คณะแพทยศาสตร์ในประเทศไทย ของ แพทยศาสตร์

การเรียนการสอนทางแพทยศาสตร์นั้น เกิดขึ้นครั้งแรกที่ โรงเรียนแพทยากร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น ณ โรงศิริราชพยาบาล ซึ่งก็คือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน ต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 2 ขึ้น เพื่อผลิตแพทย์ให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน นั่นคือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นในส่วนภูมิภาคของประเทศคณะแรก ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 3 จากนั้น ได้จัดตั้ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 4 ของประเทศ และเป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 2 ของมหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้น ได้จัดตั้ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่5 และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่6 ของประเทศ และมีคณะแพทยศาสตร์ อื่นๆอีกรวม 20 แห่ง ทั่วประเทศ เช่น คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ฯลฯ

ตามระเบียบการและเกณฑ์การรับแพทย์ของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ประจำปีการศึกษา 2559 มีการเรียนการสอนทางแพทยศาสตร์ 13 สถาบัน (คณะแพทยศาสตร์ 11 คณะและวิทยาลัยแพทยศาสตร์ 2 วิทยาลัย), คณะทันตแพทยศาสตร์ 7 สถาบัน และคณะสัตวแพทยศาสตร์ 6 สถาบัน ที่ร่วมดำเนินการรับสมัครและสอบคัดเลือกบุคคลผ่านระบบรับตรง รวม 1,592 คน[1]