ความพยายามสนับสนุนสงครามครั้งก่อนหน้าของเยอรมัน ของ โทรเลขซิมแมร์มันน์

เยอรมนีพยายามที่จะจุดชนวนสงครามระหว่างเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกามานานแล้ว ซึ่งสงครามดังกล่าวจะช่วยกันกองกำลังของสหรัฐ ฯ ไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับสงครามในฝั่งยุโรป ขณะเดียวกันยังจะช่วยชะลอการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ที่สหรัฐ ฯ สนับสนุนแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร[18] เยอรมนียังเข้าไปเกี่ยวพันกับการสนับสนุนอาวุธ เงินทุน และคำแนะนำแก่เม็กซิโกหลากหลายครั้ง เช่นในเหตุการณ์อือพีรันกา (Ypiranga incident) ที่เรือกลไฟสัญชาติเยอรมัน เอสเอส อือพีรันกา ลำเลียงอาวุธสงครามส่งแก่รัฐบาลกลางเม็กซิโก ซึ่งขณะนั้นถูกคว่ำบาตรทางอาวุธจากสหรัฐอเมริกา[19] และบทบาทของที่ปรึกษาชาวเยอรมันในสมรภูมิอัมโบสโนกาเลส พ.ศ. 2461 (Battle of Ambos Nogales) นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองราชนาวีเยอรมัน ฟรันซ์ ฟอน รินเทเลิน พยายามจุดชนวนสงครามระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2458 ด้วยการสนับสนุนเงินจำนวน 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ แก่วิกโตเรียโน อัวร์ตา[20] และผู้ก่อวินาศกรรมชาวเยอรมัน โลทาร์ วิทซ์เคอ ซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ในเม็กซิโก ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์คลังแสงระเบิดที่อู่ต่อเรือนายวิกโยธิบนเกาะมาเร บริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก เดือนมีนาคม พ.ศ. 2460[21] และอาจรวมไปถึงเหตุระเบิด แบล็กทอม ในนิวเจอร์ซีย์ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2459 ทั้งนี้ความล้มเหลวของกองกำลังสหรัฐอเมริกาในการจับกุมตัวปันโช บียา ในปี พ.ศ. 2459 และความเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีการันซาที่นิยมชมชอบเยอรมนี มีส่วนทำให้เยอรมีกล้าที่จะส่งโทรเลขซิมแมร์มันน์ไปยังเม็กซิโก[22]

อย่างไรก็ตามเยอรมนีก็ประสบความสำเร็จอยู่บ้างในการยุยงให้เกิดการเผชิญทางการทหารหน้าระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกา เช่น กรณีการเข้ายึดครองเวราครูซของสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2457 โดยคำสั่งของประธานาธิบดีวิลสันเพื่อเป็นการตอบโต้เหตุการณ์อือพีรันกา ส่งผลให้พลทหารเม็กซิโกจำนวน 170 นายและพลเรือนอีกไม่ทราบจำนวนเสียชีวิต[23] แต่สงครามเต็มรูปแบบไม่ได้ขึ้นตามประสงค์ของเยอรมนี เนื่องจากการประชุมสันติภาพน้ำตกไนแอการาซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มประเทศเอบีซีช่วยไกล่เกลี่ยความตึงเครียดในครั้งนี้เอาไว้[24] และเหตุการณ์ในครั้งนี้เองยังเป็นปัจจัยช่วยดำรงความเป็นกลางของเม็กซิโกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเอาไว้[9] เม็กซิโกปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกาในการคว่ำบาตรเยอรมนี และในขณะเดียวกันกลับให้คำมั่นสัญญาอย่างหนักแน่นว่าจะคงไว้ซึ่งกิจการด้านการทูตของเยอรมนี โดยเฉพาะในกรุงเม็กซิโกซิตี[10] คำมั่นสัญญานี้ยืนยาวต่อไปได้อีก 25 ปี และสิ้นสุดลงเมื่อเม็กซิโกประกาศสงครามต่อฝ่ายอักษะในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 หลังจากที่สูญเสียบรรทุกน้ำมันสองลำจากการโจมตีของเรือดำน้ำอูแห่งกองทัพเรือ ครีกซมารีเนอ (Kriegsmarine) และในช่วงปี พ.ศ. 2460 - 2461 ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ยังได้พิจารณาการรุกรานเวราครูซและทัมปิโกอีกครั้ง[25][26] เพื่อที่จะได้เข้าควบคุมคอคอดเตฮวนเตเปกและครอบครองบ่อน้ำมันในทัมปิโก[26][27] ซึ่งประธานาธิบดีเม็กซิโก เวนุสเตียโน การันซา ผู้ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งได้ไม่นาน ข่มขู่ว่าจะทำลายบ่อน้ำมันทิ้งหากนาวิกโยธินสหรัฐ ฯ ขึ้นฝั่งที่นั่น[28][29] ดังเช่นที่นักประวัติศาสตร์ เลสเตอร์ แลงลีย์ บันทึกไว้ว่า: "การันซามิอาจบรรลุเป้าประสงค์ทางสังคมของการปฏิวัติ แต่เขาก็ช่วยขับไล่พวก กริงโก (Gringo; ชาวต่างชาติ) ให้พ้นจากเม็กซิโกซิตี"[7][30]

แหล่งที่มา

WikiPedia: โทรเลขซิมแมร์มันน์ http://www.amazon.com/Zimmermann-Telegram-Intellig... http://www.amazon.com/dp/0345324250/ http://www.findarticles.com/p/articles/mi_qa3926/i... http://www.shorpy.com/node/11156?size=_original http://cges.georgetown.edu/docs/docs_working_paper... http://quod.lib.umich.edu/cgi/t/text/text-idx?c=ac... http://texashistory.unt.edu/young/educators/wwI/in... http://www.ourdocuments.gov/doc.php?doc=60 http://germannavalwarfare.info/indexMEX.htm http://books.google.com.mx/books?id=4TyZFqJjLMAC&f...