การกำเนิดของแนวคิดหลังสมัยใหม่ ของ แนวคิดหลังยุคนวนิยม

ในช่วงปลายสมัยใหม่ของภูมิปัญญาตะวันตก มีความคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างถูกสร้างขึ้นเพื่อความทันสมัย บางครั้งก็เรียกรวมๆว่าความคิดแบบสมัยใหม่นิยม (modernism) กล่าวได้ว่าความคิดทันสมัยมีรากเหง้ามาจากทฤษฎีความคิดในยุคภูมิปัญญา (enlightenment) นักคิด นักปรัชญาการเมืองในยุคสมัยใหม่แข่งขันกันนำเสนอวิสัยทัศน์ที่เกี่ยวกับชีวิตที่ดี สังคมที่ดี ที่สำคัญคือ แนวคิดเสรีนิยม (liberalism) ที่เห็นว่าปัจเจกบุคคลต้องสละประโยชน์ส่วนตัว หาทางสร้างระบบการเมืองเสรีประชาธิปไตยขึ้นมารองรับ กับแนวคิดมาร์กซิสม์ ที่ต่างต้องการสร้างโลกใหม่ที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การขูดรีดจากระบบทุนนิยม ความคิดในยุคสมัยใหม่กล่าวได้ว่ามีศรัทธาแรงกล้าต่อความก้าวหน้า (idea of progress) การที่สังคมมีหลักพื้นฐานอันประกอบด้วยสัจจะ ค่านิยมหลัก และความเชื่อมั่นเรื่องสังคมก้าวหน้ารวมเรียกกันว่าแนวคิดสถาปนานิยม ที่พยายามสถาปนาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวให้เกิดขึ้นในสังคมผ่านการสร้างค่านิยม, ความเชื่อต่างๆขึ้นมาครอบครองความคิดมนุษย์ในสังคม

ในเวลาต่อมาจึงเกิดความคิดหลังสมัยใหม่ (postmodern) ที่เสนอให้ปฏิเสธความแน่นอน หนึ่งเดียว นักคิดหลังสมัยใหม่ ปฏิเสธเรื่องสัจจะสมบูรณ์สูงสุดเป็นสากล โดยเห็นว่าเป็นเพียงการโอ้อวด แต่เสนอว่าไม่มีศูนย์กลางความเป็นหนึ่งเดียว และสังคมดำรงอยู่อย่างแตกต่างหลากหลาย (diversity) ความคิดและแนวคิดใดๆทั้งหมดเป็นเรื่องที่ได้รับการแสดงออกในรูปภาษาโดยที่ภาษาหรือการใช้ภาษาสื่อความหมายนั้นล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางอำนาจอันซับซ้อน ดังนั้นปรัชญาและทฤษฎีการเมืองจึงมิอาจอยู่เหนือ หรือตัดขาดจากความสัมพันธ์ทางอำนาจ เช่นกันกับมิอาจให้ความรู้ความเข้าใจได้ด้วยการเป็นกลางไม่โอนเอียง ทฤษฎีการเมืองหรือสัจจะหรือความรู้ใดๆเป็นส่วนหนึ่งโดยนัยของความสัมพันธ์ทางอำนาจที่นักวิชาการกำลังวิเคราะห์อยู่ นักคิดหลังสมัยใหม่จึงมีลักษณะตั้งข้อกังขาอย่างไม่ลดละต่อสภาพความเป็นจริงใดๆที่ดูหนักแน่นสมบูรณ์ และความเชื่อต่างๆที่พากันยึดถืออย่างไม่ลืมหูลืมตา [3]

สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้กล่าวกันว่าได้ก้าวเข้าสู่ยุคหลังสมัยใหม่ (postmodern era) คือความคิดที่ว่าสิ่งที่เป็นจริง (the real) กับสิ่งที่ปรากฏ (apparent) นั้นอาจไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ซึ่งเป็นความคิดของฟรีดริช นิทซ์เชอ (Friedrich Wilhelm Nietzsche) ซึ่งความคิดดังกล่าวเข้าไปมีอิทธิพลในวงการศิลปะในช่วงทศวรรษที่ 1920 กล่าวได้ว่าแนวคิดหลังสมัยใหม่ (postmodern) คือการเคลื่อนไหวทางความคิดและวัฒนธรรมที่ต่อต้านนิยาม, ความเชื่อ, ค่านิยม, จารีต, ประเพณีฯลฯ อาทิองค์รวม (totality), ความเป็นเหตุเป็นผล (rationality), ความเป็นสากล(universality), ความเป็นวัตถุวิสัย (objectivity) ฯลฯ ซึ่งนักคิดหลังสมัยใหม่จะตั้งคำถามต่อสิ่งเหล่านี้ในฐานะที่ต่างเป็นเพียง “เรื่องเล่าหลัก (meta-narrative)” ที่เกิดขึ้นมาจากข้ออ้างของความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ของแนวคิดสมัยใหม่ (modernism) [4]

ใกล้เคียง

แนวคิดวิวัฒนาการเกี่ยวกับความซึมเศร้า แนวคิดปฏิเสธเอดส์ แนวคิดเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของชนชาติไท แนวคิดหลังยุคนวนิยม แนวคิดว่าด้วยกัมพูชาในช่วงการปฏิวัติขอม แนวคิดดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง แนวคิดโลกเป็นศูนย์กลาง แนวคิดโฮจิมินห์ แนวคิดไกสอน พมวิหาน แนวคิดที่ตรงกันข้ามกับประชาธิปไตย