ประวัติ ของ โรคมินามาตะ

บริษัทชิซโซะเปิดโรงงานเคมีในมินามาตะเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1908 ในระยะแรกเป็นโรงงานผลิตปุ๋ย ต่อมาจึงขยายกิจการตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีของประเทศญี่ปุ่นโดยเริ่มผลิตอะเซทิลีน อะซิทัลดีไฮด์ กรดอะซิติก ไวนิลคลอไรด์ ออกทานอล และสารเคมีอื่น ๆ ต่อมาจึงพัฒนาจนเป็นโรงงานที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด ทั้งก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ของเสียจากโรงงานถูกปล่อยลงอ่าวมินามาตะผ่านระบบกำจัดน้ำเสียของโรงงาน มลภาวะเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การประมงได้รับผลกระทบทำให้จับปลาได้น้อยลง บริษัทฯ จึงได้เสนอข้อตกลงเพื่อการชดเชยกับสมาคมชาวประมงในปี 1926 และ 1943[1]

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของโรงงานเริ่มแผ่ขยายไปยังเศรษฐกิจท้องถิ่นทำให้ทั้งบริษัทฯ และเมืองมินามาตะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เมื่อประกอบกับการที่ไม่มีอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในท้องถิ่น ทำให้บริษัทฯ มีอิทธิพลในมินามาตะอย่างมาก ถึงขั้นที่มีช่วงหนึ่งซึ่งครึ่งหนึ่งของภาษีที่เก็บได้ในเขตเมืองมินามาตะมาจากบริษัทชิซโซะและพนักงาน[2] บริษัทฯ และหน่วยงานย่อยเป็นหน่วยงานที่ทำให้เกิดการจ้างงานถึงหนึ่งในสี่ของพื้นที่ ถึงกับมีการกล่าวว่าบริษัทฯ เป็นวังของพื้นที่ เหมือนอย่างวังขุนนางในยุคเอโดะ[3]

โรงงานเริ่มผลิตอะซิทัลดีไฮด์ในปี 1932 โดยในปีนั้นมีผลผลิต 210 ตัน เมื่อถึงปี 1951 ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ตันต่อปี และสูงสุดที่ 45,245 ตันในปี 1960[4] รวมทั้งหมดแล้วโรงงานของชิซโซะมีผลผลิตอะซิทัลดีไฮด์อยู่ระหว่างหนึ่งในสี่ถึงหนึ่งในสามของผลผลิตทั้งประเทศญี่ปุ่น ปฏิกิริยาที่ใช้ในการผลิตอะซิทัลดีไฮด์นั้นมีการใช้เมอร์คิวรี (II) ซัลเฟตเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ปฏิกิริยาข้างเคียงของกระบวนการเร่งปฏิกิริยานั้นได้ผลผลิตเป็นสารปรอทชีวภาพจำนวนเล็กน้อย ชื่อว่าเมทิลเมอร์คิวรี[5] เป็นสารที่มีพิษอย่างมาก และถูกปล่อยลงอ่าวมินามาตะตั้งแต่เริ่มผลิตในปี 1932 ถึง 1968 เมื่อวิธีผลิตนี้ถูกยกเลิก