ผลกระทบในสหรัฐอเมริกา ของ โทรเลขซิมแมร์มันน์

ในสหรัฐอเมริกาขณะนั้น ทัศนคติโดยรวมของสาธารณชนเป็นไปในทิศทางต่อต้านทั้งเม็กซิโกและเยอรมนี ในขณะที่เม็กซิโกเองก็มีทัศนคติต่อต้านสหรัฐอเมริกา ส่วนชาวเม็กซิโกฝ่ายเสรีนิยมมีทัศนคติต่อต้านฝรั่งเศส[14] เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าในขณะนั้นเองนายพลจอร์จ เจ. เพิร์ชชิง ของสหรัฐอเมริกา ได้ไล่ล่านักปฏิวัติชาวเม็กซิโกอย่างปันโช บียา ผู้ก่อการกำเริบตามแนวชายแกนหลายครั้ง ข่าวเรื่องโทรเลขดังกล่าวยังช่วยปลุกเร้าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกให้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีทัศนคติต่อต้านสหราชอาณาจักรปรากฏอยู่อย่างแจ่มชัดในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมันและชาวอเมริกันเชื้อสายไอริช ในขณะที่ชาวอเมริกันจำนวนมากปรารถนาที่จะหลีกเลี่ยงสงครามในยุโรป เมื่อสาธารณชนรับรู้ข่าวการโจรกรรมข้อความที่ถูกถอดรหัสในเม็กซิโก (ที่สหราชอาณาจักรแต่งขึ้น) เริ่มแรกพวกเขาส่วนมากเชื่อกันว่าเป็นโทรเลขที่ถูกปลอมแปลงขึ้นอย่างรอบคอบของหน่วยราชการลับสหราชอาณาจักร ความเชื่อนี้เองที่ได้รับการสนับสนุนจากนักการทูตเยอรมัน นักการทูตเม็กซิกัน นักพูดชีชวนฝ่ายเยอรมัน และชาวอเมริกันแถบชายฝั่งแปซิฟิก รวมไปถึงหนังสือพิมพ์อเมริกันบางฉบับอย่าง เฮิร์สเพรสเอ็มไพร์ ความเชื่อแบบผิด ๆ นี้เอง ที่ทำให้รัฐบาลกลางของประธานาธิบดีวิลสันตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากหลักฐานที่สหราชอาณาจักรส่งให้สหรัฐอเมริกาในทางลับเป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่าโทรเลขฉบับดังกล่าวไม่ได้ถูกปลอมแปลงขึ้น แต่ก็ไม่สามารถเผยแพร่หลักฐานดังกล่าวแก่สาธารณชนได้ เพราะเท่ากับเป็นการเปิดโปงปฏิบัติการถอดรหัสลับของสหราชอาณาจักรให้ฝ่ายเยอรมันได้รับรู้

อย่างไรก็ตาม อาร์ทูร์ ซิมแมร์มันน์ กลับเป็นผู้คลายข้อสงสัยถึงความจริงแท้ของโทรเลขด้วยตนเอง ครั้งแรกในการแถลงข่าววันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2460 เขากล่าวต่อนักข่าวชาวอเมริกันว่า "ข้าพเจ้าไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามันคือเรื่องจริง" จากนั้นในวันที่ 29 มีนาคม เขากล่าวสุทรพจน์ที่ยอมรับว่าโทรเลขฉบับนั้นเป็นของจริง[15] ทั้งนี้ซิมแมร์มันน์คาดหวังว่าชาวอเมริกันจะเข้าใจแนวคิดของเยอรมนี ว่าเยอรมนีจะสนับสนุนเงินทุนแก่เม็กซิโกในเฉพาะกรณีที่สหรัฐอเมริกาประกาศเข้าร่วมสงครามเท่านั้น

ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2460 ฝ่ายเยอรมันประกาศใช้การสู้รบด้วยเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขตต่อเรือทุกลำในมหาสมุทรแอตแลนติกที่ติดธงชาติอเมริกันไม่ว่าจะเป็นเรือโดยสารหรือเรือพาณิชย์ก็ตาม ทำให้ในเดือนนั้นเองมีเรือถูกจมสองลำ บริษัทเดินเรืออเมริกันส่วนมากต่างหวั่นเกรงภัยคุกคามดังกล่าว จึงทอดสมอเรือของตนไว้ตามท่าเรือต่าง ๆ ซึ่งกรณีเองเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอโดยฝ่ายเยอรมันว่าจะ "ทำการปล่อยเรือดำน้ำสู้รบอันเหี้ยมโหดของตน" นั่นเอง[16] และกรณีนี้เองส่งผลให้สาธารณชนเรียกร้องให้มีการตอบโต้ แต่ประธานาธิบดีวิลสันปฏิเสธที่จะส่งปืนกลและนาวิกโยธินไปประจำการตามเรือพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการเผยแพร่โทรเลขซิมแมร์มันน์ ประธานาธิบดีวิลสันเรียกร้องให้มีการติดอาวุธเรือพาณิชย์ แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวถูกขัดขวางโดยฝ่ายต่อต้านสงครามในวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา[17]

แหล่งที่มา

WikiPedia: โทรเลขซิมแมร์มันน์ http://www.amazon.com/Zimmermann-Telegram-Intellig... http://www.amazon.com/dp/0345324250/ http://www.findarticles.com/p/articles/mi_qa3926/i... http://www.shorpy.com/node/11156?size=_original http://cges.georgetown.edu/docs/docs_working_paper... http://quod.lib.umich.edu/cgi/t/text/text-idx?c=ac... http://texashistory.unt.edu/young/educators/wwI/in... http://www.ourdocuments.gov/doc.php?doc=60 http://germannavalwarfare.info/indexMEX.htm http://books.google.com.mx/books?id=4TyZFqJjLMAC&f...