แม่น้ำบีอาส
แม่น้ำบีอาส

แม่น้ำบีอาส

แม่น้ำบีอาส (อังกฤษ: Beas River; ฮินดี: ब्यास; ปัญจาบ: ਬਿਆਸ) เป็นแม่น้ำทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย เป็นหนึ่งในแม่น้ำใหญ่ทั้งห้าสาย (ปัญจนที) ของภูมิภาคปัญจาบและเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำสินธุ มีความยาวรวม 470 กิโลเมตร (290 ไมล์) มีพื้นที่ลุ่มน้ำกว้างถึง 20,303 ตารางกิโลเมตร (7,839 ตารางไมล์)[1] แม่น้ำบีอาสมีต้นน้ำอยู่ทางทิศใต้ของช่องเขาโรห์ตัง (Rohtang Pass) ในเทือกเขาหิมาลัย รัฐหิมาจัลประเทศ ตัดผ่านเขตมัณฑี (Mandi) และเข้าเขตกางครา (Kangra) ก่อนจะอ้อมเนินเขาศิวาลิกในเมืองโหศยารปุระ (Hoshiarpur) และไหลผ่านเป็นพรมแดนระหว่างเมืองอมฤตสาร์กับเมืองกปูรถลา (Kapurthala) ไปบรรจบกับแม่น้ำสตลุชที่พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองกปูรถลา[2] แม่น้ำบีอาสเป็นแม่น้ำสายหนึ่งในสนธิสัญญาแม่น้ำสินธุ ซึ่งเป็นข้อตกลงด้านทรัพยากรน้ำระหว่างอินเดียกับปากีสถาน[3]ในพระเวทเรียกแม่น้ำบีอาสว่า "อรชิกิยา" (Arjikiya) อินเดียโบราณเรียก "วิปาศา" (Vipasha) และกรีกโบราณเรียก "ฮิฟาซิส" (Hyphasis)[4] ในปีที่ 326 ก่อนคริสต์ศักราช หลังการต่อต้านของกองทหาร พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชทรงกำหนดให้แม่น้ำสายนี้เป็นพรมแดนด้านตะวันออกสุดของจักรวรรดิของพระองค์ และทรงสั่งให้สร้างแท่นบูชาสิบสองแห่งเพื่อระลึกถึงการขยายพระราชอำนาจ[5][6] ช่วงศตวรรษที่ 20 แม่น้ำบีอาสมีบทบาทในด้านการชลประทานและการผลิตไฟฟ้าจากกระแสน้ำ มีการสร้างเขื่อนสองแห่งคือเขื่อนพอง (Pong Dam) และเขื่อนแพนโดห์ (Pandoh Dam) เพื่อใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้[7][8]เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 2014 เกิดเหตุกลุ่มนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันแห่งหนึ่งในไฮเดอราบาดและผู้นำเที่ยวถูกกระแสน้ำในแม่น้ำบีอาสพัดพา จนมีผู้เสียชีวิต 25 ราย คาดว่าสาเหตุมาจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนลาร์จิ (Larji Dam) โดยไม่ได้มีการประกาศเตือน[9]