ประวัติ ของ แผ่นปะปัก

แผ่นปะปัก เป็นเครื่องมือระบุตัวตนที่สำคัญสำหรับทหารและบุคลากรในเครื่องแบบอื่น ๆ โดยสืบเชื้อสายมาจากวัฒนธรรมโบราณเมื่อหลายพันปีก่อนในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตะวันออกกลาง จีน อินเดีย และอเมริกาใต้

ปัจจุบัน แผ่นปะปักถูกใช้โดยองค์กรภาครัฐ (รวมถึงเครื่องแบบทหาร, หน่วยบริการฉุกเฉิน และผู้ปฏิบัติงานเฉพาะทางอื่น ๆ), ทีมกีฬา และบริษัทในภาคเอกชน เพื่อแสดงถึงระดับยศ ตำแหน่งงาน ตำแหน่งเฉพาะ หรือหน่วยเฉพาะทาง ในกลุ่มเยาวชนรวมทั้งทีมกีฬา องค์กรลูกเสือ และสโมสรเฉพาะทาง มักสวมเสื้อผ้าที่ประดับด้วยแผ่นปะปัก รวมถึงยังใช้โดยหน่วยงานอวกาศ บนเครื่องแบบของนักบินอวกาศเพื่อแสดงถึงภารกิจ (แผ่นปะภารกิจ) และมักจะถูกสะสมโดยนักสะสมแผ่นปะเช่นกัน[1]

การใช้ทางทหาร

แผ่นปะ นย. ลาดตระเวนของนาวิกโยธินไทย กองทัพเรือไทย

เช่นเดียวกับมุทราศาสตร์รูปแบบอื่นๆ สีและรูปบนแผ่นปะทางทหารได้รับการออกแบบคัดเลือกเพื่อสื่อถึงลักษณะและหลักนิยมเชิงบวกที่แตกต่างกันในเชิงสัญลักษณ์

สหรัฐ

แผ่นปะปักถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดยหน่วยทหารสหรัฐ โดยมีตัวอย่างที่ค่อนข้างหยาบ และไม่เป็นทางการบางส่วนที่พบในเครื่องแบบทหารจากสงคราม พ.ศ. 2355, สงครามเม็กซิโกปี พ.ศ. 2388 และสงครามกลางเมือง (พ.ศ. 2404–2408) การระบุหน่วยหรือที่เรียกว่าเครื่องหมายแขนเสื้อและไหล่ (shoulder sleeve insignia: SSI) เป็นองค์ประกอบที่ค่อนข้างใหม่ของเครื่องแบบทหารยุคใหม่ในขณะนั้น หลังจากมีต้นจุดเริ่มต้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อ พลเอก จอห์น เจ. เพอร์ชิง ได้อนุญาตให้ใช้งานได้แบบจำกัด

แผ่นปะทางการทหารที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐคือ "Big Red One" ของกองพลทหารราบที่ 1 ซึ่งใช้งานครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2461 เครื่องหมายแขนเสื้อและไหล่ (SSI) กลายเป็นเรื่องธรรมดาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และมีแผ่นปะเฉพาะสำหรับแต่ละหน่วยของกองทัพบก กองทัพเรือ นาวิกโยธิน กองทัพอากาศ และหน่วยยามฝั่ง จนกลายเป็นประเพณีที่น่าภาคภูมิใจในการใช้งาน เกิดตลาดสำหรับนักสะสม โดยเฉพาะแผ่นปะรุ่นที่ผลิตมาอย่างจำกัดที่หายาก

มีการกำหนดกฎระเบียบต่าง ๆ เกี่ยวกับวิธีการแสดงตรา จำนวนแผ่นปะที่สามารถประดับได้ในคราวเดียว และแผ่นปะดังกล่าวอาจประดับบนเครื่องแบบของเหล่าบริการมากกว่าหนึ่งเหล่า ในกองทัพสหรัฐฯ เครื่องหมายแขนเสื้อและไหล่ (SSI) จะประดับบริเวณแขนซ้ายบน ใต้ตะเข็บไหล่ของชุดเครื่องแบบ บางครั้งจะถูกประดับในบริเวณอื่น โดยเฉพาะเมื่อสวมชุดเกราะหรืออุปกรณ์เสริมและมีการปิดบังการแสดงตราบริเวณช่วงที่กำหนดให้ประดับตามปกติ

พิธีประดับแผ่นปะศูนย์ความเป็นเลิศด้านความยั่งยืนของกองทัพบกสหรัฐ พ.ศ. 2552

สำหรับกองทัพสหรัฐฯ การออกแบบแผ่นปะได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยสถาบันมุทราศาสตร์[2] สถาบันเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะแสดงแผ่นปะทางทหารอย่างไร การประดับ และเหตุผลในการประดับแสดง ตราสัญลักษณ์รับประกัน (hallmark) ถูกกำหนดให้กับผู้ผลิตเครื่องหมายทางทหารที่ได้รับการรับรองแต่ละราย เพื่อระบุว่าผู้ผลิตรายใดที่เป็นผู้ผลิตชิ้นงาน สำหรับผู้ผลิตรายอื่นในการสร้างการออกแบบบนแผ่นปะที่มีลักษณะคล้ายกับรายการประกาศอย่างเป็นทางการของแผ่นปะกองทัพบกจะถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย

อุตสาหกรรมแผ่นปะปักถูกครอบงำโดยบริษัทที่ก่อตั้งมายาวนานหลายแห่ง เช่น Chicago Sewing Company (ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2433), Lion Brothers (ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2442), St. Louis Embroidery (ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2430), A-B Emblem และ Penn Emblem (ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2490) เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา การผลิตตราสัญลักษณ์ได้ย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าผู้ผลิตบางรายจะยังคงรักษาโรงงานในการผลิตไว้ในประเทศก็ตาม

แหล่งที่มา

WikiPedia: แผ่นปะปัก https://web.archive.org/web/20060411072120/http://... https://web.archive.org/web/20230315022259/https:/... http://www.tioh.hqda.pentagon.mil/ https://www.trc-leiden.nl/trc-needles/tools/embroi... http://www.mesadist.com/history.asp https://www.defense.gov/News/Feature-Stories/Story... https://www.wikidata.org/wiki/Q384074#identifiers https://d-nb.info/gnd/7565686-3 https://id.ndl.go.jp/auth/ndlna/00560290 https://web.archive.org/web/20200713230658/http://...