การอนุรักษ์ ของ แรดชวา

แรดชวาที่โดนยิงตายโดยพรานชาวดัตช์ ปี พ.ศ. 2438ภาพพิมพ์จากปี พ.ศ. 2404 แสดงให้เห็นถึงการล่าแรดชวา

ปัญหาหลักที่ทำให้จำนวนประชากรของแรดชวาลดลงก็คือการล่าเอานอซึ่งเป็นปัญหาในแรดทุกชนิด การซื้อขายนอแรดในประเทศจีนมีมานานกว่า 2,000 ปี คนจีนเชื่อกันว่านอแรดเป็นยาในการแพทย์แผนจีน ตามประวัติศาสตร์มีการนำหนังมาทำเกราะสำหรับทหารจีนและคนในบางพื้นที่ของประเทศเวียดนามเชื่อกันว่าหนังสามารถแก้พิษงูได้[29] เนื่องจากการกระจายพันธุ์ของแรดชวาอยู่ในหลาย ๆ พื้นที่อยู่ในพื้นที่ยากจน ทำให้ยากที่จะชักจูงให้คนในพื้นที่ไม่ฆ่าสัตว์ที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีประโยชน์นี้เพราะแรดสามารถขายได้ในราคาที่สูงมาก[25] เมื่ออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์เริ่มบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2518 มีการจัดแรดชวาให้อยู่ในบัญชีอนุรักษ์ที่ 1 ดังนั้นการซื้อขายแรดและชิ้นส่วนจึงเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย[30] จากการสำรวจราคานอแรดในตลาดมืดปรากฏว่านอแรดเอเชียมีราคาสูงถึง $30,000 ต่อกก.ซึ่งสูงกว่านอแรดแอฟริกาถึงสามเท่า[5]

การสูญเสียที่อยู่จากการเกษตรกรรมเป็นสาเหตุหนึ่งของการลดลงในประชากรแรดชวา แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุสำคัญนักเพราะประชากรแรดชวานั้นอาศัยอยู่ในอุทยานเพียงสองแห่งที่ได้รับการปกป้องอย่างดี ถิ่นอาศัยที่เสื่อมโทรมจะขัดขวางการฟื้นตัวของประชากรให้ตกเป็นเหยื่อของการล่าสัตว์ได้โดยง่าย แม้ว่าจะมีความพยายามในการอนุรักษ์แต่โอกาสในการอยู่รอดของแรดชวาก็ยังน้อยมาก เพราะประชากรจำกัดอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ สองที่ทำให้อ่อนแอต่อโรคและเกิดการผสมพันธุ์กันเองในหมู่ญาติ การอนุรักษ์ทางพันธุกรรมประมาณว่าประชากรแรดทั้ง 100 ตัวนี้ควรรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมไว้[21]

ในประเทศไทยแรดชวาเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

อูจุงกูลน

คาบสมุทรอูจุงกูลนโดนทำลายล้างด้วยการระเบิดของภูเขาไฟกรากะตัวในปี พ.ศ. 2426 แรดชวากลับมาสร้างอาณานิคมอีกครั้งหลังการระเบิดแต่มนุษย์กลับมาเพียงจำนวนเล็กน้อยทำให้ที่นั่นเป็นสวรรค์ของแรด[21] ในปี พ.ศ. 2474 เมื่อแรดชวาเกือบจะสูญพันธุ์จากสุมาตรา รัฐบาลของหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ได้ประกาศกฎหมายอนุรักษ์แรดที่เหลืออยู่[12] ในปี พ.ศ. 2510 เมื่อมีการสำรวจจำนวนประชากรแรดชวาครั้งแรกในอูจุงกูลน พบว่ามีประชากรแรดเพียง 25 ตัว ในปี พ.ศ. 2523 ประชากรเพิ่มเป็นเท่าตัวคือประมาณ 50 ตัว แม้ว่าแรดชวาในอูจุงกูลนจะไม่มีศัตรูในธรรมชาติ แต่แรดก็ยังต้องแข่งขันในเรื่องทรัพยากรที่ขาดแคลนกับสัตว์ป่าชนิดอื่นซึ่งทำให้มีจำนวนของแรดชวาต่ำกว่าขีดความสามารถในการรองรับได้ของคาบสมุทร[31] อูจุงกูลนบริหารโดยกรมป่าไม้ของอินโดนีเซีย[12] มีหลักฐานการพบลูกแรดสี่ตัวในปี พ.ศ. 2549 มีเอกสารเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้มากมาย[32]

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 มีการเผยแพร่ภาพจากกล้องกับดักที่แสดงถึงแรดชวาที่โตเต็มที่และแรดวัยอ่อน ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีการจับคู่ผสมพันธุ์ของแรดชวาในอูจุงกูลนเมื่อไม่นานมานี้[33]

ก๊าตเตียน

R.s. annamiticus สปีชีส์ย่อยที่ครั้งหนึ่งกระจายพันธุ์อยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่ตัวนั้นอาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติก๊าตเตียนในประเทศเวียดนาม หลังสงครามเวียดนาม คาดกันว่าแรดชวาสูญพันธุ์ไปแล้ว กลยุทธ์ที่ใช้ในสงครามสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระเบิดเพลิง ฝนเหลือง การทิ้งระเบิดทางอากาศ และการใช้กับระเบิด สงครามยังนำมาซึ่งอาวุธสงครามราคาถูกในพื้นที่ หลังจากสงคราม ชาวบ้านยากจนที่แต่ก่อนใช้เพียงหลุมดักกลายเป็นนายพรานที่น่ากลัวจากอาวุธร้ายแรงที่มีการจัดจำหน่าย สมมุติฐานของการสูญพันธุ์นั้นเปลี่ยนไปเมื่อปี พ.ศ. 2531 เมื่อนายพรานยิงแรดเพศเมียที่โตเต็มที่ได้จึงพิสูจน์ได้ว่ามีแรดชวาเหลือรอดจากสงคราม ในปี พ.ศ. 2532 นักวิทยาศาสตร์ได้สำรวจป่าทางตอนใต้ของเวียดนามเพื่อค้นหาหลักฐานของแรดที่รอดชีวิต รอยเท้าที่พบแสดงว่ามีแรดอย่างน้อย 15 ตัวตามริมฝั่งแม่น้ำด่งไน (Dong Nai River)[34] การมีอยู่ของแรดชวาทำให้ถิ่นอาศัยของมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติก๊าตเตียนในปี พ.ศ. 2535[29]

เป็นที่กลัวกันว่าประชากรของแรดชวาจะลดลงจนเลยจุดที่จะสามารถฟื้นฟูได้แล้ว ซึ่งนักอนุรักษ์บางคนประเมินว่าเหลือรอดเพียง 3-8 ตัวเท่านั้นและอาจจะไม่มีเพศผู้เลย[21][32] นอกจากนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าแรดเวียดนามยังมีโอกาสที่จะอยู่รอดหรือไม่ นักอนุรักษ์บางคนอ้างว่าควรนำแรดจากอินโดนีเซียเข้ามาเพื่อรักษาจำนวนประชากรเอาไว้ แต่บางคนอ้างว่าประชากรแรดยังสามารถฟื้นฟูได้[7][35]

ในต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 มีการพบซากแรดชวาในอุทยานแห่งชาติก๊าตเตียน แรดถูกยิงและตัดนอโดยพราน[36] ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 มูลนิธิแรดระหว่างประเทศ (International Rhino Foundation- IRF) และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลได้ยืนยันว่าแรดชวาได้สูญพันธุ์จากประเทศเวียดนามแล้ว[37][38] โดยมีข้อยืนยันจากการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมในตัวอย่างมูลสัตว์ 22 ตัวอย่าง[38] ที่องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลในประเทศเวียดนามและอุทยานแห่งชาติก๊าตเตียนรวบรวมไว้ในระหว่างการสำรวจตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 ถึง เดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 แสดงว่ามีแรดชวาเพียงตัวเดียวเท่านั้นในอุทยาน และแรดชวาตัวนั้นถูกฆ่าตายในเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 จึงเป็นไปได้ที่แรดชวาชนิดย่อยนี้สูญพันธุ์ไปแล้ว ปัจจุบันมีแรดชวาเหลืออยู่ที่อูจุงกูลนเพียงแห่งเดียวเท่านั้น[39] [40]

ในกรงเลี้ยง

ไม่มีการจัดแสดงแรดชวาในสวนสัตว์มากว่าศตวรรษ ในคริสต์ทศวรรษ 1800 มีแรดชวาอย่างน้อยสี่ตัวจัดแสดงในแอดิเลด กัลกัตตา และ ลอนดอน มีแรดชวาอย่างน้อย 22 ตัวที่มีเอกสารบันทึกว่าอยู่ในกรงเลี้ยงซึ่งบางทีอาจมีมากกว่านั้นเพราะบางครั้งมีการจำแรดอินเดียสับสนกับแรดชวา[41] แรดชวาไม่ได้อยู่สุขสบายนักในกรงเลี้ยง มีอายุสูงสุดเพียงแค่ 20 ปีซึ่งเป็นแค่ครึ่งเดียวของแรดที่อาศัยอยู่ในป่า แรดชวาในที่เลี้ยงตัวสุดท้ายตายลงที่สวนสัตว์แอดิเลดในประเทศออสเตรเลียในปี พ.ศ. 2450 ซึ่งได้รับการจัดแสดงในชื่อแรดอินเดีย[19] เนื่องจากโปรแกรมการขยายพันธุ์กระซู่ในสวนสัตว์ที่แพงและยาวนานในคริสต์ทศวรรษ 1980-1990 ได้ล้มเหลวลง ความพยายามที่จะปกป้องแรดชวาในสวนสัตว์นั้นจึงไม่มีทางเป็นไปได้[5]

แหล่งที่มา

WikiPedia: แรดชวา http://www.abc.net.au/news/video/2011/03/01/315176... http://www.nytimes.com/2006/07/11/science/11rhin.h... http://www.rhinoresourcecenter.com http://www.rhinoresourcecenter.com/index.php?s=1&a... http://www.rhinoresourcecenter.com/pdf_files/117/1... http://www.rhinoresourcecenter.com/species/javan-r... http://www.bucknell.edu/msw3/browse.asp?id=1410006... //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/11286489 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/8896369 http://digitallibrary.amnh.org/dspace/bitstream/22...