ขึ้นสู่อำนาจ ของ แทว็อนกุนฮึงซ็อน

เมื่อพระเจ้าโคจงขึ้นครองราชย์ ตระกูลคิมแห่งอันดงซึ่งครอบครองตำแหน่งระดับสูงต่าง ๆ อยู่ในขณะนั้นก็ถูกขับออกจากราชสำนักไปจนเกือบหมดสิ้น โดยที่มีตระกูลโจแห่งพุงยางนำโดยพระอัยยิกาตระกูลโจและโจโดซุน (เกาหลี: ) ขึ้นมามีอำนาจแทน อย่างไรก็ตามแทว็อนกุนก็ได้ทรงแสดงศักยภาพโดยการยึดอำนาจการปกครองจากตระกูลโจมาไว้แก่ตนเอง โดยแทว็อนกุนทรงสามารถดำเนินการปฏิรูปการปกครองของราชสำนักโชซอน ซึ่งเสื่อมลงและเต็มไปด้วยการทุจริตจากการปกครองของราชนิกูลแบบเซโด โดยมีพื้นฐานบนหลักของลัทธิขงจื้อ และแก้ไขปัญหาการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของขุนนาง โดยแทว็อนกุนได้กำจัดต้นเหตุแห่งการแบ่งฝักฝ่ายของขุนนางคือ สำนักปราชญ์ขงจื้อต่าง ๆ ตามหัวเมืองเรียกว่า ซอวอน (เกาหลี: 서원 書院) โดยแทว็อนกุนทรงสั่งปิด ซอวอน ทั่วอาณาจักรโชซอนกว่าสี่ร้อยแห่ง ท่ามกลางการประท้วงของขุนนางและนักปราชญ์ต่าง ๆ เพราะนอกจากจะเป็นที่ปลูกฝังความคิดแบ่งฝ่ายแล้ว ซอวอน ยังเป็นสถานที่สำหรับเซ่นไหว้บูชานักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงชาวจีนและชาวเกาหลีต่าง ๆ ซึ่งแทวอนกุนได้ทำการตอบโต้ว่า "...ข้าจะไม่ยอมรับแม้แต่การฟื้นคืนชีพของขงจื้อ ถ้าหากว่านั่นจะเป็นการทำร้ายประชาชน..."[3] จึงกล่าวได้ว่าการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของขุนนางเกาหลีที่ดำเนินมานานหลายร้อยปี สิ้นสุดลงในสมัยของแทวอนกุนนั้นเอง

ค.ศ. 1865 แทว็อนกุนทรงมีโครงการที่จะย้ายพระราชวังจากพระราชวังชังด็อกกลับไปยังพระราชวังคย็องบก ซึ่งได้ถูกเผาทำลายเสียหายไปเมื่อครั้งการบุกครองเกาหลีของญี่ปุ่น (พ.ศ. 2135–2141) เมื่อกว่าสามร้อยปีก่อนโดยที่มิได้มีการบูรณะ แต่ทว่าราชสำนักโชซอนไม่มีงบประมาณพอที่จะทำการซ่อมแซมบูรณะพระราชวังใหม่ แทว็อนกุนจึงทรงให้มีการเก็บภาษีจากชนชั้นขุนนาง ยังบัน ซึ่งแต่เดิมชนชั้นขุนนางได้รับการยกเว้นภาษีเสมอมา สร้างความไม่พอใจให้แก่ชนชั้น ยังบัน เป็นอย่างมากแต่เป็นการแบ่งเบาภาระของประชาชน และการเก็บภาษีนี้ยังทำให้อำนาจทางเศรษฐกิจของชนชั้น ยังบัน อ่อนแอลง หลังจากที่ใช้เวลาบูรณะสองปี พระราชวังคย็องบกก็เสร็จสิ้นในค.ศ. 1867 พระเจ้าโคจง แทว็อนกุน และพระอัยยิกาตระกูลโจจึงเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับยังพระราชวังใหม่

การรุกรานของชาวตะวันตก

ดูบทความหลักที่: พยองอินยังโย และ ชินมียังโย

ความท้าทายอย่างใหญ่หลวงที่สุดของราชสำนักเกาหลีในสมัยของแทว็อนกุนคือ ความพยายามของชาติตะวันตกในการติดต่อค้าขายกับอาณาจักรโชซอน ซึ่งอาณาจักรโชซอนยึดถือนโยบายปิดประเทศไม่ข้องแวะกับชาวต่าชาติใด ๆ (ยกเว้นราชวงศ์ชิงและญี่ปุ่น) จนได้รับฉายาว่า อาณาจักรฤๅษี (The Hermit Kingdom) และปัญหาการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในเกาหลีช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 อันจะเป็นภัยคุกคามต่อลัทธิขงจื้อที่ราชสำนักยึดถือเป็นหลักสำคัญมาช้านาน ทำให้ราชสำนักโชซอนนั้นมีทัศนคติที่ไม่สู้ดีนักกับชาวตะวันตกและวิทยาการตะวันตกโดยรวม

ในความพยายามที่จะกำจัดคริสต์ศาสนาออกไปจากเกาหลี ในค.ศ. 1866 หลังจากที่ราชวงศ์ชิงได้พ่ายแพ้ในสงครามฝิ่นครั้งที่สอง ชาติตะวันตกเริ่มให้ความสนใจแก่อาณาจักรโชซอน โดยรัสเซียได้ส่งเรือรบเข้ามาหวังเปิดการเจรจาการค้า ทำให้ในปีนั้นแทว็อนกุนทรงตัดสินพระทัยดำเนินกวาดล้างชาวคริสเตียนในเกาหลี โดยมีการประหารชีวิตบาทหลวงซีเมอง-ฟรองซัว แบร์โนซ์ (Siméon-François Berneux) หัวหน้าสมาคมมิชชันนารีต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (Société des Missions Étrangères de Paris) ในเกาหลี ชาวคริสเตียนที่หลุดรอดไปได้เดินทางไปพบปิแอร์-กุสตาฟ โรเซอ (Pierre-Gustave Roche) นายพลเรือฝรั่งเศสที่กรุงปักกิ่ง โรเชอจึงตัดสินใจรุกรานโชซอนในทันที ทัพเรือของโรเซอบุกยึดได้เกาะคังฮวา แต่กระแสน้ำแปรปรวนและแม่น้ำฮันตื้นเขินเกินกว่าจะล่องเรือไปได้ทำให้โรเซอยกทัพไปไม่ถึงเมืองฮันยาง โรเซอมีพยายามจะยกทัพขึ้นฝั่งอยู่หลายครั้งแต่ถูกกองทัพโชซอนต่อต้านอย่างรุนแรงจึงถอยกลับไปในที่สุด การบุกเกาหลีของฝรั่งเศสครั้งนี้เรียกว่า พยองอินยังโย (เกาหลี: 병인양요) หรือ การรุกรานของชาวตะวันตกในปีพยองอิน

ในปีค.ศ. 1866 เช่นกัน บริษัทอังกฤษแห่งหนึ่งในจีน ต้องการที่จะทำสัญญาการค้ากับโชซอน จึงส่งเรือรบชื่อว่าเจเนอรัล เชอร์แมน (General Sherman) ซึ่งเป็นเรือรบของสหรัฐอเมริกามายังโชซอน ซึ่งเรือเจเนอรัล เชอร์แมนถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากทางการโชซอนโดยการส่งทัพมาโจมตีและเผาเรือเจเนอรัล เชอร์แมน อีกห้าปีต่อมาในค.ศ. 1871 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงส่งทัพเรือส่วนหนึ่งจากกองกำลังภาคเอเชีย (Asiatic Squadron) นำโดยนายจอห์น ร็อดเจอร์ส (John Rodgers) มายังโชซอน เพื่อเจรจาขอชดเชยค่าเสียหายจากกรณีเรือเจเนอรัล เชอร์แมน แต่ด้วยการสื่อสารที่ไม่ได้ผลทำให้เมื่อทัพเรือสหรัฐอเมริกาเข้าสู่แม่น้ำฮัน ชาวโชซอนเข้าใจว่าทัพเรือสหรัฐฯ จะมาบุกยึดเมืองฮันยางจึงยิงปืนเข้าใส่ ทัพสหรัฐอเมริกาตอบโต้ด้วยการบุกยึดเกาะคังฮวา และโจมตีเมืองต่าง ๆ ของโชซอน และได้จับชาวโชซอนเป็นเชลยไว้จำนวนมาก จึงคิดจะให้เป็นข้อแลกเปลี่ยนในการทำสัญญาทางการค้า แต่ทางราชสำนักไม่สนใจชีวิตของตัวประกันและยังคงยืนยันจะปิดประเทศต่อไป เมื่อการเจรจาไม่ได้ผลทัพเรืออเมริกาจึงถอยทัพกลับ การบุกเกาหลีของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้เรียกว่า ชินมียังโย (เกาหลี: 신미양요) การรุกรานของชาวตะวันตกในปีชินมี