โจรสลัดในปัจจุบัน ของ โจรสลัด

ในปัจจุบันชายฝั่งและทะเลในอเมริกาใต้และทะเลเมดิเตอเรเนียน ยังคงมีโจรสลัดที่ปล้นผู้อื่น โดยชายฝั่งของสหรัฐอเมริกา และชายฝั่งของทะเลแคริบเบียน เริ่มลดน้อยลงเนื่องจากมีการป้องการจากกองกำลังรัฐบาล ค่าเสียหายที่เกิดจากโจรสลัดปล้นในปัจจุบัน คาดว่าประมาณ 5-6.5 แสนล้านบาทต่อปีทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย จุดที่อยู่ระหว่างช่องแคบมะละกา และประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีเรือพาณิชย์ผ่านประมาณ 50,000 ลำต่อปี

ซึ่งโจรสลัดที่ออกปล้นในแถบนี้ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ปฏิบัติการปล้นจะใช้เรือเล็กเร็วเทียบขนานเรือใหญ่แล้วปีนขึ้นเรืออย่างรวดเร็วและเงียบเชียบ ด้วยความชำนาญ ซึ่งบางครั้งลูกเรือใหญ่ไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ ในขณะที่บางคนจะบริกรรมคาถาซึ่งเชื่อว่าจะช่วยในการกำบังกายได้ด้วย และควบคุมลูกเรือทั้งหมดให้อยู่ในจุดเดียวกัน ขณะที่บุคคลสำคัญ เช่น กัปตัน หรือต้นหนจะถูกกักตัวไว้เพื่อเรียกค่าไถ่ ในบางครั้งอาจจะแค่ปล้นทรัพย์อย่างเดียว ส่วนตัวบุคคลหากไม่จำเป็นแล้ว อาจมีการสังหารทิ้งศพลงทะเล

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 สำนักงานพาณิชยนาวีระหว่างประเทศ รายงานการปล้นของโจรสลัดในช่องแคบมะละกาและบริเวณใกล้เคียงว่ามีถึง 258 ครั้ง โดยมีลูกเรือกว่า 200 คนถูกจับเป็นตัวประกันและ 8 คนเสียชีวิต[1]

ในประเทศไทย ฝั่งบริเวณทะเลอันดามัน ยังคงมีโจรสลัดอยู่ ซึ่งใช้เรือเร็วปล้นเรือสินค้าของผู้คนที่แล่นเรือผ่าน โดยในบางครั้งจะเก็บค่าคุ้มครอง หรือจ่ายเงินค่าผ่านทางแทน

โจรสลัดในยุคปัจจุบันมักใช้เรือเล็กแต่มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย ทั้งโทรศัพท์ดาวเทียม, จีพีเอส, ระบบโซนาร์ ในช่วงเดือนมกราคม-เดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2009 มีสถิติเรือสินค้าที่แล่นในแถบอ่าวเอเดน และนอกชายฝั่งของโซมาเลีย ได้ถูกโจรสลัดโจมตีถึง 306 ลำ ซึ่งในบางครั้ง โจรสลัดจะไม่สนใจสินค้าที่บรรทุกมา แต่จะมุ่งฉกฉวยทรัพย์สมบัติของผู้โดยสาร ตลอดจนตู้เซฟของเรือที่เก็บเงินก้อนใหญ่ไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่าย บางครั้งจะไล่ลูกเรือไป แล้วนำเรือเข้าฝั่งไปแปลงโฉมเป็นเรือลำใหม่เพื่อขายหรือใช้ต่อไป หรือกระทำการอุจอาจกว่านั้น คือ คุมตัวเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของเรือไว้แล้วเรียกค่าไถ่ เพื่อหวังจะได้ค่าตอบแทนระดับสูง

จากการประเมินในปี ค.ศ. 2011 ระบุว่า อนาคตจะมีเรือโจรสลัดโซมาเลีย เพิ่มขึ้นปีละ 400 ลำ โดยมีสิ่งจูงใจก็คือ มูลค่าจากการปล้นที่สูงถึง 8,000 ดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะปี ค.ศ. 2010 ปีเดียว ซึ่งเฉลี่ยแล้วรายได้โจรสลัดโซมาเลียแต่ละคนอยู่ราวปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,400,000 บาท) สูงกว่ารายได้เฉลี่ยของชาวโซมาเลียทั่วไปถึง 150 เท่า

ซึ่งในปี ค.ศ. 2010 และ ค.ศ. 2011 มีการร่วมมือกันของหลายชาติในสหประชาชาติ รวมถึงไทยด้วย ในการส่งกองทัพเรือปฏิบัติการร่วมกัน ในชื่อ ปฏิบัติการปราบปรามโจรสลัดโซมาเลีย ซึ่งกองทัพเรือไทยก็มีส่วนร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย[2] [3]