ลักษณะ ของ แมงป่องช้าง

มีลักษณะเด่น คือ ลำตัวใหญ่ มีสีเข้ม เช่น สีน้ำตาลเข้ม หรือสีดำ มีก้ามขนาดใหญ่ แลดูน่าเกรงขาม มีลำตัวเรียว มีขาจำนวน 4 คู่ มีส่วนหัวและอกอยู่รวมกัน มีตาบนหัวหนึ่งคู่ และตาข้างอีก 3 คู่ตรงกลางหลัง และขอบข้างส่วนหน้า ตรงปากมีก้ามขนาดเล็ก ๆ อีก 1 คู่ ส่วนถัดมาเป็นปล้อง ประกอบด้วยปล้อง 7 ปล้อง ซึ่งปล้องที่ 3 มีอวัยวะสำคัญคือ ช่องสืบพันธุ์ และมีอวัยวะพิเศษ 1 คู่ มีรูปร่างคล้ายหวี ทำหน้าที่รับความรู้สึกจากการสั่นของพื้นดิน ส่วนสุดท้ายคือส่วนหางเรียวยาว ประกอบด้วยปล้อง 5 ปล้องกับปล้องสุดท้าย คือ ปล้องพิษ มีลักษณะพองกลมปลายเรียวแหลม คล้ายรูปหยดน้ำกลับหัว บรรจุต่อมพิษ มีเข็มที่ใช้ต่อย คือ เหล็กใน สำหรับฉีดพิษ เพื่อล่าเหยื่อและป้องกันตัว

แมงป่องช้าง พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนในหลายพื้นที่ในทวีปเอเชีย เช่น กัมพูชา, ลาว, ไทย, เวียตนาม, อินเดีย, ศรีลังกา, เนปาล, จีน และธิเบต[2][3] จนถึงมาเลเซีย, สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย[4] โดยมักจะหลบซ่อนในที่ ๆ ไม่มีแสงสว่าง ปราศจากการรบกวน เช่น ใต้ก้อนหิน, ท่อนไม้ หรือใต้ใบไม้ เป็นต้น ออกหากินในเวลากลางคืน ชอบอุณหภูมิแบบร้อนชื้นประมาณ 20-30 องศาเซลเซียส[5]

แมงป่องช้างเป็นสัตว์ดุ[6] กินอาหาร ได้แก่ พวกสัตว์ตัวเล็ก ๆ เช่น แมงมุม, บึ้ง, กิ้งกือ, หนอน และแมลงอื่น ๆ โดยจะกินขณะที่เหยื่อยังไม่ตาย แมงป่องช้างจะใช้ก้ามจับเหยื่อก่อนแล้วใช้หางที่มีเหล็กในต่อยเหยื่ออย่างรวดเร็วซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จนกระทั่งเหยื่อตายแมงป่องจึงจะใช้ก้ามเล็ก ๆ 1 คู่ ตัดอาหารออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนที่จะกิน รวมถึงกินพวกเดียวกันเองด้วย แมงป่องช้างตัวเมียจะกินตัวผู้หลังผสมพันธุ์เสร็จ[6]

แมงป่องช้าง แม้จะมีลำตัวขนาดใหญ่ น่าเกรงขาม แต่ทว่าพิษกลับไม่สามารถทำอันตรายมนุษย์ให้ถึงแก่ชีวิตได้[4] หลังการผสมพันธุ์แมงป่องช้างตัวเมียจะตั้งท้อง โดยจะมีการขยายตัวของกล้ามเนื้อที่ยึดระหว่างปล้องที่ 3 ถึงปล้องที่ 7 แม่แมงป่องช้างจะตั้งท้องนานประมาณ 7 เดือนถึง 1 ปี จากนั้นจะออกลูกออกมาเป็นตัวในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ช่วงฤดูฝนที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์

แหล่งที่มา

WikiPedia: แมงป่องช้าง http://news.ch7.com/detail/138632/%E0%B9%80%E0%B8%... http://news.ch7.com/detail/138642/%E0%B8%AA%E0%B8%... http://www.mapress.com/zootaxa/2005f/z00985f.pdf http://www.science.marshall.edu/fet/euscorpius/p20... http://www.komchadluek.net/detail/20130524/159058/... http://www.siamensis.org/node/1168/revisions/8654/... http://www.dnp.go.th/foremic/entomology/Web/Eminen... http://www.biotec.or.th/brt/index.php/biodiversity... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Hetero...