โคปุรัม
โคปุรัม

โคปุรัม

โคปุรัม หรือ โคปุระ (สันสกฤต: गोपुरम्, gopuram) คือหอคอยซุ้มทางเข้าโบสถ์พราหมณ์ ปกติมักประดับตกแต่งอย่างวิจิตรด้วยเทวรูปมากมาย พบในสถาปัตยกรรมทราวิฑหรือสถาปัตยกรรมทมิฬนาฑู ซึ่งเป็นที่นิยมในอินเดียใต้[1]ในอดีต ไม่นิยมสร้างโคปุรัมให้ใหญ่โตเหมือนในปัจจุบัน[2] ต่อมาจึงนิยมสร้างให้มีขนาดใหญ่และส่วนใหญ่นิยมสร้างโคปุรัมล้อมรั้วของเทวสถานด้วยซ้ำ ด้านบนสุดของโคปุรัมคือหินทรงบัลบัสที่เรียกว่ากลสัม (kalasam)[3] สิ่งก่อสร้างลักษณะเดียวกับโคปุรัมตรงกลางของเทวสถานเรียกในอินเดียใต้ว่า วิมาน (vimana) หรือเรียกในอินเดียเหนือว่า ศิขร (shikhara) ทั้งคู่สร้างและออกแบบตามกฏที่บัญญัติไว้ในวาสตุศาสตร์ (Vastu Shastra) คัมภีร์ฮินดูว่าด้วยการก่อสร้างและการออกแบบสถาปัตยกรรมที่คล้ายกับการวางฮวงจุ้ยของจีน[4]นักโบราณคดีเชื่อว่าโคปุรัมได้รับอิทธิพลจากยุคปัลลวะและโครงสร้างที่เรียกว่าหอศิขรในสถาปัตยกรรมแบบอินเดียเหนือ ซึ่งราวปีคริสต์ศักราช[โปรดขยายความ] 12–16 เทวสถานฮินดูกลายเป็นศูนย์รวมของชุมชน ซุ้มทางเข้าจึงกลายเป็นส่วนสำคัญของเทวสถานฮินดู การสร้างซุ้มประตูทางเข้าให้งดงามและโอ่อ่าจึงทำให้เกิดการสร้างโคปุรัมขึ้น จนในที่สุดโคปุรัมบดบังลักษณะของวิหารภายใน[5] บางครั้งโคปุรัมก็เป็นเทวาลัยในตนเองด้วย บางเทวสถานจึงมีโคปุรัมมากกว่าหนึ่งแห่ง[1] โคปุรัมแพร่หลายไปพร้อมกับอิทธิพลของฮินดู ดังที่ปรากฏในสถาปัตยกรรมเขมร เช่น ปราสาทหินต่าง ๆ ที่พบในประเทศกัมพูชาและไทยนักศัพทมูลวิทยาสันนิษฐานที่มาของชื่อ โคปุรัม ไว้อยู่สองทฤษฎีคือ ทฤษฎีแรกเชื่อว่ามาจากภาษาทมิฬคำว่า โค (கோ; kō) ซึ่งแปลว่า "กษัตริย์" และ ปุราม (புறம்; puram) ซึ่งแปลว่า "ด้านนอก"[6] ในขณะที่อีกทฤษฎีเชื่อว่ามาจากภาษาสันสกฤตคำว่า โค (สันสกฤต: गो) ซึ่งแปลว่าวัว หรือ นคร และคำว่า ปุระ (สันสกฤต: पुरम्) ซึ่งแปลว่า เมือง หรือ นิคม[7]