สูญเสียอำนาจ ของ แทว็อนกุนฮึงซ็อน

ค.ศ. 1866 เมื่อพระเจ้าโกจงมีพระชนมายุสิบห้าชันษาถึงเวลาอภิเษกสมรส พระอัยยิกาตระกูลโจและแทว็อนกุนฮึงซ็อน พระบิดาของพระเจ้าโกจงเป็นผู้คัดเลือกพระมเหสีองค์ใหม่ พระชายาของแทว็อนกุนคือ พระชายายอฮึง (เกาหลี: 여흥부대부인 驪興府大夫人) ได้แนะนำสตรีจากตระกูลของพระนาง เป็นบุตรสาวของมินชีรก (เกาหลี: 민치록 閔致祿) ให้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าโกจง ซึ่งแทว็อนกุนฮึงซ็อนนั้นก็เห็นด้วยเนื่องจากว่าเป็นตระกูลของพระชายาของเจ้าชายแทวอนเอง ซึ่งเป็นตระกูลที่มีอิทธิพลและบทบาทในราชสำนักน้อย ไม่น่าจะเป็นภัยคุกคามต่อแทว็อนกุนในอนาคต แต่ปรากฏว่าพระมเหสีองค์ใหม่จากตระกูลมิน (จักรพรรดินีมย็องซ็อง) กลับเข้ามาแทรกแซงกิจการบ้านเมืองและนำตระกูลมินแห่งยอฮึงเข้ามามีอำนาจในราชสำนักแข่งขันกันกับแทว็อนกุน

ค.ศ. 1868 พระสนมควีอินระกูลลี (เกาหลี: 귀인이씨 貴人李氏) ประสูติพระโอรสองค์แรกแด่พระเจ้าโคจงพระนามว่า เจ้าชายวานฮวา (เกาหลี: 완화군 完和君) ซึ่งเจ้าชายแทวอนประสงค์จะแต่งตั้งเจ้าชายวานฮวาเป็นเจ้าชายรัชทายาท พระมเหสีมินประสูติพระโอรสองค์แรกของพระองค์เองแต่ทว่าสิ้นพระชนม์ลงเมื่อพระชนมายุเพียงสามวัน เจ้าชายแทวอนตำหนิพระมเหสีมินว่าทรงไม่อาจทำหน้าที่ของภรรยาที่ดีได้ ในขณะที่พระมเหสีมินตรัสโทษโสมของเจ้าชายแทวอนที่ประทานแก่พระโอรสว่าเป็นต้นเหตุการสิ้นพระชนม์ ในค.ศ. 1873 กลุ่มขุนนางตระกูลมินได้สนับสนุนให้ขุนนางชื่อว่า ชเวอิกฮยอน (เกาหลี: 최익현 崔益鉉) ถวายฏีกาตำหนิการปกครองของเจ้าชายแทวอนว่ามีการทุจริตฉ้อฉล และร้องขอให้พระเจ้าโคจงทรงปกครองประเทศด้วยพระองค์เองเนื่องจากมีพระชนมายุเกินยี่สิบชันษาแล้ว พระเจ้าโคจงจึงทรงประกาศว่าจะว่าราชการด้วยพระองค์เอง เป็นเหตุให้เจ้าชายแทวอนต้องทรงพ้นสภาพจากการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนไปโดยปริยาย[4] เมื่อทรงสูญเสียอำนาจให้แก่พระสุนิสา (ลูกสะใภ้) แล้ว แทว็อนกุนก็เสด็จย้ายไปประทับที่พระราชวังอุนฮยอน

หลังจากที่สูญเสียอำนาจไปแล้วนั้น แทว็อนกุนยังทรงหาทางกอบกู้อำนาจคืนจากพระมเหสีมินและตระกูลมินอยู่เสมอ ในค.ศ. 1881 แทว็อนกุนทรงร่วมกับขุนนางผู้สมรู้ร่วมคิดจำนวนหนึ่งวางแผนการก่อกบฏยึดอำนาจจากพระเจ้าโคจงและพระมเหสีมิน พร้อมทั้งยกให้องค์ชายวานึง (เกาหลี: 완은군 完恩君) พระโอรสองค์โตผู้เป็นพระเชษฐาของพระเจ้าโคจงเป็นกษัตริย์แทน แต่ทว่าแผนการกลับล่วงรู้ไปถึงพระมเหสีมินเสียก่อน จึงมีการจับกุมลงโทษประหารชีวิตผูสมรู้ร่วมคิด รวมทั้งองค์ชายวานึงถูกสำเร็จโทษประหารชีวิตไปเช่นกัน ส่วนแทว็อนกุนในฐานะพระราชบิดาจึงไม่มีผู้ใดสามารถเอาผิดได้

ในค.ศ. 1882 ในเหตุการณ์กบฏปีอีโม (เกาหลี: 임오군란) ทหารเก่าไม่พอใจการปฏิรูปของพระมเหสีมินได้ยกทัพเข้ายึดพระราชวังคย็องบก และถวายคืนอำนาจให้แด่แทว็อนกุน แต่ทว่าพระมเหสีได้ทรงร้องขอความช่วยเหลือจากจีนราชวงศ์ชิง ได้ส่งกองทัพจำนวน 4,500 นำโดยหลี่หงจาง (จีน: 李鴻章 Lǐ Hóngzhāng) เข้ามายังกรุงโซลเพื่อทำการปราบกบฏลงได้สำเร็จ แทว็อนกุนทรงต้องโทษและถูกจับกุมองค์ไปยังเมืองเทียนจิน หลังจากที่ประทับอยู่เมืองเทียนจินเป็นเวลาเกือบสามปี ทางราชสำนักชิงก็ได้ปลดปล่อยแทว็อนกุนกลับมาสู่โชซอน

ค.ศ. 1895 เหตุการณ์ปีอึลมี พระมเหสีมินทรงถูกลอบสังหารอย่างโหดเหี้ยมโดยกลุ่มทหารญี่ปุ่นทำโดย มิอุระ โกโร (ญี่ปุ่น: 三浦梧楼 โรมาจิMiura Gorō) ราชทูตญี่ปุ่นประจำเกาหลีในขณะนั้น เป็นที่คาดเดาว่า แทว็อนกุนทรงมีส่วนรู้เห็นในเหตุการณ์ครั้งนี้

แทว็อนกุนสิ้นพระชนม์เมื่อค.ศ. 1898 ที่พระราชวังอุนฮยอน พระชนมายุ 78 ชันษา