ปรัชญาธรรมชาติ ของ แอริสตอเติล

"ปรัชญาธรรมชาติ" ของแอริสตอเติลครอบคลุมปรากฏการณ์ธรรมชาติหลากหลายซึ่งรวมถึงสิ่งที่จัดอยู่ในวิชาฟิสิกส์ ชีววิทยาหรือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติอื่นในปัจจุบัน[10] ในอภิธานของแอริสตอเติล "ปรัชญาธรรมชาติ" เป็นปรัชญาแขนงหนึ่งที่สอบสวนปรากฏการณ์ในโลกธรรมชาติ งานของแอริสตอเติลครอบคลุมการสอบสวนทางปัญญาแทบทุกแง่มุม แอริสตอเติลทำให้ปรัชญามีความหมายอย่างกว้างอยู่รวมกับการใช้เหตุผล ซึ่งเขาจะเรียกว่าเป็น "ศาสตร์" แต่พึงทราบว่าการใช้คำว่า "ศาสตร์" ของเขานั้นมีความหมายแตกต่างจากสิ่งที่ครอบคลุมด้วยคำว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์ แอริสตอเติลเขียนว่า "ศาสตร์ (dianoia) ทุกชนิดเป็นเชิงปฏิบัติ บทกวีหรือทฤษฎี" ศาสตร์เชิงปฏิบัติของเขารวมถึงจริยศาสตร์และการเมือง ศาสตร์บทกวีของเขาหมายความถึงการศึกษาวิจิตรศิลป์รวมทั้งบทกวี ศาสตร์ทฤษฎีของเขาครอบคลุมฟิสิกส์ คณิตศาสตร์และอภิปรัชญา[10]

ฟิสิกส์

ห้าธาตุ

ในหนังสือ On Generation and Corruption แอริสตอเติลเชื่อมโยงสี่ธาตุที่เสนอก่อนหน้านี้โดย Empedocles ได้แก่ ดิน น้ำ ลมและไฟ กับคุณสมบัติที่สัมผัสได้สองจากสี่อย่าง ได้แก่ ร้อน เย็น เปียกและแห้ง ตามแผนของ Empedocles สสารทั้งหมดประกอบขึ้นจากสี่ธาตุในสัดส่วนแตกต่างกัน แผนของแอริสตอเติลเพิ่มธาตุอีเทอร์ (Aether) จากสวรรค์ ซึ่งเป็นสสารของทรงกลมสวรรค์ คือ ดาวฤกษ์และดาวเคราะห์[11]

ธาตุของแอริสตอเติล[11]
ธาตุร้อน/เย็นเปียก/แห้งการเคลื่อนที่สถานะของสสารสมัยใหม่
ดินเย็นแห้งลงของแข็ง
น้ำเย็นเปียกลงของเหลว
ลมร้อนเปียกขึ้นแก๊ส
ไฟร้อนแห้งขึ้นพลาสมา
อีเทอร์(สสารเทวะ)เป็นวงกลม
(บนสวรรค์)

การเคลื่อนที่

กฎการเคลื่อนที่ของแอริสตอเติลมีว่าวัตถุตกลงพื้นด้วยความเร็วแปรผันตรงกับน้ำหนักและแปรผกผันกับความหนาแน่นของของไหลที่เป็นตัวกลาง[12] ซึ่งเป็นการประมาณที่ถูกต้องสำหรับวัตถุในสนามความโน้มถ่วงของโลกที่เคลื่อนที่ในอากาศหรือน้ำ[13]

แอริสตอเติลอธิบายการเคลื่อนที่ไว้สองแบบ คือ "การเคลื่อนที่รุนแรง" หรือ "ไม่เป็นธรรมชาติ" เช่น การขว้างหิน และ "การเคลื่อนที่ธรรมชาติ" เช่น วัตถุที่ตกลงพื้น ในการเคลื่อนที่รุนแรง เมื่อตัวการหยุดออกแรงกระทำ การเคลื่อนที่ก็หยุดเช่นกัน กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า สภาพธรรมชาติของวัตถุคือการอยู่กับที่[14] เนื่องจากแอริสตอเติลไม่ได้พิจารณาแรงเสียดทานด้วย[12] ด้วยความเข้าใจนี้ จะสังเกตได้ตามที่แอริสตอเติลกล่าวว่า วัตถุหนัก (เช่น อยู่บนพื้น) ต้องใช้แรงมากกว่าในการทำให้วัตถุขยับ ละวัตถุที่ถูกผลักด้วยแรงที่มากกว่าจะเคลื่อนที่เร็วกว่า[15]

ใน Physics (215a25) แอริสตอเติลระบุกฎจำนวนว่า ความเร็ว v ของวัตถุที่ตกลงแปรผันตรง (กำหนดค่าคงที่ตัวหนึ่งขึ้นมาคือ c) กับน้ำหนัก W และแปรผกผันกับความหนาแน่น[upper-alpha 4] ρ ของของไหลที่เป็นตัวกลาง[13][12]

v = c W ρ {\displaystyle v=c{\frac {W}{\rho }}}

แอริสตอเติลส่อความว่าในสุญญากาศความเร็วของการตกจะไม่มีที่สิ้นสุด และสรุปจากความไม่สมเหตุสมผลนี้ว่าสุญญากาศจะมีอยู่ไม่ได้[13][12]

อาร์คิมิดีสแก้ไขทฤษฎีของแอริสตอเติลว่าวัตถุที่เคลื่อนที่เข้าสู่สถานที่พักตามธรรมชาติของมัน เรือโลหะสามารถลอยน้ำได้หากมันแทนที่น้ำมากพอ การลอยขึ้นอยู่กับแผนของอาร์คิมิดีสว่าด้วยมวลและปริมาตรของวัตถุ ไม่ใช่ความคิดเรื่ององค์ประกอบมูลฐานของวัถตุของแอริสตอเติล[13]

งานเขียนของแอริสตอเติลว่าด้วยการเคลื่อนที่ยังมีอิทธิพลอยู่จนสมัยใหม่ตอนต้น กล่าวกันว่ากาลิเลโอแสดงด้วยการทดลองว่าข้ออ้างของแอริสตอเติลเรื่องวัตถุที่หนักกว่าจะตกลงสู่พื้นเร็วกว่าวัตถุที่เบากว่าไม่ถูกต้อง[10] ส่วนคาร์โล โรเวลลี นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีในคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีความเห็นแย้งว่า ฟิสิกส์การเคลื่อนที่ของแอริสตอเติลถูกต้องในขอบเขตความสมเหตุสมผล ที่ว่าวัตถุในสนามความโน้มถ่วงของโลกจมอยู่ในของไหลเช่นอากาศ ในระบบนี้ วัตถุที่หนักกว่าตกลงอย่างคงที่เดินทางเร็วกว่าวัตถุที่เบากว่า (ไม่ว่าคิดแรงเสียดทานหรือไม่)[13] และวัตถุจะตกลงช้าลงในตัวกลางที่หนาแน่นกว่า[15]

สี่เหตุ

แอริสตอเติลให้เหตุผลโดยอาศัยแนวเทียบงานไม้ว่าสิ่งเกิดรูปมาได้จากสี่เหตุ ในกรณีของโต๊ะ ไม้ที่ใช้ (เหตุวัตถุ) การออกแบบ (เหตุรูปนัย) อุปกรณ์และเทคนิคที่ใช้ (สัมฤทธิเหตุ) และวัตถุประสงค์เพื่อการตกแต่งหรือใช้งาน (อันตเหตุ)[16]

แอริสตอเติลเสนอว่าเหตุผลของทุกสิ่งสามารถบอกได้ว่ามาจากปัจจัยสี่ชนิด

  • เหตุวัตถุ (material cause) อธิบายวัตถุของประกอบขึ้นเป็นวัตถุ ตัวอย่างเช่น เหตุวัตถุของโต๊ะคือไม้ ไม่ใช่เหตุเกี่ยวกับการกระทำ ไม่ได้หมายความว่าโดมิโนแท่งหนึ่งล้มทับอีกแท่งหนึ่ง[17]
  • เหตุรูปนัย (formal cause) เป็นรูปของวัตถุ คือ การจัดเรียงของสสาร เป็นการบอกว่าสิ่งหนึ่งคืออะไร สิ่งนั้นตัดสินจากนิยาม รูป แปรูป สารัตถะ ภาวะสังเคราะห์หรือแม่แบบ กล่าวอย่างง่ายว่า เหตุรูปนัยคือความคิดที่อยู่ในใจของประติมากรซึ่งนำให้ปั้นประติมากรรมนั้น ตัวอย่างอย่างง่ายของเหตุรูปนัยคือภาพทางจิตหรือความคิดซึ่งทำให้ศิลปิน สถาปนิกหรือวิศวกรวาดภาพ[17]
  • สัมฤทธิเหตุ (efficient cause) เป็น "บ่อเกิดปฐมภูมิ"เสนอว่าตัวการทุกชนิด ทั้งที่ไม่มีชีวิตหรือมีชีวิต ที่เป็นบ่อเกิดของการเปลี่ยนแปลง การเคลื่อนที่หรือการหยุดนิ่ง เหตุดังกล่าวครอบคลุมนิยามสมัยใหม่ของ "สาเหตุ" ว่าเป็นตัวการหรือเหตุการณ์เฉพาะหรือสภาพหนึ่ง ในกรณีโดมิโนสองชิ้น เมื่อชิ้นแรกล้มลงจะทำให้ชิ้นที่สองล้มลงตาม[17] ในกรณีของสัตว์ สัมฤทธิเหตุกล่าวถึงการเจริญจากไข่ และการทำงานของร่างกาย[18]
  • อันตเหตุ (final cause, telos) เป็นวัตถุประสงค์ สาเหตุที่มีหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตรงกับความคิดเหตุจูงใจ (motivating cause) สมัยใหม่ เช่น ความจงใจ (volition)[17] ในกรณีสิ่งมีชีวิต ส่อความถึงการปรับตัวกับวิถีชีวิตเฉพาะ[18]

ทัศนศาสตร์

แอริสตอเติลอธิบายการทดลองในวิชาทัศนศาสตร์โดยใช้กล้องทาบเงาใน Problems เล่มที่ 15 อุปกรณ์ดังกล่าวประกอบด้วยห้องมืดโดยเจาะช่องขนาดเล็กให้แสงผ่าน เมื่อใช้กล้องดังกล่าว เขาเห็นว่าไม่ว่าเจาะรูเป็นรูปใดก็ตาม จะเห็นภาพดวงอาทิตย์เป็นทรงกลมเสมอ เขายังสังเกตว่าการเพิ่มระยะห่างระหว่างช่องกับพื้นผิวภาพจะขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น[19]

ความบังเอิญและการเกิดเอง

แอริสตอเติลกล่าวว่า ความบังเอิญ (chance) และการเกิดเอง (spontaneity) เป็นสาเหตุของบางสิ่ง ซึ่งแยกจากเหตุอย่างอื่น เช่น เป็นเพียงความจำเป็น (necessity) ความบังเอิญที่เป็นเหตุที่มีความสำคัญรองลงมาอยู่ในขอบเขตของอุบัติเหตุ (accident) "จากสิ่งที่เกิดเอง" นอกจากนี้ ยังมีความบังเอิญอีกชนิดหนึ่งที่จำเพาะกว่า ซึ่งแอริสตอเติลตั้งชื่อว่า "โชค" (luck) ซึ่งใช้กับตัวเลือกจริยธรรมของบุคคลเท่านั้น[20][21]

ดาราศาสตร์

แอริสตอเติลหักล้างข้ออ้างของดิมอคริตัสที่ว่าทางช้างเผือกเกิดขึ้นจาก "ดาวฤกษ์ที่ถูกเงาของโลกบดบังจากรัศมีดวงอาทิตย์" โดยชี้ให้เห็นอย่างถูกต้องว่าหาก "ดวงอาทิตย์มีขนาดใหญ่กว่าโลก และระยะห่างของดาวฤกษ์กับโลกนั้นไกลกว่าระยะห่างจากดวงอาทิตย์ถึงโลกหลายเท่า แล้วดวงอาทิตย์จะส่องแสงไปยังดาวฤกษ์ทั้งหมดโดยที่โลกจะบังไว้ไม่ได้"[22]

ธรณีวิทยา

แอริสตอเติลเป็นคนแรก ๆ ที่บันทึกการสังเกตทางภูมิศาสตร์ เขากล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์นั้นช้าเกินกว่าจะสังเกตได้ในชั่วชีวิตของบุคคลคนหนึ่ง[23][24]

ชีววิทยา

แอริสตอเติลบรรยายหนวดสืบพันธุ์ของหมึก (ล่างซ้าย) นับเป็นข้อสังเกตสัตววิทยายุคบุกเบิกอย่างหนึ่ง

การวิจัยเชิงประจักษ์

แอริสตอเติลเป็นบุคคลแรกที่ศึกษาชีววิทยาอย่างเป็นระบบ และชีววิทยาเป็นส่วนใหญ่ของงานเขียนของเขา เขาใช้เวลาสองปีศึกษาและบรรยายสัตววิทยาของเลสบอสและทะเลโดยรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลากูนไพรา (Pyrrha) ที่อยู่กลางเกาะ[25][26] ข้อมูลของเขารวบรวมจากข้อสังเกตของเขาเอง[27] คำแถลงของผู้มีความรู้ชำนัญพิเศษอย่างคนเลี้ยงผึ้งและชาวประมง และบันทึกที่ไม่ค่อยแม่นยำนักที่ได้จากนักเดินทางจากต่างถิ่น[28] การเน้นเกี่ยวกับสัตว์มากกว่าพืชนั้นเป็นความบังเอิญทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือ งานเกี่ยวกับพฤกษศาสตร์ของเขาสูญหายไป แต่งานเกี่ยวกับพืชของศิษย์เขาเหลือรอดต่อมา[29]

แอริสตอเติลรายงานสัตว์ทะเลที่เห็นจากการสังเกตบนเลสบอสและสัตว์น้ำที่ชาวประมงจับได้ เขาอธิบายปลาดุก ปลากระเบนไฟฟ้าและปลากบอย่างละเอียด ตลอดจนชั้นเซฟาโลพอด เช่น หมึกและอาร์โกนอต (argonaut) คำบรรยายหนวดผสมพันธุ์ (hectocotyl arm) ของเซฟาโลพอดนั้น คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อกันจนคริสต์ศตวรรษที่ 19[30] เขาให้คำบรรยายอย่างแม่นยำของกระเพาะสี่ห้องของสัตว์เคี้ยวเอื้อง[31] และการเจริญของตัวอ่อนแบบฟักไข่ในตัวของปลาฉลามหมา (houndshark)[32]

เขาสังเกตว่าโครงสร้างของสัตว์ตรงกับการทำหน้าที่พอดี ฉะนั้นในหมู่นก นกกระสาซึ่งอาศัยอยู่ในหนองบึงที่มีโคลนอ่อนและอาศัยจับปลา จึงมีคอและขายาว และมีจะงอยปากแหลมคล้ายหอก ส่วนเป็ดที่ว่ายน้ำได้จะมีขาสั้นและเท้าเป็นพังผืด[33] ทั้งนี้ ชาลส์ ดาร์วินสังเกตข้อแตกต่างระหว่างสัตว์ชนิดคล้ายกันเหล่านี้ด้วย แต่เขาใช้ข้อมูลสรุปเป็นทฤษฎีวิวัฒนาการซึ่งต่างจากแอริสตอเติล สำหรับผู้อ่านสมัยใหม่ งานเขียนของแอริสตอเติลเข้าใกล้การส่อความถึงวิวัฒนาการ แต่ถึงแม้แอริสตอเติลทราบว่ามีการกลายพันธุ์หรือพันธุ์ผสมเกิดขึ้นได้ แต่เขามองว่าเป็นอุบัติเหตุที่เกิดน้อย สำหรับแอริสตอเติล อุบัติเหตุเป็นเหมือนคลื่นความร้อนในฤดูหนาวที่จะต้องถือแยกจากสาเหตุธรรมชาติ ฉะนั้น เขาจึงวิจารณ์ทฤษฎีวัสดุนิยมกำเนิดสิ่งมีชีวิตและอวัยวะของสิ่งมีชีวิตจาก "การอยู่รอดของผู้เหมาะสมที่สุด" ของ Empedocles และหัวเราะเยาะความคิดที่ว่าอุบัติเหตุสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นระเบียบ[34] เมื่อใช้คำสมัยใหม่ เขาไม่ได้กล่าวไว้ที่ใดว่าสปีชีส์ต่างชนิดกันมีบรรพบุรุษร่วมกันได้ หรือชนิดหนึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นอีกชนิดหนึ่งได้ หรือชนิดหนึ่งสามารถสูญพันธุ์ได้[35]

ลีลาวิทยาศาสตร์

แอริสตอเติลอนุมานกฎการเติบโตจากการสังเกตของเขา รวมทั้งว่าขนาดครอกลดลงตามขนาดร่างกาย แต่ระยะมีครรภ์เพิ่มขึ้น เขาทำนายได้ถูกต้องอย่างน้อยก็สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ข้อมูลในแผนภาพเป็นของหนูและช้าง

แอริสตอเติลไม่ได้ทำการทดลองในความหมายสมัยใหม่[36] เขาใช้คำภาษากรีกโบราณ pepeiramenoi ซึ่งหมายถึง การสังเกต หรืออย่างมากก็ใช้กระบวนการสอบส่วนอย่างการผ่าชันสูตร[37] เขาพบว่าไข่ของแม่ไก่ที่ผสมแล้วที่มีระยะที่เหมาะสม แล้วเปิดดูเห็นหัวใจของตัวอ่อนกำลังเต้นอยู่ภายใน[38][39]

เขาใช้ลีลาวิทยาศาสตร์อีกแบบหนึ่ง คือ การรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ การค้นหาแบบรูปที่พบร่วมในสัตว์ทั้งกลุ่ม และอนุมานคำอธิบายเชิงสาเหตุที่เป็นไปได้จากข้อค้นพบนั้น[40][41] ลีลานี้พบทั่วไปในชีววิทยาสมัยใหม่เมื่อมีข้อมูลปริมาณมากอยู่ในสาขาใหม่ เช่น จีโนมิกส์ (genomics) ทั้งนี้ วิธีนี้ไม่มีความแน่นอนแบบเดียวกับวิทยาศาสตร์เชิงทดลอง แต่สามารถได้สมมติฐานที่ทดสอบได้และสร้างคำอธิบายเชิงบรรยายเกี่ยวกับสิ่งที่สังเกตได้ ในความหมายนี้ ชีววิทยาของแอริสตอเติลก็เป็นวิทยาศาสตร์[40]

จากข้อมูลที่เขาเก็บรวบรวมและจดบันทึก แอริสตอเติลอนุมานกฎจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สิ่งมีชีวิตที่มีสัตว์สี่เท้าที่ออกลูกเป็นตัวที่เขาศึกษา คำทำนายที่ถูกต้องของเขา เช่น จำนวนลูกลดลงตามขนาดร่างกายของตัวเต็มวัย โดยช้างจะมีลูกเล็กจำนวนน้อยกว่าหนู อายุขัยของสัตว์เพิ่มขึ้นตามระยะมีครรภ์และขนาดร่างกาย โดยช้างจะมีอายุยืนกว่าหนู มีอายุครรภ์นานกว่าและตัวใหญ่กว่าด้วย ตัวอย่างสุดท้าย ความสามารถมีลูกลดลงตามอายุขัย ฉะนั้นสัตว์ที่อายุยืนอย่างช้างจะมีลูกรวมกันน้อยกว่าสัตว์อายุสั้นอย่างหนู[42]

การจำแนกสิ่งมีชีวิต

แอริสตอเติลบันทึกว่าตัวอ่อนของปลาฉลามหนูชนิดหนึ่งมีสายสะดือยึดกับรก (ถุงไข่แดง) เหมือนกับสัตว์ชั้นสูง นับเป็นข้อยกเว้นของมาตราเส้นตรงจากสูงสุดไปต่ำสุด[43]

แอริสตอเติลแยกสัตว์ประมาณ 500 สปีชีส์[44][45] โดยจัดเรียงตามมาตราความสมบูรณ์โดยแบ่งระดับ (scala naturae) โดยมีมนุษย์อยู่บนสุด ระบบของเขามีสัตว์ 11 ระดับ จากที่มีศักยภาพสูงสุดไปต่ำสุด โดยแสดงในรูปเมื่อเกิด ศักยภาพสูงสุดทำให้สิ่งมีชีวิตเกิดมาตัวร้อนและเย็น ส่วนสัตว์ต่ำสุดมีไข่แห้งคล้ายแร่ธาตุ สัตว์เหนือกว่าพืข และพืชเหนือกว่าแร่ธาตุอีกทอดหนึ่ง[46][47] เขาจัดกลุ่มสัตว์ที่นักสัตววิทยาสมัยใหม่เรียกว่า สัตว์มีกระดูกสันหลัง ว่าเป็นสัตว์ตัวร้อน "มีเลือด" และต่ำกว่านั้นเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังตัวเย็นเป็น "สัตว์ไม่มีเลือด" สัตว์ที่มีเลือดยังแบ่งอีกเป็นสัตว์ที่ออกลูกเป็นตัว (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) และสัตว์ที่ออกลูกเป็นไข่ (สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลานและปลา) สัตว์ที่ไม่มีเลือด ได้แก่ แมลง สัตว์พวกกุ้งกั้งปู ชั้นเซฟาโลพอด และมอลลัสกาเปลือกแข็ง เขาพบว่าสัตว์ไม่เข้ากับมาตราเส้นตรงเสียทีเดียว และหมายเหตุข้อยกเว้นต่าง ๆ เช่น ปลาฉลามมีรกเหมือนกับสัตว์สี่เท้า สำหรับนักชีววิทยาสมัยใหม่ คำอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวที่แอริสตอเติลไม่ทราบคือ วิวัฒนาการลู่ออก[48] เขาเชื่อว่าเหตุสุดท้ายที่เป็นจุดมุ่งหมายชี้นำกระบวนการธรรมชาติทั้งหมด ทัศนะอันตวิทยานี้ให้เหตุผลแก่ข้อมูลที่สังเกตได้ว่าเป็นการสำแดงซึ่งการออกแบบรูปนัย[49]

Scala naturae (สูงสุดไปต่ำสุด) ของแอริสตอเติล
กลุ่มตัวอย่าง (ของแอริสตอเติล)เลือดขาวิญญาณ
(มีเหตุผล R,
มีความรู้สึก S,
นอกอำนาจจิตใจ V)
คุณสมบัติ
(ร้อน–เย็น,
เปียก–แห้ง)
มนุษย์มนุษย์มีเลือด2 ขาR, S, Vร้อน, เปียก
สัตว์สี่ขาออกลูกเป็นตัวแมว กระต่ายป่ามีเลือด4 ขาS, Vร้อน, เปียก
อันดับฐานวาฬและโลมาโลมา, วาฬมีเลือดไม่มีขาS, Vร้อน, เปียก
สัตว์ปีกนกจาบคา, นกตบยุงมีเลือด2 ขาS, Vร้อน, เปียก, ยกเว้นไข่ แห้ง
สัตว์สี่เท้าออกลูกเป็นไข่กิ้งก่าคาเมเลี่ยน, จระเข้มีเลือด4 ขาS, Vเย็น, เปียก ยกเว้นเกล็ด ไข่
งูงูน้ำ งูแมวเซาออตโตมันมีเลือดไม่มีขาS, Vเย็น, เปียก ยกเว้นเกล็ด ไข่
ปลาที่ออกลูกเป็นไข่ปลากระพง, ปลานกแก้วมีเลือดไม่มีข่S, Vเย็น, เปียก รวมไข่
(จัดรวมกับปลาที่ออกลูกเป็นไข่):
ปลาฉลามมีรก
ปลาฉลาม, ปลาสเกตมีเลือดไม่มีขาS, Vเย็น, เปียก แต่มีรกเหมือนสัตว์สี่เท้า
สัตว์พวกกุ้งกั้งปูกุ้ง ปูไม่มีเลือดขาจำนวนมากS, Vเย็น, เปียก ยกเว้นเปลือก
ชั้นเซฟาโลพอดหมึกกล้วย, หมึกไม่มีเลือดมีหนวดS, Vเย็น, เปียก
สัตว์เปลือกแข็งหอยแครง, หอยทรัมเป็ตไม่มีเลือดไม่มีขาS, Vเย็น, แห้ง (เปลือกเป็นแร่ธาตุ)
แมลงที่ออกลูกเป็นตัวอ่อนมด, จั๊กจั่นไม่มีเลือด6 ขาS, Vเย็น, แห้ง
เกิดขึ้นเองฟองน้ำ หนอนไม่มีเลือดไม่มีขาS, Vเย็น, เปียก หรือ แห้ง เกิดจากพื้นโลก
พืชมะเดื่อไม่มีเลือดไม่มีขาVเย็น, แห้ง
แร่ธาตุเหล็กไม่มีเลือดไม่มีขาไม่มีเย็น, แห้ง

ใกล้เคียง

แอริสตอเติล แอริน ยุกตะทัต แอร์สเทอ เอ็ฟเอ็สเฟา ไมนทซ์ 05 แอร์สเทอ เอ็ฟเซ ไคเซิร์สเลาเทิร์น แอรีส แอร์สเทอ เอ็ฟเซ เคิลน์ แอร์สเทอ เอ็ฟเซ อูนีโอนแบร์ลีน แอร์สเทอ เอ็ฟเซ เนือร์นแบร์ค แอริกา ลัสต์ แอร์สยาม