เหตุ ของ แผลไหม้

แผลไหม้มีเหตุจากสิ่งภายนอกต่าง ๆ รวมทั้งความร้อน สารเคมี ไฟฟ้า และการแผ่รังสี[21]ในสหรัฐ เหตุสามัญที่สุดคือ ไฟ (ร้อยละ 44), ถูกลวก (ร้อยละ 33), วัตถุร้อน (ร้อยละ 9), ไฟฟ้า (ร้อยละ 4) และสารเคมี (ร้อยละ 3)[22]โดยมากเกิดที่บ้าน (ร้อยละ 60) หรือที่ทำงาน (ร้อยละ 9)[13]โดยมากเป็นอุบัติเหตุ มีร้อยละ 2 ถูกทำร้าย และ ร้อยละ 1-2 มาจากพยายามฆ่าตัวตาย[18]เหตุเหล่านี้อาจก่อแผลไหม้ในทางเดินลมหายใจหรือปอด ซึ่งเกิดราว ๆ ร้อยละ 6[3]คนจนเกิดแผลไหม้มากกว่า[18]การสูบบุหรี่และการติดเหล้าเป็นปัจจัยเสี่ยง[8]แผลไหม้เนื่องกับไฟสามัญกว่าในเขตที่หนาวกว่า[18]ปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะของประเทศกำลังพัฒนารวมการหุงต้มด้วยไฟที่เปิดโล่งหรือด้วยไฟก่อที่พื้น[4]ปัญหาพัฒนาการในเด็ก และโรคเรื้อรังในผู้ใหญ่[23]

เหตุความร้อน

See or edit source data.
อัตราตายเพราะไฟระหว่างปี 1990-2017[24]

ในสหรัฐ ไฟและน้ำร้อนเป็นเหตุสามัญสุด[3]สำหรับไฟไหม้ในบ้านที่ทำให้เสียชีวิต การสูบบุหรี่เป็นเหตุร้อยละ 25 และอุปกรณ์ทำความร้อนร้อยละ 22[4]เกือบครึ่งมีเหตุจากการพยายามดับไฟ[4]การถูกลวกมีเหตุจากน้ำร้อนหรือแก๊สร้อน สามัญที่สุดเนื่องกับเครื่องดื่มร้อน, น้ำร้อนจากก๊อกน้ำหรือฝักบัวอาบน้ำในห้องน้ำ, น้ำมันประกอบอาหาร หรือจากไอน้ำ[25]การถูกลวกสามัญที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ[2]โดยในสหรัฐและออสเตรเลีย เป็นคนไข้เกินกว่า 2/3[3]การถูกวัสดุร้อนเป็นเหตุแผลไหม้ของเด็กร้อยละ 20-30[3]ทั่วไปแล้ว การถูกลวกจะก่อแผลไหม้ระดับ 1 หรือ 2 แต่ก็อาจก่อระดับ 3 ด้วยเพราะติดแช่อยู่นาน[26]ดอกไม้ไฟเป็นเหตุสามัญในช่วงเทศกาลวันหยุดในประเทศหลายประเทศ[27]โดยเฉพาะสำหรับเด็กชายวัยรุ่น[28]

เหตุสารเคมี

สารเคมีเป็นเหตุให้เกิดแผลไหม้ร้อยละ 2-11 แต่เป็นเหตุให้ตายเพราะแผลไหม้ถึงร้อยละ 30[29]มีสาร 25,000 อย่างที่อาจเป็นเหตุ[2]โดยมากเป็นด่าง (ร้อยละ 55) หรือกรด (ร้อยละ 26) ที่มีฤทธิ์แรง[29]การตายมักเกิดจากการกิน[2]สารสามัญรวมทั้งกรดซัลฟิวริกในผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำ โซเดียมไฮโปคลอไรต์ในสารฟอกขาวที่พบในน้ำยาซักผ้าขาว และไฮโดรคาร์บอนที่เพิ่มแฮโลเจนดังที่พบในน้ำยาลอกสีเป็นต้น[2]กรดไฮโดรฟลูออริกอาจก่อแผลลึกที่ไม่มีอาการจนกระทั่งหลังช่วงระยะหนึ่ง[30]กรดฟอร์มิกอาจทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงจำนวนมากแตก[15]

เหตุไฟฟ้า

การบาดเจ็บเหตุไฟฟ้าอาจจัดหมู่เป็นแบบไฟฟ้าแรงสูง (>= 1,000 โวลต์) ไฟฟ้าแรงต่ำ (< 1,000 โวลต์) หรือแบบไฟวาบที่เกิดจากอาร์กไฟฟ้า[2]เหตุหลักต่อเด็กเกิดจากสายไฟ (ร้อยละ 60) ตามด้วยปลั๊กไฟ (ร้อยละ 14)[3]ฟ้าผ่าก็อาจเป็นเหตุได้ด้วย[31]ปัจจัยเสี่ยงถูกฟ้าผ่ารวมทั้งการเล่นกีฬากลางแจ้งหรือทำงานกลางแจ้ง[17]อัตราตายเหตุถูกฟ้าฝ่าอยู่ราว ๆ ร้อยละ 10[17]แม้การบาดเจ็บหลักเนื่องกับไฟฟ้าอาจเป็นแผลไหม้ แต่กระดูกก็อาจหักหรือข้ออาจหลุดเนื่องจากถูกกระแทกหรือเพราะการหดเกร็งกล้ามเนื้อ[17]สำหรับไฟฟ้าแรงสูง ความเสียหายโดยมากอาจอยู่ข้างใน ดังนั้น จึงไม่สามารถรู้ว่าบาดเจ็บแค่ไหนเพียงตรวจดูแค่ผิวหนัง[17]การถูกไฟช็อตไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าแรงสูงหรือแรงต่ำก็ล้วนอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจหยุดเต้น[17]

เหตุการแผ่รังสี

แผลไหม้เหตุการแผ่รังสีอาจมาจากการถูกรังสีอัลตราไวโอเลตนาน ๆ เช่น จากแสงอาทิตย์ จากการเชื่อมอาร์ก เป็นต้น หรือจากการแผ่รังสีแตกไอออน (ionizing radiation) เช่น จากการฉายรังสี จากเอกซเรย์ หรือจากฝุ่นกัมมันตรังสี[32]การตากแดดเป็นเหตุสามัญสุดสำหรับแผลไหม้เหตุแผ่รังสี และสำหรับแผลไหม้ระดับ 1 ด้วย[33]โดยเกิดขึ้นง่ายแค่ไหนขึ้นอยู่กับลักษณะผิว[34]ผลของการแผ่รังสีแตกไอออนต่อผิวจะขึ้นอยู่กับว่าถูกนานแค่ไหน ผมอาจร่วงหลังจากได้ขนาด 3 เกรย์ ผิวแดงหลังจาก 10 เกรย์ หนังลอกหลังจาก 20 เกรย์ เนื้อตายหลังจาก 30 เกรย์[35]ถ้าผิวแดง อาจจะไม่ปรากฏจนสักระยะหนึ่ง[35]ส่วนการรักษานั้นเหมือนกับแผลไหม้อื่น ๆ[35]แผลไหม้เหตุไมโครเวฟเกิดจากความร้อนที่เนื่องกับคลื่นไมโครเวฟ[36]แม้การถูกเพียงแค่ 2 วินาทีก็อาจก่อแผล แต่นี่ไม่สามัญ[36]

เหตุที่ไม่ใช่อุบัติเหตุ

ในบุคคลที่เข้า ร.พ. เนื่องกับแผลไหม้เหตุไฟหรือถูกลวก ร้อยละ 3-10 เป็นเพราะถูกทำร้าย[37]รวมทั้งทารุณกรรมต่อเด็ก ทะเลาะกันส่วนตัว ถูกคู่ครองทำร้าย คนแก่ถูกทำร้าย และทะเลาะกันเรื่องผลประโยชน์[37]การแช่ติดอยู่กับของร้อนหรือในน้ำร้อนอาจชี้ว่าเป็นทารุณกรรมต่อเด็ก[26]ซึ่งอาจเกิดเมื่ออวัยวะปลาย ๆ หรือบางครั้งก้น ถูกกดให้แช่น้ำร้อน[26]ปกติมีขอบบนที่ชัดเจนและมักจะเสมอกัน (symmetrical)[26]โดยส่วนพับของผิวหนังอาจทำให้ส่วนนั้นไม่ไหม้ (เรียกในภาษาอังกฤษว่า "sock burns", "glove burns" หรือ "zebra stripes")[38]

แผลไหม้จงใจด้วยไฟบุหรี่มักพบที่หน้า หลังมือ หรือหลังเท้า[38]ตัวชี้ทารุณกรรมอื่น ๆ รวมทั้งแผลไหม้เป็นวง (circumferential burns) การไร้แผลที่เป็นรอยน้ำกระเซ็น แผลไหม้โดยลึกเท่า ๆ กัน และมีลักษณะอาการถูกละเลยและทารุณกรรมอื่น ๆ[39]การเผาเจ้าสาวซึ่งเป็นทารุณกรรมในครอบครัวอย่างหนึ่งเกิดในวัฒนธรรมบางอย่าง เช่นอินเดียที่เผาผู้หญิงเพราะสามีหรือครอบครัวสามีคิดว่าได้สินสอดไม่พอ[40][41]ในปากีสถาน กรดเป็นเหตุในอัตราร้อยละ 13 เมื่อจงใจทำร้ายผู้อื่นและมักเป็นทารุณกรรมในครอบครัว[39]การเผาตนเองก็ใช้เป็นวิธีการประท้วงอย่างหนึ่งในที่ต่าง ๆ ของโลก[18]