การรักษา ของ แผลไหม้

การรักษาพยาบาลเริ่มตั้งแต่ประเมินและรักษาเสถียรภาพทางลมหายใจของบุคคล ของการหายใจ และของการเดินเลือด[9]ถ้าสงสัยว่าสูดความร้อนเข้าไปด้วย การช่วยหายใจด้วยหลอดหายใจอาจจำเป็นตั้งแต่เนื่อง ๆ[15]แล้วจึงรักษาแผลไหม้คนที่มีแผลใหญ่อาจต้องพันด้วยผ้าสะอาดจนกว่าจะมาถึง รพ.[15]เพราะแผลไหม้เสี่ยงติดเชื้อ ก็จะให้วัคซีนบาดทะยักถ้าไม่ได้ฉีดสร้างภูมิคุ้มกันไว้ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา[48]ในสหรัฐ คนไข้แผลไหม้ร้อยละ 95 ที่มายังแผนกฉุกเฉินจะได้รักษาแล้วให้กลับบ้านที่เหลือต้องเข้ารักษาใน รพ.[18]ถ้าแผลใหญ่ ต้องให้อาหารตั้งแต่เนื่อง ๆ[43] ควรได้โปรตีนเพิ่ม โดยสารอาหารรอง (trace element) และวิตามินก็มักจำเป็น[49]ในสถานพยาบาลที่มี การให้ออกซิเจนด้วยหีบให้ออกซิเจนในแรงดันอากาศสูง (hyperbaric oxygenation) เพิ่มอาจมีประโยชน์[50]

น้ำเกลือ

สำหรับผู้ที่เลือดไหลเวียนไม่ดี (poor tissue perfusion) ควรให้น้ำเกลือแบบ isotonic crystalloid solution (สารละลายคริสแทลลอยด์ซึ่งมีความดันออสโมซิสเสมอเลือด)[9]ในเด็กที่มีผิวไหม้เป็นเนื้อที่ (ของ total body surface area หรือ TBSA) ร้อยละ 10-20 และผู้ใหญ่ที่มีมากกว่าร้อยละ 15 ควรให้น้ำเกลือและตามเฝ้าสังเกต[9][51][52]ในผู้ที่มี TBSA ยิ่งกว่าร้อยละ 25 ควรทำเช่นนี้แม้ก่อนไปถึง รพ. ถ้าเป็นไปได้[51]สูตรพาร์กแลนด์ (Parkland formula) สามารถใช้ระบุปริมาตรน้ำเกลือที่ต้องให้ใน 24 ชม. แรก เป็นสูตรที่ผลลัพธ์แปรไปตามพื้นที่แผลไหม้เป็นอัตราของ TBSA และน้ำหนัก[upper-alpha 1] น้ำเกลือครึ่งหนึ่งจะให้ใน 8 ชม. แรก และที่เหลือใน 16 ชม. ต่อมา เวลาจะคำนวณเริ่มเมื่อถูกไหม้ ไม่ใช่เริ่มตั้งแต่ให้น้ำเกลือเด็กต้องได้น้ำเกลือประเภทอื่น ๆ รวมทั้งกลูโคส[15]อนึ่ง ผู้ที่บาดเจ็บทางเดินลมหายใจด้วยต้องได้น้ำเกลือมากกว่า[53]แม้การให้ไม่พออาจเป็นปัญหา แต่การให้เกินก็มีผลลบด้วย[54]สูตรเป็นเพียงแค่แนวปฏิบัติ ควรปรับให้ได้ปัสสาวะ >30 มล./ชม. ในผู้ใหญ่ หรือ >1 มล./กก. ในเด็ก โดยมีความดันเลือดแบบ mean arterial pressure (MAP) ยิ่งกว่า 60 mmHg[15]แม้จะมักใช้น้ำเกลือแบบ lactated Ringer's solution แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าดีกว่าน้ำเกลือธรรมดา (normal saline)[9]น้ำเกลือแบบคริสแทลลอยด์ดูเหมือนจะดีเท่า ๆ กับแบบคอลลอยด์ (colloid) แต่เพราะแบบหลังแพงกว่าจึงไม่แนะนำ[55][56]การถ่ายเลือดจำเป็นในกรณีจำนวนน้อย[2]ซึ่งแนะนำก็ต่อเมื่อระดับเฮโมโกลบินตกต่ำกว่า 60-80 ก./ล. (6-8 ก./ดล.)[57]เพราะเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน[15]เข็มให้น้ำเกลืออาจสอดผ่านผิวที่ไหม้ถ้าจำเป็น หรืออาจให้ผ่านไขกระดูก (intraosseous infusion)[15]

การพยาบาลแผล

การแช่เย็นตั้งแต่เนื่อง ๆ (ภายใน 30 นาทีหลังเกิดเหตุ) ลดความลึกของแผลและความเจ็บ แต่ถ้าทำมากเกินไปก็อาจทำให้ตัวเย็นเกิน[2][9]ควรทำด้วยน้ำเย็นอุณหภูมิระหว่าง 10-25 องศาเซลเซียส โดยไม่ใช้น้ำแข็งเพราะอาจทำให้แย่ลง[9][42]แผลไหม้เหตุสารเคมีอาจต้องล้างให้มาก ๆ[2]การทำความสะอาดด้วยสบู่และน้ำ, การเอาเนื้อตายออก และการปิดแผลเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ามีตุ่มพองที่ยังไม่แตก ไม่ชัดเจนว่าควรทำอย่างไร มีหลักฐานในเบื้องต้นบ้างว่า ควรทิ้งไว้เฉย ๆ แผลไหม้ระดับสองควรตรวจอีกหลังจาก 2 วัน[42]สำหรับแผลไหม้ระดับ 1 และ 2 การปิดแผลเช่นไรดีมีแต่หลักฐานคุณภาพไม่ดี[58]การไม่ปิดแผลไหม้ระดับ 1 นั้นเหมาะสม[42]

แม้มักจะแนะนำยาทาปฏิชีวนะ แต่ก็มีหลักฐานสนับสนุนน้อย[59][60]ยาปฏิชีวนะซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน (silver sulfadiazine) ไม่แนะนำเพราะอาจทำให้หายช้า[58][61]มีหลักฐานไม่เพียงพอสนับสนุนให้ใช้ผ้าปิดที่มีซิลเวอร์[62]หรือการปิดแผลแบบดูดอากาศลดความดัน (negative-pressure wound therapy)[63]ซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนดูไม่ต่างกับโฟมมีซิลเวอร์เพื่อช่วยให้แผลหาย[64]

ยา

แผลไหม้อาจเจ็บมาก แต่ก็มีวิธีลดความเจ็บ เช่นใช้ยาระงับปวดธรรมดา ๆ เช่น ไอบิวพรอเฟนและพาราเซตามอล และใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ เช่น มอร์ฟีนยากลุ่มเบ็นโซไดอาเซพีนอาจให้พร้อมกับยาระงับปวดเพื่อลดความวิตกกังวล[42]เมื่อกำลังหาย อาจนวด ใช้สารต้านฮิสตามีน หรือการกระตุ้นประสาทผ่านผิว (transcutaneous electrical nerve stimulation) เพื่อแก้คัน[16]แต่สารต้านฮิสตามีนก็ได้ผลเพื่อจุดประสงค์นี้เพียงในคนไข้ร้อยละ 20[65]มีหลักฐานเบื้องต้นสนับสนุนให้ใช้ยา gabapentin (ปกติใช้รักษาโรคลมชัก ความเจ็บปวดเหตุโรคเส้นประสาท อาการวัยทอง อาการขาอยู่ไม่เป็นสุข)[16]คืออาจสมควรกับคนที่ไม่ดีขึ้นเมื่อใช้สารต้านฮิสตามีน[66]ลิโดเคน (lidocaine) ที่ให้ทางเส้นเลือดต้องมีงานศึกษาเพิ่มขึ้นก่อนจะแนะนำให้ใช้แก้ปวด[67]

การให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดแนะนำก่อนการผ่าตัดสำหรับคนไข้ที่ไหม้มาก (>60% TBSA)[68]จนถึงปี 2008 แนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ไม่แนะนำให้ทำอย่างนี้โดยทั่วไปเพราะแบคทีเรียอาจดื้อยา[59]และเพราะเสี่ยงติดเชื้อรา[15]แต่หลักฐานเบื้องต้นก็แสดงว่า อาจเพิ่มอัตรารอดชีวิตสำหรับคนไข้ที่มีแผลไหม้ใหญ่และรุนแรง[59]แต่ไซโตไคน์แบบไกลโคโปรตีนคือ อิริโทรพอยเอติน (Erythropoietin) ก็ไม่พบว่ามีผลป้องกันหรือรักษาภาวะเลือดจางในคนไข้แผลไหม้[15]ในกรณีที่มีเหตุจากกรดไฮโดรฟลูออริก แคลเซียมกลูโคเนต (calcium gluconate) เป็นยาแก้พิษโดยเฉพาะ และอาจให้ทางเส้นเลือดและ/หรือใช้ทา[30]ฮอร์โมนการเติบโตของมนุษย์แบบลูกผสม (recombinant human growth hormone ตัวย่อ rhGH) ในกรณีที่ไหม้เกินร้อยละ 40 ปรากฏว่า ช่วยให้หายเร็วขึ้นแม้ไม่มีผลต่อความเสี่ยงตาย[69]การใช้สเตอรอยด์รักษาไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน[70]

การผ่าตัด

แผลที่ต้องปิดด้วยการปลูกถ่ายหนัง (skin graft) หรือแผ่นเนื้อเยื่อปะปลูก (flap) ควรทำให้เร็วที่สุด โดยปกติคือแผลซึ่งยิ่งกว่าแผลไหม้ระดับ 3 เล็ก ๆ[71]แผลไหม้เป็นวงของแขนขาหรือหน้าอกอาจต้องผ่าตัดเอาหนังออกที่เรียกว่า escharotomy[72]เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการเดินเลือดหรือการหายใจ[72]ไม่ชัดเจนว่านี่มีประโยชน์สำหรับแผลที่คอหรือนิ้วหรือไม่[72]การผ่าตัดพังผืด (fasciotomy) อาจจำเป็นสำหรับแผลไหม้เหตุไฟฟ้า[72]การปลูกถ่ายหนังอาจใช้สิ่งทดแทนหนังชั่วคราว ไม่ว่าจะได้จากสัตว์ (มนุษย์ผู้บริจาคหรือหมู) หรืออาจสังเคราะห์โดยใช้ปิดแผล ป้องกันการติดเชื้อและการเสียน้ำ แต่ในที่สุดก็จะเอาออกหรือว่า หนังมนุษย์ที่ปลูกถ่ายอาจติดอย่างถาวรถ้าไม่มีปฏิกิริยาปฏิเสธสิ่งปลูกถ่าย[73]

ไม่มีหลักฐานว่าการใช้คอปเปอร์ซัลเฟตเพื่อให้เห็นอนุภาคฟอสฟอรัสแล้วเอาออกจะช่วยให้แผลหายสำหรับแผลไหม้เหตุฟอสฟอรัสและการดูดซึมคอปเปอร์ซัลเฟตเข้าในเลือดก็มีผลร้าย[74]

แพทย์ทางเลือก

น้ำผึ้งใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณเพื่อช่วยรักษาแผลและอาจมีประโยชน์สำหรับแผลไหม้ระดับ 1 และ 2[75]มีหลักฐานพอควรว่ามันช่วยแผลที่ไม่ไหม้ตลอดหนัง[76][77]หลักฐานสนับสนุนให้ใช้ว่านหางจระเข้มีคุณภาพไม่ดี[78]แม้อาจช่วยลดความเจ็บ[19]และงานทบทวนวรรณกรรมของกลุ่มแพทย์ไทยปี 2007 พบหลักฐานเบื้องต้นว่าช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น[79]แต่งานทบทวนต่อ ๆ มาตั้งแต่ปี 2012 ก็ไม่พบว่าดีกว่าซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน[78]มีงานทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมเพียง 3 งานที่ใช้พืชรักษาแผลไหม้ คือมี 2 งานเกี่ยวกับว่านหางจระเข้ และงานหนึ่งเกี่ยวกับข้าวโอ๊ต[80]

มีหลักฐานน้อยว่าวิตามินอีช่วยไม่ให้เป็นแผลเป็น[81]ไม่แนะนำให้ใช้เนย[82]ในประเทศมีรายได้น้อย แผลไหม้จะรักษาด้วยแพทย์แผนโบราณอาจถึง 1/3 ซึ่งรวมการทาไข่ โคลน ใบสมุนไพร หรือมูลโค[23]การผ่าตัดจะจำกัดในบางกรณีเพราะจนหรือไม่มีหมอ[23]มีวิธีอื่น ๆ นอกจากยาที่สามารถลดความเจ็บปวดและความวิตกกังวลรวมทั้งการบำบัดด้วยความเป็นจริงเสมือน (virtual reality therapy) การสะกดจิต และวิธีการทางพฤติกรรมต่าง ๆ รวมทั้งวิธีหลอกล่อใจ[66]