การจำแนก ของ โรคฝุ่นหินจับปอด

การจำแนกโรคฝุ่นหินจับปอด อาจจำแนกโดยแบ่งตามความหนักเบาของอาการ และระยะเวลาการแสดงโรค[5] ดังนี้:

  • ฝุ่นหินจับปอดทั่วไปแบบเรื้อรัง (Chronic simple silicosis) เกิดจากการสูดรับเอาอนุภาคฝุ่นหินเข้าไปทีละน้อย ๆติดต่อกันเป็นระยะยาวมากกว่าสิบปี โดยทั่วไปมักแสดงโรคใน 10-30 ปีหลังเริ่มสูดรับ เป็นภาวะที่พบได้มากที่สุดในผู้ป่วยโรคนี้ ในระยะแรกผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็นเลย แต่สามารถตรวจพบพยาธิสภาพได้โดยการเอกซเรย์
  • ฝุ่นหินจับปอดแบบเร่ง (Accelerated silicosis) เกิดจากการสูดรับเอาอนุภาคฝุ่นหินเข้าไปในระดับปานกลางติดต่อกันระยะเวลาหนึ่ง โดยทั่วไปมักแสดงโรคใน 5-10 ปีหลังเริ่มสูดรับ ผู้ป่วยภาวะนี้อาจมีความเสี่ยงที่จะลุกลามเป็นขั้นแทรกซ้อน
  • ฝุ่นหินจับปอดแบบแทรกซ้อน (Complicated silicosis) ผู้ป่วยโรคฝุ่นหินจับปอดที่มีแผลในปอดมาก ๆ อาจมีภาวะอื่นแทรกซ้อน อาทิ ภาวะพังผืดรุดหน้าเป็นก้อน (PMF) ซึ่งอาจมีขนาดถึง 1 เซนติเมตรหรือใหญ่กว่านั้น ซึ่งยิ่งทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบากมากขึ้น
  • ฝุ่นหินจับปอดแบบฉับพลัน (Acute silicosis) เกิดจากการสูดรับเอาอนุภาคฝุ่นหินในปริมาณมาก ๆ หรือมหาศาลเข้าไปเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยทั่วไปมักจะแสดงโรคในไม่กี่สัปดาห์ถึง 5 ปีหลังการสูดรับ ผู้ป่วยภาวะนี้มักจะมีอาการรุนแรงกว่าภาวะอื่น ๆ จนถึงขั้นเสียชีวิตในเวลาอันสั้น เมื่อผู้ป่วยภาวะนี้ไปทำการเอกซเรย์ ฟิมล์เอกซเรย์ที่ได้จะมีลักษณะคล้ายกับผู้ป่วยโรคปอดบวม, ปอดบวมน้ำ และมะเร็งปอด ซึ่งอาจทำให้แพทย์วินิจฉัยผิดพลาด