วงจรชีวิต ของ แมงป่องช้าง

แมงป่องช้างตัวผู้จะมีลักษณะเรียว หางยาวและก้ามใหญ่ แถบข้างลำตัวสีขาวอมเทา เมื่อถูกบุกรุกจะชูก้าม ชูหางข่มคู่ต่อสู้ ส่วนตัวเมียส่วนท้องจะอ้วนและโตกว่า แถบข้างลำตัวสีขาวอมเทา [5]

ก่อนตกลูก แม่แมงป่องจะซ่อนตัวในที่ปลอดภัย ลูกแมงป่องเกิดใหม่จะคลานไปมาบริเวณใต้ท้องแม่ ส่วนแม่แมงป่องจะงอขาคู่แรกรองรับลูกบางตัวเอาไว้ และกางอวัยวะคล้ายหวี ออกเต็มที่เพื่อให้ช่องสืบพันธุ์อยู่พ้นจากพื้นดินให้มากที่สุด หากอวัยวะคล้ายหวีส่วนนั้นสัมผัสพื้นจะไม่ยอมคลอด เพราะลูกอาจมีอันตราย

แมงป่องช้างตกลูกครั้งละประมาณ 7-28 ตัว ด้วยอัตราประมาณ 1 ตัว/1 ชั่วโมง ดังนั้นแม่แมงป่องจึงใช้เวลาตกลูกแต่ละครอกนานมาก ตั้งแต่ 12-24 ชั่วโมง ลูกแมงป่องเกิดใหม่จะปีนขึ้นไปเกาะกลุ่มเป็นก้อนสีขาวยั้วเยี้ยบนหลังแม่แมงป่อง ซึ่งระยะนี้แม่แมงป่องจะกินอาหารและน้ำน้อยมาก และไม่เคลื่อนย้ายไปไหนหากไม่จำเป็น เพราะต้องคอยระวังภัยให้ลูก ส่วนลูกแมงป่องจะอยู่บนหลังแม่นานถึงสองสัปดาห์โดยไม่กินน้ำและอาหารเลย

ลูกแมงป่องช้างแรกเกิดมีสีขาวล้วน ยกเว้นตาที่เป็นจุดดำสองจุด ตามลำตัวอาจมีจุดสีดำหรือน้ำตาล ตัวอ่อนนุ่มนิ่ม อ้วนกลมเป็นปล้อง ๆ ส่วนหางสั้น ลำตัวเมื่อยืดหางออกเต็มที่ยาว 1.3 เซนติเมตร และหนัก 0.2 กรัม ในสามวันแรกลักษณะภายนอกไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด ส่วนใหญ่ลูกแมงป่องจะเกาะกลุ่มกันอยู่นิ่ง ๆ กระทั่งหลังวันที่ 5 สีของลูกแมงป่องช้างจะเข้มขึ้น จากสีขาวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เมื่ออายุ 7 วัน ลูกแมงป่องช้างมีขนาด 1.7 เซนติเมตร หนัก 0.18 กรัม เคลื่อนไหวมากขึ้น และอาจไต่ไปมาบนหลังแม่

ในช่วงที่อยู่บนหลังแม่นี้ ลูกแมงป่องช้างได้พลังงานและน้ำจากการสลายไขมันที่สะสมอยู่ในลำตัวที่อ้วนกลม จึงทำให้น้ำหนักตัวลดลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่แรกเกิดกระทั่งถึงระยะนี้ และไม่พบการเรืองแสง

ลูกแมงป่องช้างจะลอกคราบครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 11 วัน หลังลอกคราบลักษณะภายนอกจะเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน จากลำตัวอวบอ้วนสีขาวเปลี่ยนเป็นลำตัวผอมเพรียวสีน้ำตาลเข้ม เริ่มเคลื่อนไหวรวดเร็ว ลูกแมงป่องบางตัวจะขึ้น ๆ ลง ๆ จากหลังแม่ และเริ่มสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ยังคงไม่กินอะไรทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ลักษณะสำคัญที่เห็นได้ชัดคือเริ่มมีการเรืองแสงตามก้ามและขา ยกเว้นส่วนหลังและท้อง กระทั่งเข้าสู่วันที่ 14 แม้สีของลูกแมงป่องไม่ต่างจากตอนลอกคราบใหม่ ๆ นัก แต่กลับพบว่ามีการเรืองแสงเพิ่มมากขึ้น เมื่อลูกแมงป่องมีอายุประมาณ 15 วัน จะลงจากหลังแม่จนหมด และมีการเรืองแสงทั่วทั้งตัว ลำตัวยาว 2.7 เซนติเมตร น้ำหนัก 0.14 กรัม พร้อมแสดงท่าทางการยกหาง

หลังจากนี้เป็นต้นไป สีผิวของลูกแมงป่องจะเข้มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น จะเคลื่อนไหวรวดเร็ว และชอบซุกตัวอยู่ตามซอกหิน ใต้ใบไม้ ลูก ๆ ที่เป็นอิสระจากแม่แล้วจะยังคงอาศัยอยู่ร่วมกันกับแม่ เนื่องจากยังล่าเหยื่อไม่ได้ก็จะคอยกินเศษอาหารที่เหลือจากแม่ จนกว่าจะสามารถล่าเหยื่อเองได้จึงจะแยกไปอยู่ตามลำพัง ลูกแมงป่องช้างเจริญเติบโตช้ามาก อายุ 1 เดือนมีขนาดราว 3.3 เซนติเมตร หนัก 0.32 กรัม อายุ 1 ปี มีขนาดราว 6 เซนติเมตร และหนักราว 2 กรัม ต้องใช้เวลาอีกนานนับปีและลอกคราบอีกหลายครั้งจึงจะโตเป็นตัวเต็มวัย โดยทั่วไปแมงป่องช้างจะมีอายุราว 3-5 ปี[7]

และบางครั้งหลังการผสมพันธุ์และคลอดลูก แมงป่องช้างตัวเมียจะจับตัวผู้หรือลูก ๆ กินเป็นอาหาร[5]

แหล่งที่มา

WikiPedia: แมงป่องช้าง http://news.ch7.com/detail/138632/%E0%B9%80%E0%B8%... http://news.ch7.com/detail/138642/%E0%B8%AA%E0%B8%... http://www.mapress.com/zootaxa/2005f/z00985f.pdf http://www.science.marshall.edu/fet/euscorpius/p20... http://www.komchadluek.net/detail/20130524/159058/... http://www.siamensis.org/node/1168/revisions/8654/... http://www.dnp.go.th/foremic/entomology/Web/Eminen... http://www.biotec.or.th/brt/index.php/biodiversity... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Hetero...