแต่ละรุ่น และมีอุปกรณ์สำคัญคือ แผ่นเต้น (Dance Pad) ที่จะต้องเสียบเข้าเครื่องเกม เพื่อให้เล่นเกมเต้นได้อย่างถูกหลักการ หมวดเกมที่จัดอยู่ในประเภทเล่นตามบ้านมีดังนี้

หมวดเล่นไม่รู้จบ (Endless Mode)

เป็นหมวดที่เล่นเพลงเกมเต้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุด จนกว่าจะแพ้เกม ซึ่งเพลงที่เล่นออกมาเป็นแบบสุ่ม และสามารถพักการเล่น (Break Stage) ได้เมื่อเล่นครบ 5 ถึง 10 เพลงในแต่ละครั้ง (จำนวนเพลงเป็นค่าไม่แน่นอน แล้วการกำหนดค่าของผู้เล่น)

หมวดเล่นไม่จำกัด (Event Mode)

เป็นหมวดเล่นเพลงอย่างไม่จำกัดแล้วแต่ความพอใจของผู้เล่น เมื่อแพ้เกมก็จะกลับไปที่หน้าจอเลือกเพลง

หมวดแข่งขัน (Attack, Magic Dance Mode)

เป็นหมวดที่ต้องเล่นสองคน ถ้าเล่นคนเดียวจะมีระบบคอมพิวเตอร์มาเล่นให้ หมวดนี้ เป็นหมวดเล่น 2 คนแบบการแข่งขันกันว่าใครเต้นได้เก่งกว่ากัน โดยใช้ลูกเล่นเสริมมาโจมตีฝ่ายตรงข้าม เมื่อจบเพลง ใครมีคะแนนมากกว่า ฝ่านนั้นจะเป็นฝ่ายชนะ

หมวดภารกิจ (Mission Mode)

เป็นการเล่นแบบทำตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ถ้าทำสำเร็จจึงจะผ่านด่านได้ ลักษณะของหมวดนี้ จะมีเพลงให้เล่นท่อนส่วนหนึ่ง แล้วบอกแค่ให้ทำอะไรโดยที่จะกำหนดลูกเล่นเสริมทั้ง 2 แบบโดยผู้เล่นไม่รู้ และจะมาทราบทีหลังเมื่อเล่นไปแล้ว ตัวอย่างเช่น

  • ห้ามกดลูกศรขึ้น ในภาคภาษาอังกฤษอาจบอกว่า "Don't step on Up Arrow" หมายความว่า เวลาเล่นห้ามให้ผู้เล่นเหยียบลูกศรขึ้น ให้เหยียบลูกศรอื่นแทน ถ้าเล่นจนจบท่อนที่กำหนดของเพลงโดยไม่กดลูกศรขึ้น ถือว่าเล่นผ่านภารกิจ
  • เล่นให้ได้เกรด AA ขึ้นไป ในภาคภาษาอังกฤษอาจบอกว่า "Complete a song with AA or more" หมายความว่า ต้องเล่นให้ได้เกรด AA ขึ้นไป จึงจะผ่านภารกิจ
  • ห้ามเหยียบพลาดเป็น Miss ในภาคภาษาอังกฤษอาจบอกว่า "Complete a song without MISS judgement" หมายความว่า ห้ามเหยียบพลาด ซึ่งได้คำว่า MISS มิฉะนั้นจะแพ้เกม

การให้กระทำในหมวดภารกิจนั้น แค่ให้ผู้เล่นทำ แต่ผู้เล่นจะไม่ทราบว่าจะใช้ลูกเล่นเสริมอะไร ดังนั้นการใช้สายตาก็เป็นส่วนสำคัญอย่างมากในหมวดนี้

หมวดฝึกเล่น

หมวดฝึกเล่น เป็นหมวดสำหรับผู้เริ่มต้น ผู้เริ่มเล่นใหม่ควรเข้าเล่นหมวดนี้ ลักษณะลูกศรสำหรับหมวดฝึกเล่น เป็นลูกศรง่าย ๆ และเทคนิคเบื้องต้น สำหรับหมวดฝึกเล่นมีอยู่ 2 แบบคือ

หมวดฝึกเล่นแบบเก่า (Lesson Mode)

เป็นหมวดแบบฝึกหัดที่เล่นทีละด่าน มี 3 ระดับ ระดับละ 8 ด่าน การเล่นหมวดฝึกเล่นแบบเก่าเป็นดังนี้

  • เลือระดับที่ต้องการ
  • เลือกฝึกด่าน 1 ถึง 7 เลือกมาแล้วทำให้ผ่าน
  • ในด่านที่ 1 ถึง 7 นั้น เกมจะแสดงตัวอย่างการเล่นก่อนแล้วให้ผู้เล่นฝึกตาม 2 ครั้ง
  • การเล่นด่านที่ 8 นั้นต้องผ่านด่าน 1 ถึง 7 ก่อน จึงจะเข้าได้
หมวดฝึกเล่นแบบใหม่ (Tutorial Mode)

เกมเต้นสมัยใหม่ได้ทำการปรับเปลี่ยนหมวดฝึกเล่นให้ผู้เริ่มต้นเข้าใจในการเล่นยิ่งขึ้น เมื่อเข้าสู่หมวดนี้จะมีเสียงพากษ์อธิบายการเล่น ถ้าผ่านก็จะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป ขั้นตอนการเล่นในหมวดฝึกเล่นสมัยใหม่เป็นดังนี้

  • ดูตำแหน่งของลูกศร และลักษณะการเหยียบลูกศรเบื้องต้น การฝึกเหยียบแต่ละครั้ง ระบบจะแสดงตัวอย่างให้ดู ขั้นตอนละ 1 รอบ
  • ฝึกเหยียบลูกศรทั้ง 4 อย่าง (ซ้าย ขวา ขึ้น ลง ตามลำดับ) ครั้งแรก โดยมีเส้นนำ ครั้งที่สองไม่มีเส้นนำ
  • ฝึกเหยียบลูกศรกระโดด (ซ้าย-ขวา และ ขึ้น-ลง ตามลำดับ) ครั้งแรก โดยมีเส้นนำ ครั้งที่สองไม่มีเส้นนำ
  • ฝึกเหยียบลูกศรค้าง (ซ้าย กับ ขวา) ตามลำดับ ครั้งแรก โดยมีเส้นนำ ครั้งที่สองไม่มีเส้นนำ
  • เมื่อผ่านแล้ว เลือกเพลง 1 เพลงในระดับเริ่มต้น

หมวดฝึกซ้อม (Training Mode)

เป็นหมวดที่มีในเกมเต้นประเภทเล่นตามบ้านทุกภาค ลักษณะของหมวดคือ เลือกเพลงมา 1 เพลง แล้วปรับตัวเลือกต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ ขั้นตอนการใช้หมวดฝึกซ้อมมีดังนี้

การปรับแต่งตัวเลือก

ลักษณะการปรับแต่งตัวเลือกสำหรับหมวดฝึกซ้อมมีดังนี้

  • เลือกเพลงที่ต้องการมา 1 เพลง
  • เลือกรูปแบบการเล่น
  • เลือกระดับความยาก
  • เครื่องช่วยฝึก เป็นเครื่องมือที่ฝึกให้เล่นง่ายขึ้น มี 3 อย่างคือ
    • เสียงเพลง มีเปิด (ON) กับปิด (OFF) ถ้าเปิด ก็จะมีเสียงเพลงตามปกติ
    • ตัวนับจังหวะ ถ้าเปิด จะมีเสียงนับตามจังหวะเต็มของเพลง โดยจังหวะที่ 1 จะมีเสียงต่างออกจากจังหวะที่ 2 ถึง 4
    • เสียงมือปรบ ถ้าเปิด จะมีเสียงปรบมือเมื่อมีลูกศรขึ้นมาอยู่ตรงจุดเหยียบ การเปิดตัวเลือกนี้ทำให้ง่ายต่อการเล่นมากยิ่งขึ้น
  • ความเร็วเพลง มี 1 ถึง 5, โดยที่ 5 เป็นความเร็วปกติ ส่วน 1 เป็นความเร็วช้าสุด
  • ลูกเล่นเสริม เมื่อกดปุ่มยืนยัน จะมีลูกเล่นเสริมแบบปกติให้ปรับแต่งได้
  • ห้องจังหวะเริ่มต้น (First Bar) กดปุ่มซ้ายหรือขวาเพื่มเริ่มในจุดที่ต้องการ
  • ห้องจังหวะสุดท้าย (Last Bar) กดปุ่มซ้ายหรือขวาเพื่อให้หยุดเล่นในจุดการ
  • การเล่นจากต้นจนจบ จะประมวลว่าจะเล่นเรื่มตั้งแต่ตรงไหนถึงตรงไหน ถ้ากดซ้าย จะเป็นการเล่นทั้งเพลง ส่วนกดขวา จะเป็นการเล่นตามจุดที่เลือกไว้
  • แผงลูกศรกำหนดเอง (Edit Data) ถ้ากดปุ่มยืนยัน ก็จะเข้าไปเลือกแผงลูกศรที่ผู้เล่นสร้างขึ้นมาเองในหมวดสร้าง (Edit Mode) มาใช้ในการฝึกซ้อม
  • เริ่มเล่น (Start) กดตรงนี้เพื่อทำการฝึกซ้อมตามตัวเลือกที่ปรับแต่งไปแล้ว วิธีลัดคือกดปุ่มเริ่ม (Start) แล้วเล่นจนจบ (ไม่มีการแพ้เกม)
การแสดงผลหลังการเล่น

การแสดงผลหลังการเล่นในหมวดฝึกซ้อมนั้น จะแสดงเหมือนเล่นปกติ ถ้ากดปุ่มยืนยัน จะมีตัวเลือกออกมา 3 อย่างคือ เล่นอีกครั้ง (Again) , ตรวจสอบ (Check) , และ กลับสู่เมนู (Menu) ลักษณะการใช้มีดังนี้

  • เล่นอีกครั้ง (Again) ถ้าเลือกตัวเลือกนี้ จะไปเล่นใหม่อีกครั้ง
  • ตรวจสอบ (Check) เป็นการตรวจสอบความแม่นยำของการเหยียบลูกศร จะแสดงให้ดูว่าอันใดที่เหยียบพลาด โดยแสดงลูกศรออกมาเป็นสีดังนี้
    • สีขาวคล้ายเหลือง หมายความว่าเหยียบได้ Marvelous
    • สีเหลือง หมายความว่าเหยียบได้ Perfect
    • สีเขียว หมายความว่าเหยียบได้ Great
    • สีฟ้า หมายความว่าเหยียบได้ Good
    • สีชมพู หมายความว่าเหยียบได้ Boo (หรือ Almost ในภาคภาษาอังกฤษ)
    • สีแดง หมายความว่าเหยียบได้ Miss (หรือ Boo ในภาคภาษาอังกฤษ)
    • นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบการเหยียบอีกแบบหนึ่ง เมื่อผู้เล่นกด "เลือก (Select)" จะมีการเปลี่ยนสีเล็กน้อย แต่ความหมายจะเปลี่ยนเป็นดังนี้
      • สีเหลือง หมายความว่า เหยียบได้ตรงจังหวะ (เหยียบได้ Marvelous, Perfect)
      • สีฟ้า หมายความว่า เหยียบเร็วกว่าจังหวะ (เหยียบได้ Great, Good, Boo)
      • สีชมพู หมายความว่า เหยียบช้ากว่าจังหวะ (เหยียบได้ Great, Good, Boo)
      • สีแดง หมายความว่า พลาดจากการเหยียบลูกศร (เหยียบได้ Miss)
  • กลับสู่เมนู (Menu) ถ้าเลือกตัวเลือกนี้ จะกลับเข้าไปที่เมนูปรับแต่งตัวเลือกเหมือนเดิม

หมวดออกกำลังกาย (Workout Mode)

เป็นหมวดที่ช่วยในการออกกำลังกาย ลักษณะจะคล้ายหมวดเล่นไม่จำกัด (Event Mode) แต่จะมีที่วัดการเผาผลาญของแคลอรี่ของผู้เล่น รวมไปถึงการเปรียบเทียบค่ากับการออกกำลังกาย 3 อย่างคือ กระโดดเชือก วิ่ง และว่ายน้ำ ขั้นตอนการใช้หมวดออกกำลังกายมีดังนี้

การปรับแต่งตัวเลือก

การตั้งค่าสำหรับหมวดออกกำลังกายเบื้องต้นมีดังนี้

  • ปรับค่าน้ำหนักของตัวเอง (Weight) ค่าที่ปรับจะแสดงเป็น ปอนด์ หรือ กิโลกรัม
  • เป้าหมายในการออกกำลังกาย (Goal) สามารถปรับได้เป็นดังนี้
    • การเผาผลาญของแคลอรี่ (Calorie Burn)
    • ระยะเวลาที่จะเล่น (Time Passed)
    • ไม่จำกัดความ (Off)
  • ค่าของเป้าหมาย (Value) เป็นการปรับค่าตามเป้าหมายในการออกกำลังกาย (Goal) ถ้าเลือกเป้าหมายเป็น การเผาผลาญของแคลอรี่ (Calorie Burn) เกมจะให้ผู้เล่นใส่ค่า เป็นแคลอรี ถ้าปรับค่าเป็น 150 หมายความว่า เป้าหมายในการเผาผลาญอยู่ที่ 150 แคลอรี
  • ลูกศรแบบออกกำลังกาย (Workout Step) ให้ปรับว่าเป็นเปิดหรือปิด ถ้าเปิดจะมีผลเหมือนลูกเล่นเสริม น้อย (Little) คือ ลบลูกศรน้อยจังหวะให้เหลือลูกศรเต็มจังหวะ
  • โปรแกรมการเล่น มีให้เลือกอยู่ 2 อย่างคือ แบบทีละเพลง (Free) และเล่นต่อเนื่อง (Course)

เมื่อเสร็จจากการปรับค่าแล้วให้เลือก OK แล้วเล่นได้ (ไม่มีการแพ้เกม)

การแสดงผลหลังการเล่น

หลังจากเล่นไปแล้วเกมจะแสดงผลดังนี้

  • มุมมองผลการเล่น แสดงค่าต่าง ๆ ดังนี้
    • เป้าหมายที่เหลือ คือจำนวนแคลอรี่หรือระยะเวลาที่จะต้องเล่นอีกว่าเหลือเท่าไหร่
    • การเผาผลาญของแคลอรีโดยรวม
    • ระยะเวลาที่เล่นไปทั้งหมด
    • เทียบจากการวิ่ง เทียบจากการเผาผลาญเป็นวิ่งได้กี่ไมล์
    • เทียบจากกระโดดเชือก เทียบจากการเผาผลาญเป็นโดดเชือกกี่ครั้ง
    • เทียบจากการว่ายน้ำ เทียบจากการเผาผลาญเป็นว่ายน้ำได้กี่ไมล์
  • มุมมองแบบสมุดบันทึก (Workout Diary) สามารถเปลี่ยนมุมมองได้ด้วยการกดเลือก (Select) มุมมองนี้เป็นมุมมองการแสดงกราฟแท่ง โดยที่สีฟ้าเป็นผู้เล่น 1 ส่วนสีชมพูเป็นผู้เล่นที่ 2 ถ้ากดเริ่ม (Start) จะแสดงเส้นกราฟของน้ำหนักของผู้เล่นนั้น ๆ, การแสดงผลแบบนี้เป็นการแสดงผลรายวัน ถ้าผู้เล่นมีน้ำหนักลดลง เส้นกราฟก็จะลดลงไปตามนั้น

หลังจากการแสดงผลแล้ว ผู้เล่นสามารถเล่นต่อ หรือออกจากหมวดนี่ได้

หมวดงานเลี้ยง (Party Mode)

เป็นหมวดมินิเกมเล็ก ๆ เพื่อสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้เล่นหลาย ๆ คนที่กำลังมีงานเลี้ยง (ปาร์ตี้) ในหมวดนี้ สามารถเล่นกับอุปกรณ์เสริมกล้องอายทอยส์ (EyeToys) ได้ หมวดนี้จึงมีขึ้นในเกมเต้นของเพลย์สเตชัน 2 เป็นบางรุ่นเท่านั้น เมื่อเข้าสู่หมวดนี้จะแบ่งเป็น 2 หมวดย่อยดังนี้

หมวดมินิเกมแบบไม่ใช้อุปกรณ์เสริมกล้อง EyeToys

เป็นหมวดมินิเกมที่ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เสริม แต่จะเล่นกับแผ่นเต้น มินิเกมที่มีในหมวดย่อยมีดังนี้

  • วิ่งแข่ง (Hyper Dash) วิธีการเล่นคือ ผู้เล่นทั้ง 2 คนจะต้องบังคับตัวละครวิ่งแข่งโดยการเหยียบแป้นซ้ายและขวาสลับกัน หากฝ่ายใดเป็นผู้ตามจะมีคำสั่งให้กดลง ถ้ากดแล้วจะมีอุกกาบาตไปกระแทกลานวิ่งของฝ่ายตรงข้ามทำให้เป็นหลุม ทำให้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามตกหลุมได้ สำหรับการป้องกันการตกหลุมคือ กดขึ้น จะทำให้ตัวละครกระโดด ใครที่วิ่งไปถึงเส้นชัยก่อน จะเป็นฝ่ายชนะ, ในกรณีที่เล่นคนเดียว ผู้เล่นสามารถเล่นกับระบบคอมพิวเตอร์ และจะมีการแข่งขันแบบ 10 เกม ฝ่ายใดที่ชนะมากที่สุดจะเป็นฝ่ายชนะ
  • ป้อนอาหารสัตว์ (Feeding Time) วิธีการเล่นคือ ให้ผู้เล่นทั้ง 2 คน ป้อนอาหารสัตว์ 4 อย่างด้วยกันคือ สุนัข แมว กระต่าย และ กบ โดยจะต้องเลือกอาหารที่ตรงกับสัตว์นั้น ๆ คือ สุนัขกินกระดูก แมวกินปลา กระต่ายกินแครอท และ กบกินแมลงปอ, อาหารสัตว์ดังกล่าว จะประจำตำแหน่งที่แป้นหยียบในเกมแบบสุ่ม เช่น แป้นลูกศรขึ้นเป็นกระดูก หมายความว่า ถ้าสัตว์ที่จะต้องป้อนเป็นสุนัข จะต้องกดลูกศรขึ้นซึ่งอาหารสัตว์ประจำตำแหน่งเป็นกระดูก ถ้าป้อนถูก จะทำให้ได้คะแนนและสามารถป้อนสัตว์ตัวอื่นได้ทันที การแข่งขันแบบนี้ใช้เวลาจำกัด 60 วินาที (หรือ 1 นาที) เมื่อเวลาหมดแล้ว ใครทำคะแนนมากกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ, ในกรณีที่เล่นคนเดียว ผู้เล่นสามารถเล่นกับระบบคอมพิวเตอร์ได้เช่นกัน
  • การเล่นสองคนสำหรับหมวดย่อยนี้ ให้เลือกมินิเกมที่มีคำว่า "Versus" กำกับอยู่
หมวดมินิเกมแบบใช้อุปกรณ์เสริมกล้อง EyeToys

เป็นหมวดมินิเกมที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เสริมกล้อง EyeToys เมื่อติดตั้งแล้ว ผู้เล่นสามารถกระทำสื่งต่าง ๆ ในหน้าจอให้เกิดผลลัทธ์ได้ และสามารถถ่ายภาพผู้เล่นเข้าไปอยู่ในจอได้ สำหรับมินิเกมที่มีในหมวดย่อยมีดังนี้

  • ดูฉันเต้น (Watch Me Dance) เป็นการเล่นเกมเต้นตามปกติ แต่จะทำให้เห็นผู้เล่นเต้นในจอด้วย
  • กวาดล้างหน้าจอ (Clean The Screen) เป็นการเล่นเกมเต้นตามปกติ แต่เพิ่มความสนุกสนานคือการใช้มือปัดกวาดหน้าจอที่มีฟองอากาศบังอยู่ ถ้าไม่ปัดกวาดหน้า จอจะทำให้ฟองอากาศบังลูกศรจนมองไม่เห็น
  • มือและเท้า (Hands And Feet) เป็นการเล่นเกมเต้นตามปกติเช่นกันแต่เพิ่มจุดเหยียบโดยการใช้มือซ้ายและมือขวาแตะตรงจุดเหยียตรงหน้าจอ ส่วนเท้าเหยียบลูกศรตามปกติ
  • ลูกบอลวิเศษ (Magical Ball) วิธีการเล่นคือ ใช้มือของผู้เล่นประคับประของลูกบอลในจอให้ไปกระดอนกำแพงให้หมด
  • มะพร้าวปั่นป่วน (Coconut Panic) วิธีรการเล่นคือ ให้เขย่าต้นมะพร้าว ให้มีลูกมะพร้าวตกลงมา แล้วใช้มือเก็บลูกมะพร้าวให้ได้มากที่สุดในเวลา 1 นาที

หมวดเกมประเภทปรับแต่ง

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

หมวดเกมประเภทนี้จัดอยู่ในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้เล่นเป็นหลัก และเป็นหมวดที่ใช้ในการปรับแต่งค่าต่าง ๆ ของเกมเต้นแบบเล่นตามบ้าน (Home Version) หมวดเกมประเภทปรับแต่งจะมีดังนี้

หมวดสร้าง (Edit Mode)

เป็นหมวดที่ผู้เล่นสามารถกำหนดแผงลูกศรเองได้ เมื่อกำหนดเสร็จแล้ว สามารถนำไปใช้ในหมวดเกมอื่น ๆ ได้ แต่จะต้องมีแผ่นบันทึกข้อมูล (Memory Card) สำหรับเรื่องเพลย์สเตชัน (1 หรือ 2) ก่อน จึงจะสามารถบันทึกได้ สำหรับการใช้หมวดสร้างแผงลูกศรเกมเต้น (ในเครื่อง เพลย์สเตชัน 2) มีเมนูคำสั่งต่อไปนี้

  • สร้างแฟ้มข้อมูลขึ้นมาใหม่ (New Data) สร้างแผงลูกศรใหม่โดยเลือกเพลงที่ต้องการมา 1 เพลง
  • โหลดแฟ้มข้อมูลเดิม (Load) เปิดแฟ้มข้อมูลเดิมที่เคยสร้างไว้
  • ดูที่เก็บภายใน (Library Manager) จัดการข้อมูลของแฟ้มข้อมูลภายใน
  • ดูที่เก็บภายนอก (Outside Manager) จัดการข้อมูลของแฟ้มข้อมูลภายนอก
  • ช่วยเหลือ (Guide) ดูข้อมูลการใช้งานสำหรับหมวดนี้
  • ออก (Exit) ออกจากหมวดสร้าง

สถิติ (Records)

หมวดนี้เป็นการแสดงสถิติการเล่นเกมเต้นในแต่ละครั้งของผู้เล่น ซึ่งจะมีการแสดงสถิติของเพลง ชุดเพลงต่อเนื่อง และอื่น ๆ

การปรับแต่ง (Options)

เป็นหมวดสำหรับการปรับแต่งค่าต่าง ๆ สำหรับเกมเต้นประเภทเล่นตามบ้านได้ตามต้องการของผู้เล่น ซึ่งจะมีเมนูการปรับคำสั่งดังต่อไปนี้

  • ตัวเลือกการตั้งค่าเสียง (Sound Options) เป็นตัวเลือกของการปรับเสียงต่าง ๆ ของค่าเกม ซึ่งจะมีคำสั่งย่อยดังนี้
    • ระบบเสียง สามารถปรับได้เป็น เสตอริโอ หรือ โมโนรัล
    • ปรับค่าเสียงพากษ์ (Voice) เป็นการปรับค่าของเสียงพากษ์ได้ดังนี้
      • เปิดทั้งหมด (All) เป็นการเปิดเสียงพากษ์ขณะเล่นเกมเต้นทั้งหมด
      • ปิด (Off) เป็นการปิดเสียงพากษ์ขณะเล่นเกมเต้น
      • ไม่มีการโห่ (No Booting) ทุกครั้งที่ผู้เล่น เล่นได้แย่จนแถบใกล้จะหมด หรือพลาดหลายครั้ง จะทำให้มีเสียงพากษ์ พากษ์ผู้เล่นไปทางด้านลบ หรือมีเสียงโห่ออกมา ถ้าเลือกตัวเลือกนี้แล้ว จะตัดเสียงโห่ออกไป และไม่มีพากษ์การเล่นในด้านลบ, การเปิดตัวเลือกนี้ สามารถทำให้ผู้เล่นไม่เสียกำลังใจและสุขภาพจิตได้ ทุกครั้งที่เล่นพลาด
    • ตัวเลือกการเทียบเสียง (Thiming Options) เป็นการเลือกให้เทียบเสียงตรงกับลูกศร โดยปกติแล้วค่านี้จะเป็น 0 ถ้าปรับค่าให้เป็นจำนวนลบ จะทำให้ลูกศรมาเร็วกว่าเพลง, ถ้าปรับค่าให้เป็นจำนวนบวก จะทำให้ลูกศรมาช้ากว่าเพลง ตัวเลือกนี้ ผู้เล่นสามารถปรับค่าได้ตั้งแต่ -16 ถึง +16
  • ตัวเลือกปุ่มบังคับ (Controller Options) เป็นการปรับตั้งค่าสำหรับปุ่มบังคับของการเล่นเกมเต้น ซึ่งจะมีคำสั่งย่อยดังนี้
    • การปรับปุ่มสำหรับหมวดควบสอง (Double Play Settings) เป็นการปรับปุ่มในการเล่นหมวดควบสองแท่น
    • การรับค่าเกมเต้น (Dance Play Settings) เป็นการปรับการรับค่าของเกมว่าจะให้รับค่าจากผู้เล่นที่ 1 หรือ 2 หรือไม่ โดยมีตัวเลือกเปิด (ON) หรือ ปิด (OFF) สำหรับค่าผู้เล่น 1 หรือ 2
  • ตัวเลือกการบันทึกและโหลดข้อมูล (Save & Load) เกมเต้นนประเภทเล่นตามบ้านนั้น มีความจำเป็นในการบันทึกข้อมูลผ่านแผ่นบันทึกของมูลของเครื่องเพลย์สเตชัน เพื่อสามารถเล่นเพลงลับต่อไปได้ สำหรับตัวเลือกดังกล่าว มีเมนูคำสั่งย่อยดังนี้
    • บันทึกข้อมูล (Save) เลือกคำสั่งนี้จะเป็นการบันทึกข้อมูลลงแผ่นบันทึกของมูล (มีการถามยืนยันก่อนที่ผู้เล่นจะบันทึก)
    • โหลดข้อมูล (Load) เลือกคำสั่งนี้จะเป็นการเรียกข้อมูลเดิมที่บันทึกไว้ล่าสุดจากแผ่นบันทึกของมูล (มีการถามยืนยันก่อนที่ผู้เล่นจะโหลด)
    • บันทึกอัตโนมัติ (Auto Save) มีตัวเลือก เปิด (ON) หรือ ปิด (OFF) เมื่อเปิดคำสั่งนี้จะเป็นการบันทึกข้อมูลอัตโนมัติ เมื่อออกจากหมวดเกมต่าง ๆ แล้ว ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล เกมจะบันทึกทันที
    • เรียกใช้ลูกศรกำหนดเอง (Edit Folder Load) มีตัวเลือก เปิด (ON) หรือ ปิด (OFF) เมื่อเปิดคำสั่งนี้ ผู้เล่นสามารถเรียกแผงลูกศรกำหนดเองจากหมวดสร้าง (Edit Mode) มาใช้ในหมวดเกมปกติ (Game Mode) ได้

บริการข้อมูล

เป็นหมวดที่ให้การช่วยเหลือสำหรับผู้เล่น ในเกมเต้นในแต่ละภาคจะมีข้อมูลเพลงที่ปลดล็อกได้ ข้อมูลตัวละคร ข้อมูลการเล่นต่าง ๆ ในเกมเต้นประเภทเล่นตามบ้าน เมื่อผู้เล่นซื้อมาครั้งแรก จะแสดงข้อความขอบคุณที่ผู้เล่นซื้อสินค้าในหมวดนี้เมื่อเปิดเกม

ผู้จัดทำ

เมื่อเข้าหมวดนี้จะแสดงรายชื่อผู้จัดทำเกมเต้นภาคที่ผู้เล่นใช้เล่นอยู่

ใกล้เคียง

แดนซ์ แดนซ์แดนซ์เรโวลูชัน แดนซ์ยัวร์แฟตออฟ เต้น..เปลี่ยนชีวิต ซีซั่นที่ 3 แดนซ์ยัวร์แฟตออฟ เต้น..เปลี่ยนชีวิต ซีซั่นที่ 1 แดนซ์ แดนซ์ แดนซ์ ไทยแลนด์ แดนซ์เอโวลูชัน แดนซ์ยัวร์แฟตออฟ เต้น..เปลี่ยนชีวิต ซีซั่นที่ 2 แดนซ์แดนซ์เรโวลูชัน เซคเคินมิกซ์ แดนซ์แดนซ์เรโวลูชัน (วิดีโอเกม พ.ศ. 2541) แดนซ์ยัวร์แฟตออฟ เต้น..เปลี่ยนชีวิต