การผลิต ของ แบทแมน_บีกินส์

การพัฒนา

คริสโตเฟอร์ โนแลน ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้

แบทแมน บีกินส์ ผลิตโดยบริษัทวอร์เนอร์บราเธอร์ส ด้วยงบประมาณการสร้าง 150,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ กำกับโดยคริสโตเฟอร์ โนแลนด์ และประพันธ์บทภาพยนตร์ร่วมโดยโนแลนและเดวิด เอส. โกเยอร์[17][18]

โนแลนด์กล่าวถึงการทำงานครั้งนี้ว่า เขาตั้งใจที่จะนำเสนอภาพยนตร์แบทแมนในรูปแบบใหม่ โดย "จะสร้างเรื่องราวที่เป็นต้นกำเนิดของตัวละคร ที่ไม่เคยถูกเล่าที่ไหนมาก่อน" (ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจในส่วนนี้มาจากภาพยนตร์เรื่อง ซูเปอร์แมน (Superman, พ.ศ. 2521) ของ ริชาร์ด ดอนเนอร์ ที่เน้นการเล่าเรื่องถึงการเติบโตของตัวละครเป็นหลัก[3]) และยังจะนำความเป็นมนุษย์และความเหมือนจริงมาใช้เป็นพื้นฐานอีกด้วย ตามที่เขาได้กล่าวว่า "โลกของแบทแมนจะต้องมีพื้นฐานมาจากความเป็นจริงที่สามารถรับรู้ได้ ร่วมสมัย และฝืนจินตนาการความเป็นวีรบุรุษเกินจริง" ส่วนโกเยอร์กล่าวว่า เป้าประสงค์ของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการทำให้ผู้ชมสนใจทั้งตัวแบทแมนและบรูซ เวย์น อย่างเท่าเทียมกัน[19]

เนื้อเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือการ์ตูนแบทแมนตอนต่าง ๆ ได้แก่ แบทแมน : เดอะแมนฮูฟอลส์ เรื่องสั้นที่เล่าถึงการเดินทางทั่วโลกของบรูซ เวย์น ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดฉากที่บรูซในวัยเด็กพลัดตกลงไปในบ่อน้ำ ในช่วงแรก ๆ ของภาพยนตร์[20] เนื้อเรื่องของ แบทแมน : เดอะลองฮัลโลวีน ประพันธ์โดย เจฟ โลบ และวาดโดย ทิม เซล ก็ส่งอิทธิพลต่อโกเยอร์ในการประพันธ์บทภาพยนตร์ และการออกแบบตัวละคร คาร์ไมน์ ฟัลโคนี[20] ส่วน แบทแมน : ดาร์กวิคทอรี (Batman : Dark Victory) ภาคต่อของภาค เดอะลองฮัลโลวีน ก็ส่งอิทธิพลมาถึงภาพยนตร์ไม่แพ้กัน[21] นอกจากนั้น โกเยอร์ยังได้นำรายละเอียดหลาย ๆ ส่วนจาก แบทแมน : เยียร์วัน ของ แฟรงก์ มิลเลอร์ ทั้งโครงเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาตำรวจคอร์รัปชันที่บีบบังคับให้จ่า จิม กอร์ดอน และเมืองกอตแทมต้องการคนอย่างแบทแมนมาช่วยเหลือ, เนื้อเรื่องตอนที่บรูซหายตัวไปจากเมืองกอตแทมอย่างขาดสติ[22], รวมไปถึงรายละเอียดของตัวละครจิม กอร์ดอน[20] มาใส่ไว้ในบทภาพยนตร์ด้วย

การถ่ายทำและสถานที่ถ่ายทำ

หอคอยเมนต์มอร์ (ฉากหลัง) : สถานที่ถ่ายทำฉากคฤหาสน์ประจำตระกูลเวย์นในภาพยนตร์

ในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ โนแลนต้องการที่จะดึงดูดใจผู้ชมได้ทุกรุ่นทุกวัยโดยการที่เขาตัดสินใจไม่ถ่ายทำฉากโชกเลือดใด ๆ เพื่อให้เหมาะสำหรับเยาวชน โดยเขาได้กล่าวว่า "ผมคิดว่าหนังของพวกเรามีเนื้อหาค่อนข้างเข้มข้นรุนแรงไปสำหรับเด็ก ๆ อยู่ไม่น้อย แต่ผมก็ไม่อยากที่จะกันเด็กอายุ 10-12 ปี ไม่ให้มาดูหนังเรื่องนี้ เพราะตอนผมเด็ก ผมก็รักที่จะดูหนังประเภทที่ผมทำเหมือนกัน"[12]

การถ่ายทำภาพยนตร์เริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2547 ที่ภูเขาน้ำแข็งวัตนาโจคุลในประเทศไอซ์แลนด์ เพื่อถ่ายทำฉากของภูเขาหิมะในประเทศภูฏาน[23] ที่นี่ ทีมงานต้องสร้างฉากหมู่บ้าน ถนนเดินเท้า และประตูหน้าของวัดของราส์ อัลกูลเพิ่ม[23][24] อุปสรรคในการถ่ายทำฉากนี้อยู่ที่สภาพอากาศที่มีทั้งลมความเร็ว 121 กิโลเมตร/ชั่วโมง (75 ไมล์/ชั่วโมง)[23] ฝน รวมถึงหิมะที่มีปริมาณน้อยกว่าความต้องการ วิธีการถ่ายทำในฉากนี้ วัลลี พิฟ์สเตอร์ ผู้กำกับภาพ ได้ใช้เครนและกล้องมือถือในการถ่ายทำ[24]

สถานที่ถ่ายทำส่วนใหญ่ของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่อังกฤษ โดยเฉพาะที่สตูดิโอเชปเพอร์ตัน[25] ฉากที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อถ่ายทำที่นี่คือฉากถ้ำค้างคาว ซึ่งมีความยาว 76 เมตร (250 ฟุต) กว้าง 37 เมตร (120 ฟุต) และสูง 12 เมตร (40 ฟุต) พร้อมด้วยโขดหินที่หล่อมาจากถ้ำจริง ๆ และเครื่องสูบน้ำ 12 เครื่องที่แนทาน โครวลีย์ ผู้ออกแบบงานสร้าง ติดตั้งเอาไปเพื่อใช้สร้างน้ำตก 12,000 แกลลอน[26]

นอกจากที่สตูดิโอแห่งนี้แล้ว ยังมีสถานที่อื่น ๆ ในอังกฤษที่ใช้เป็นฉากในการถ่ายทำด้วย ได้แก่ โรงเก็บเครื่องบินที่คาร์ดิงตัน เบดฟอร์ดไชร์ ใช้ถ่ายทำฉากรถไฟฟ้าในเมืองกอตแทม[27] โดยทางกองถ่ายได้สร้างรางรถไฟรางเดี่ยวบนฉากยาว 270 เมตร (900 ฟุต) ขึ้นที่นี่[26], หอคอยเมนต์มอร์ ใช้ถ่ายทำฉากคฤหาสน์เวย์น โดยโนแลนและโครวลีย์เปิดเผยว่าที่เลือกที่นี่เพราะชอบพื้นสีขาวของมัน ที่ทำให้รู้สึกถึงความเป็นอนุสรณ์สถานสำหรับบิดามารดาของบรูซ[28], ส่วนอาคารที่ถูกเลือกเป็นฉากสถานพักฟื้นอาร์กแฮมคืออาคารของสถาบันแห่งชาติเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ ในมิลล์ฮิลล์ บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงลอนดอน[29], สถานีรถไฟเซนต์แพนครัสกับสถานีจ่ายน้ำแอบบีย์มิลล์สก็ถูกใช้เป็นฉากภายในอาคารของอาร์กแฮม[26], ส่วนฉากห้องพิจารณาคดีนั้น ทีมงานได้ใช้มหาวิทยาลัยลอนดอนเป็นสถานที่ในการถ่ายทำ[26]

ในบางฉาก เช่นฉากขับรถไล่ล่า[23] ทางทีมงานก็ใช้สถานที่ถ่ายทำในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นที่ถนนแวคเกอร์ไดรฟ์และอาคาร 35 อีสต์แวคเกอร์[30] นอกจากนั้น ทางการของชิคาโกยังอนุญาตให้ยกสะพานถนนแฟรงคลินเพื่อถ่ายทำฉากเส้นทางที่เข้าสู่เขตแออัดของเมืองกอตแทมด้วย[23]

งานออกแบบ

ภาพยนตร์

สำหรับงานออกแบบของ แบทแมน บีกินส์ โนแลนได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ไซไฟคัลต์เรื่อง เบลดรันเนอร์ (Blade Runner, พ.ศ. 2525) ซึ่งเขาได้กล่าวถือโลกในภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า "เป็นบทเรียนอันน่าสนใจแห่งการเสาะแสวงหาและอธิบายจักรวาลที่เชื่อถือได้และไร้ขอบเขต"[31] โนแลนได้ถ่ายทอด เบรดรันเนอร์ ให้วัลลี พิฟ์สเตอร์ และผู้กำกับภาพอีก 2 คนได้ชม เพื่อแสดงให้พวกเขาได้เห็นและเข้าใจทัศนคติและรูปแบบที่เขาต้องการจากภาพยนตร์เรื่องนี้

เมืองกอตแทม

ฉากเมืองกอตแทมใน แบทแมน บีกินส์

ในการออกแบบเมืองกอตแทม โนแลนและแนทาน โครว์ลีย์ ได้ร่วมกันคิดหาภาพลักษณ์ของเมืองกอตแทมสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมา โดยพิจารณาจากแบบจำลองของเมืองที่โครว์ลีย์สร้างไว้ในโรงจอดรถของโนแลน[28] ทั้งสองออกแบบเมืองกอตแทมโดยเน้นที่ความใหญ่และทันสมัย สามารถสะท้อนสถาปัตยกรรมหลากหลายรูปแบบที่เมืองนี้ได้รับอิทธิพล ส่วนประกอบต่าง ๆ ของเมือง ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเมืองต่าง ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นเมืองนิวยอร์ก ชิคาโก และกรุงโตเกียว โดยเมืองหลังสุดนั้น ถือเป็นต้นแบบของการออกแบบฉากรถไฟฟ้ารางเดี่ยวที่อยู่ในเมือง นอกจากนั้น พวกเขายังนำภาพความแออัดของเมืองกำแพงเกาลูน ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ที่ถูกรื้อถอนไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2536 มาใช้ออกแบบฉากชุมชนแออัดในเมืองกอตแทมอีกด้วย[32]

รถค้างคาว

รถค้างคาว "ทัมเบลอ" ในงานฉายภาพยนตร์ แบทแมน บีกินส์ รอบปฐมทัศน์ ที่สหรัฐอเมริกา

รถค้างคาว (Batmobile) ในภาพยนตร์ชุดแบทแมนภาคนี้มีชื่อว่า ทัมเบลอ (Tumbler) เป็นรถที่มีที่มีลักษณะภายนอกเหมือนกับรถถังหุ้มเกราะของทหาร ซึ่งถือว่าแตกต่างไปจากรถค้างคาวในภาพยนตร์ภาคอื่น แต่ใกล้เคียงกับรถค้างคาวในหนังสือการ์ตูนเรื่อง แบทแมน : เดอะดาร์กไนท์รีเทิร์นส์ (Batman: The Dark Knight Returns) ของ แฟรงก์ มิลเลอร์ มากที่สุด[33]

แนทาน โครว์ลีย์ เริ่มต้นการออกแบบรถคันนี้ด้วยการทดลองสร้างแบบจำลองออกมา 6 คัน ในอัตราส่วน 1:12 โดยใช้เวลาในการสร้าง 4 เดือน ต่อจากนั้นจึงนำแบบจำลองมาใช้เป็นต้นแบบในการสร้างสเกลโมเดล โดยใช้โฟมสไตโรขนาดใหญ่เป็นวัตถุดิบ และใช้เวลาแกะสลัก 2 เดือนโดยทีมงาน 30 คน ซึ่งในจำนวนนั้นได้รวมถึงโครว์ลีย์ และคริส คัลเวิร์ต กับแอนนี สมิท ผู้เป็นวิศวกร ด้วย ต่อมา แบบจำลองสเกลโมเดลดังกล่าว ก็ถูกนำไปสร้างเป็นรถเหล็กกล้าเพื่อใช้ทดลองขับ ผลการทดลองปรากฏว่ารถมีความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง (100 ไมล์/ชั่วโมง) โดยสามารถเร่งความเร็วจาก 0 ถึง 97 กิโลเมตร/ชั่วโมง (60 ไมล์/ชั่วโมง) ได้ภายใน 5 นาที และสามารถควบคุมรถให้เลี้ยวโค้งแบบหักศอกได้ ซึ่งผลเหล่านี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่เมื่อถึงขั้นการทดสอบการกระโดดของรถ ปรากฏว่าส่วนหน้าของรถก็เกิดพังขึ้นมาในการทดสอบครั้งแรก เป็นผลให้ต้องมีการสร้างรถขึ้นมาใหม่ทั้งหมด[34]

องค์ประกอบพื้นฐานของรถทัมเบลอที่ถูกออกแบบใหม่ ประกอบด้วยเครื่องยนต์ วี8 เชวี 5.7 ลิตร เพลาของรถบรรทุกที่ติดตั้งไว้เป็นเพลาล้อหลัง ยางล้อหน้าจากฮูซิเออร์ ยางล้อหลังจากอินเตอร์โค. และระบบวางลอยของรถบรรทุกแข่งบาจา กระบวนการออกแบบและพัฒนาทั้งหมดใช้เวลา 9 เดือน และค่าใช้จ่ายหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสิ้นสุดการออกแบบ รถทัมเบลอพร้อมขับ 4 คันก็ถูกสร้างขึ้น โดยแต่ละคันจะประกอบด้วยหน้าปัดคาร์บอนไฟเบอร์ 65 อัน จอภาพที่เชื่อมต่อกับกล้องบนตัวรถเพื่อให้ผู้ขับใช้มองเส้นทาง (เนื่องจากการมองดูเส้นทางจากภายในรถโดยตรงนั้นทำได้ยาก) และค่าใช้จ่ายในการสร้าง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ รถ 2 จาก 4 คันนี้ได้รับการเพิ่มคุณสมบัติพิเศษบางประการเข้าไป คันหนึ่งติดตั้งระบบไฮโดรลิคและปีกซ่อน เพื่อให้ดูเหมือนรถมีความสามารถในการลอยตัวอยู่กลางอากาศเวลาที่ถ่ายทำฉากรถกระโดดระยะใกล้ ส่วนอีกคันติดตั้งเครื่องไอพ่นที่ใช้ได้จริง โดยเครื่องนี้ใช้แก๊สโพรเพน 6 ถังด้วยกัน ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ขับทัมเบลอในภาพยนตร์ คือนักขับรถมืออาชีพ ซึ่งได้รับการฝึกฝนในการขับมาแล้ว 6 เดือนด้วยกัน นอกจากนั้น ยังมีการสร้างรถบังคับวิทยุทัมเบลออัตราส่วน 1:5 เพื่อใช้ในการถ่ายทำฉากที่รถบินข้ามหุบเขาและอาคารด้วย[34]

ส่วนภายในของรถที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์นั้น เป็นฉากที่ถูกสร้างขึ้นในโรงถ่ายที่ได้รับการออกแบบใหม่ให้ต่างจากส่วนภายในของรถทัมเบลอที่ขับได้จริง โดยมีขนาดกว้างกว่าของจริงเพื่อที่จะนำกล้องเข้าไปถ่ายทำภายในได้[34]

ชุดค้างคาว

บางส่วนของชุดค้างคาวในภาพยนตร์ แบทแมน บีกินส์

ชุดค้างคาวของแบทแมนในภาคนี้ เน้นการออกแบบให้ผู้สวมใส่สะดวกในการเคลื่อนที่ ทำท่าทางในการต่อสู้ต่าง ๆ รวมถึงการก้มตัว ซึ่งต่างจากภาคก่อนหน้าที่ชุดไม่ยืดหยุ่น โค้งงอลำบาก และที่สำคัญคือ มักจะจำกัดการเคลื่อนไหวของส่วนหัวของผู้ใส่ การออกแบบชุดในภาคนี้ เป็นหน้าที่ของ ลินดี เฮมมิง และทีมงานฝ่ายออกแบบเครื่องแต่งกายของเธอ พวกเธอออกแบบชุดค้างคาวในสถานที่ทำงานที่มีรหัสว่า "เคปทาวน์" โดยตั้งอยู่ในสตูดิโอเชปเพอร์ตัน กรุงลอนดอน ในขั้นแรกนั้น ชุดแบทแมนถูกสร้างขึ้นมาโดยใช้ยางเทียมเป็นวัตถุดิบ และนำไปขึ้นรูปโดยการหล่อแบบครีมลาเทกซ์ โดยทีมงานได้ไปหล่อแบบจากร่างกายของคริสเตียน เบล โดยตรง เมื่อขึ้นรูปชุดแล้วจึงมาแกะสลักร่วมกับดินน้ำมันและนำแพลสทิลีนมาเกลี่ยพื้นผิวให้เรียบ นอกจากนั้นแล้ว ทีมงานยังได้ทดลองผสมโฟมที่แตกต่างกันเข้าด้วยกัน เพื่อหาส่วนผสมที่มีความยืดหยุ่น เบา ทนทาน และมีสีดำที่สุด เพื่อนำมาสร้างชุด แต่การทดลองนั้นก็เกิดปัญหา เมื่อส่วนผสมที่ทำให้โฟมเป็นสีดำกลับไปลดความทนทานของมัน ส่วนผ้าคลุมที่ติดอยู่กับชุดนั้น ผู้กำกับภาพยนตร์ คริสโตเฟอร์ โนแลน ต้องการให้มันสามารถ "พริ้วไหวได้เหมือนภาพในหนังสือการ์ตูนแบทแมนชั้นเยี่ยมหลาย ๆ เรื่อง" โดยทางเฮมมิงได้เลือกใช้เส้นใยไนลอนที่ใช้ทำร่มชูชีพ สามารถหดตัวได้เมื่อเกิดไฟฟ้าสถิตย์ และมีโอกาสถูกตรวจจับในที่มืดได้น้อย มาเป็นวัตถุดิบในการสร้าง ซึ่งในขั้นตอนการสร้างนั้น ทางทีมงานได้รับความร่วมมือจากทางกระทรวงกลาโหมอังกฤษด้วย[8]

ส่วนบนของผ้าคลุมได้ถูกเชื่อมต่อกับหน้ากากค้างคาวที่ครอบทั้งศีรษะของผู้สวมใส่ ซึ่งได้รับการออกแบบร่วมกันโดยโนแลน เฮมมิง และแกรแฮม เชิร์ชยาร์ด ผู้เชี่ยวชาญเอฟฟเฟคต์เครื่องแต่งกาย หน้ากากนี้ถูกสร้างให้มีความบางเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนไหวศีรษะ แต่ก็หนาพอที่จะกันการฉีกขาด นอกจากนั้น ยังสามารถแสดงอารมณ์ ความรู้สึก และคาแรคเตอร์ของแบทแมนได้ชัดเจน[8]

สเปเชียลเอฟเฟคต์

สำหรับสเปเชียลเอฟเฟคต์ที่ใช้สร้างฉากต่าง ๆ ใน แบทแมน บีกินส์ ทางทีมงานได้ใช้ทั้งเทคนิคการถ่ายภาพจากสเกลโมเดล เช่น ฉากเขตแออัดในเมืองกอตแทม และวัดของราส์ อัลกูล[28][24] และการสร้างภาพคอมพิวเตอร์กราฟิก (ซีจีไอ) และดิจิตอล อย่างฉากสิ่งปลูกสร้างในเมืองที่มีท้องฟ้าเป็นฉากหลัง ฉากที่แสดงให้เห็นด้านนอกของรถไฟฟ้าและอาคารเวย์นเอนเตอร์ไพรซส์ และฉากฝูงค้างคาวที่ตัวค้างคาวได้รับการสแกนต้นแบบมาจากซากค้างคาวจริง[28] เป็นต้น นอกจากนั้น บางฉากยังใช้เทคนิคที่ผสมผสานทั้งการแสดงสด การถ่ายทำแบบจำลอง และการสร้างภาพด้วยซีจีไอเข้าไว้ด้วยกันด้วย เช่น ฉากการต่อสู้ระหว่างแบทแมนกับราส์ อัลกูล บนรถไฟฟ้าช่วงท้ายเรื่อง[35] ส่วนฉากอื่น ๆ ที่เป็นฉากต่อสู้นั้น คริสโตเฟอร์ โนแลน มุ่งเน้นที่จะใช้การแสดงผาดโผนแบบดั้งเดิมมากกว่าการสร้างการเคลื่อนไหวของตัวละครด้วยซีจีไอ[3]

ดนตรีประกอบภาพยนตร์

แฮนส์ ซิมเมอร์ (ซ้าย) และเจมส์ นิวตัน โฮเวิร์ด (ขวา) สองผู้ประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้

ผู้ที่มีหน้าที่ประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้แก่ แฮนส์ ซิมเมอร์ และ เจมส์ นิวตัน โฮเวิร์ด ทั้งสองเริ่มต้นงานนี้ครั้งแรกในนครลอสแอนเจลิสก่อนที่จะย้ายสถานที่ทำงานไปอยู่ในกรุงลอนดอนเป็นเวลา 12 สัปดาห์[36] พวกเขาสร้างดนตรีประกอบความยาวร่วม 2 ชั่วโมง 20 นาทีขึ้นมา โดยค้นหาแรงบันดาลใจจากการไปเยี่ยมชมกองถ่ายของภาพยนตร์เรื่องนี้[37] ทั้งคู่แบ่งงานในการประพันธ์ออกเป็น 2 ส่วน โดยซิมเมอร์ได้รับหน้าที่ประพันธ์เพลงประกอบฉากแอคชัน ส่วนโฮเวิร์ดประพันธ์เพลงในส่วนที่เน้นความเป็นดรามา[38] นอกจากนั้น ยังมีการแบ่งให้คนหนึ่งประพันธ์เพลงที่สื่อถึงตัวบรูซ เวย์น และอีกคนหนึ่งประพันธ์เพลงที่สื่อถึงบรูซเวลาอยู่ภายใต้หน้ากากแบทแมนด้วย

ในส่วนของซิมเมอร์นั้น ในตอนแรกโนแลนตั้งใจจะเชิญเขาให้มาร่วมงานด้วยเพียงผู้เดียว แต่หลังจากที่ซิมเมอร์ได้เสนอว่าควรจะเชิญโฮเวิร์ดมาด้วย โนแลนก็ตอบตกลง[38] สำหรับดนตรีประกอบของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซิมเมอร์ตั้งใจที่จะผสมเสียงเพลงแบบออเคสตราให้เข้ากับเสียงเครื่องดนตรีไฟฟ้าเพื่อเป็นการสร้างแนวดนตรีที่ต่างจากแบบเดิม ๆ วงออเคสตราที่เขาใช้ในการทำงานนั้นประกอบด้วยเครื่องดนตรี 90 ชิ้นด้วยกัน[38] โดยพิเศษตรงที่มีเชลโลมากกว่าที่ใช้กันตามวงออเคสตราทั่วไป ส่วนสมาชิกในวงนั้นก็ได้รับเลือกจากวงออเคสตราที่อยู่กรุงลอนดอนหลาย ๆ วง นอกจากนั้น ยังมีนักร้องเด็กผู้ชายเสียงโซปราโนที่ซิมเมอร์เกณฑ์มาช่วย เพื่อให้มาสะท้อนอารมณ์เพลงในฉากที่แสดงถึงความทรงจำที่บรูซมีต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับบิดามารดาของเขาด้วย

ใกล้เคียง

แบทแมน แบทแมน บีกินส์ แบทแมน อัศวินรัตติกาล แบทแมน ปะทะ ซูเปอร์แมน แสงอรุณแห่งยุติธรรม แบทแมน อัศวินรัตติกาลผงาด แบทแมน อ.อัจฉริยะ แบทแมน รีเทิร์นส ตอน ศึกมนุษย์เพนกวินกับนางแมวป่า แบทแมน: อาร์แคมซิตี แบทแมน & โรบิน (ภาพยนตร์) แบทแมน (เทอร์รี แม็คกินนิส)

แหล่งที่มา

WikiPedia: แบทแมน_บีกินส์ http://www.theage.com.au/news/film/defending-the-b... http://allmovie.com/cg/avg.dll?p=avg&sql=1:289465 http://www.ascap.com/eventsawards/awards/filmtv/20... http://www.batman-on-film.com/burton-talks-batman-... http://www.batman-on-film.com/interview_dennyoneil... http://www.batmobilehistory.com/2005-batmobile.php http://www.boxofficemojo.com/franchises/chart/?id=... http://www.boxofficemojo.com/intl/thailand/?yr=200... http://www.boxofficemojo.com/movies/?id=batmanbegi... http://www.boxofficemojo.com/news/?id=1837&p=.htm