ประวัติ ของ โกศ

พระโกศทองใหญ่ประกอบพระอิสริยยศแก่พระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2559)พระโกศทองน้อยประดิษฐานพระศพ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2528)พระโกศกุดั่นใหญ่ประกอบพระอิสริยยศซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นเกียรติยศแก่พระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2558)โกศโถซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นเกียรติยศแก่ศพพระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) บนศาลาการเปรียญวัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี (พ.ศ. 2554)

การใช้โกศบรรจุพระบรมศพ พระศพ และ ศพขุนนางชั้นผู้ใหญ่มีธรรมเนียมทำกันมานานแล้ว โกศนั้นมีชั้นเชิงแตกต่างกัน การที่ไทยใช้โกศนี้ไม่มีผู้ใดทราบว่าเริ่มแต่สมัยใด สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ตรัสเล่าให้ว่า "น่าจะเป็นแต่สมัยที่ไทยโบราณยังเป็นชนที่ไม่มีถิ่นประจำและเร่ร่อนอยู่ จึงต้องเอาศพของพ่อเมืองขึ้นเกวียนไปด้วย และตั้งในเกวียนตั้งตามแบบโกศง่ายกว่าหีบยาว ๆ" การใช้โกศในไทยปรากฏหลักฐานชัดเจนในสมัยกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงการออกพระเมรุมาศและการบรรจุพระโกศอัฐิในวัดพระศรีสรรเพชญ์[9] ซึ่งโกศทั้งหลายเหล่านั้น น่าจะถูกทำลายตั้งแต่ครั้งการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 หมดแล้ว ส่วนโกศที่เก่าที่สุดที่พบอายุประมาณสมัยกรุงธนบุรี[10] และจากตำนานพระโกศทั้งปวงนี้ตามพงศาวดารบ้าง บอกเล่าบ้าง สันนิษฐานเอาบ้าง เรียงลำดับตามอายุดังนี้[11]

ที่ 1 โกศแปดเหลี่ยม มีอยู่ 4 โกศ มีโกศหนึ่งที่เก่าแก่มาก ไม่ทราบว่าสร้างเมื่อใด มีลวดลาย เป็นอย่างเดียวกับช่างครั้งรัชกาลที่ 1 แต่ฝีมือทำนั้นหยาบมาก ด้วยเหตุที่เวลาว่างการทัพศึกมีน้อย และโกศแปดเหลี่ยมนี้ มีลักษณะอย่างเดียวกันกับพระโกศกุดั่น ที่ปรากฏว่าสร้างครั้งแรกในรัชกาลที่ 1 แต่โกศแปดเหลี่ยมมีมาอยู่ก่อนหน้าแล้ว เข้าใจว่าโกศแปดเหลี่ยมนี้เก่าแก่กว่าโกศอื่นทั้งหมด ด้วยทำยอดเป็นหลังคา ที่แปลงมาจามเหมตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า (โกศที่เก่าแก่ที่สุด) ส่วนอีก 3 โกศนั้น สันนิษฐานว่าทำราวรัชกาลที่ 3 หรือ 4 อีกโกศหนึ่งกรมหมื่นปราบปรปักษ์ทำขึ้นในรัชกาลที่ 5 ใช้ประกอบศพหม่อมแม้น ในสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ครั้งแรก อีกโกศหนึ่ง กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ ขอพระบรมราชานุญาตทำถวายในรัชกาลนี้ ใช้ประกอบศพเจ้าจอมมารดาสังวาล เป็นครั้งแรก

ที่ 2 โกศโถ มีอยู่ 2 โกศ โกศหนึ่งนั้นเก่ามากลวดลายและฝีมือเหมือนกับโกศแปดเหลี่ยมใบเก่า ใช้มาแต่รัชกาลที่ 1 แล้ว ซึ่งน่าจะประกอบกับฝีมือที่ทำรุ่นเดียวกับโกศแปดเหลี่ยม แต่ทำที่หลังโกศแปดเหลี่ยม ในปัจจุบันใช้สำหรับพระราชทานพระราชาคณะและข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ ได้รับพระราชทานโกศเป็นชั้นต้น อีกโกศหนึ่งทำขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลังการเป็นผู้ทำ โดยรับสั่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์

ที่ 3 พระโกศกุดั่น 2 พระโกศ สร้างในรัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2342) ทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ และมีการเล่าขานกันว่าพระโกศองค์หนึ่งชำรุดไป สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรงค้นได้มาแต่ตัวพระโกศ จึงทรงทำฝาและฐานใหม่ประกอบเข้า เรียกพระโกศองค์นี้ว่า "กุดั่นใหญ่" ส่วนอีกองค์หนึ่งที่สร้างในรัชกาลที่ 1 ที่ไม่ชำรุดเรียก "กุดั่นน้อย" และถือว่าพระโกศกุดั่นใหญ่เกียรติยศสูงกว่าพระโกศกุดั่นน้อย

ที่ 4 พระโกศไม้สิบสอง มีตำนานว่าสร้างในรัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2346) ทรงพระบรมศพ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ลอกทองจากพระโกศกุดั่นที่หุ้มไว้แต่เดิม มาหุ้มพระโกศไม้สิบสองแทน นำออกใช้ครั้งแรกประดิษฐานพระโกศไม้สิบสองในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ภายในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)

ที่ 5 พระโกศทองใหญ่ สร้างในรัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2351) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้รื้อทองที่หุ้มกระโกศกุดั่นมาทำพระโกศทองใหญ่ขึ้นไว้ สำหรับพระบรมศพของพระองค์ แต่เมื่อ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระอาลัยมาก จึงโปรดฯให้เชิญพระโกศทองใหญ่ไปประกอบพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพเป็นครั้งแรก และเป็นประเพณีในรัชกาลต่อมา ที่พระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพอื่นเป็นพิเศษนอกจากพระบรมศพ[12]

ที่ 6 พระโกศพระองค์เจ้า มีอยู่ 2 พระโกศ เรียกกันแต่แรกว่าโกศลังกา สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำริให้สร้าง แต่ครั้งยังผนวช เป็นลองสี่เหลี่ยมหุ้มผ้าขาว ยอดเป็นฉัตรระบายผ้าขวา ทรงพระศพพระเจ้าลุกเธอที่ยังทรงพระเยาว์อยู่ (ก่อนมีพระโกศมณฑปน้อย) ต่อมาโกศนี้ สำหรับทรงพระศพพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ จึงทรงคิดทำประกอบนอกขึ้น และกรมหมื่นปราบปรปักษ์ทำเติมขึ้นใหม่อีกพระโกศหนึ่ง

ที่ 7 พระโกศทองน้อย สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2394) โดยกรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ โปรดให้สร้างขึ้น สำหรับทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาผลัดพระโกศทองใหญ่ ไปตั้งในงานอื่น พระโกศทองน้อยนี้ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) สร้างเมื่อในรัชกาลที่ 5 อีกองค์หนึ่ง พระโกศทองน้อย ใช้ทรงพระศพ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เป็นพระองค์ล่าสุด

ที่ 8 พระโกศมณฑปน้อย สร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ 4 โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ พระโกศนี้หุ้มทองคำเฉพาะงาน

ที่ 9 พระโกศมณฑปใหญ่ สร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2406) โดยกรมขุนราชสีหวิกรม เอาแบบมาแต่พระโกศมณฑปน้อย ทรงพระศพกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ด้วยเหตุที่กรมพระพิทักษ์เทเวศร์พระรูปใหญ่โต พระศพลงลองพระโกศสามัญไม่ได้ ต้องทำลองสี่เหลี่ยมขึ้นโดยเฉพาะ พระโกศมณฑปใหญ่นี้ต่อมาสร้างขึ้นอีกองค์หนึ่ง แต่จะสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ทราบแน่

ที่ 10 โกศเกราะ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2406) สำหรับศพเจ้าพระยานิกรบดินทร ด้วยท่านอ้วน ศพลงลองสามัญไม่ได้ ต้องทำลองสี่เหลี่ยม เรียกว่า "โกศเกราะ" เพราะลายสลักเป็นเกราะรัด

ที่ 11 โกศราชนิกุล โปรดฯ ให้กรมขุนราชสีหวิกรมสร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2406) พระราชทานให้ประกอบศพพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ท่านแรก

ที่ 12 พระโกศทองเล็ก โปรดฯ ให้กรมหมื่นปราบปรปักษ์สร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2430) ทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ เป็นทีแรก แล้วได้ใช้ทรงพระศพเจ้านายต่อมา

ที่ 13 พระโกศทองรองทรง โปรดฯให้กรมหมื่นปราปรปักษ์สร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2443) พระโกศองค์นี้นับเหมือนพระโกศองค์ใหญ่ สำหรับใช้แทนที่พระโกศทองน้อย เวลาที่จะต้องหุ้มทองคำ เพื่อจะไม่ให้ต้องหุ้มเข้าและรื้อออกบ่อยๆ