ประวัติ ของ โรงเรียนกวดวิชาในประเทศไทย

การกวดวิชามีลักษณะการเรียนพิเศษตามบ้าน สันนิษฐานว่า เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และมีวิวัฒนาการเรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 5[1] ยังพบบันทึกว่ามีการกวดวิชาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยชาวจีนที่มีฐานะดีได้จ้างครูจีนมาสอนภาษาจีนให้แก่บุคคลที่จะไปศึกษาต่อในประเทศจีน[2] และจากในเอกสารโครงการวิจัยโดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ระบุถึง "โรงเรียนกลางคืน" ในสมัยรัชกาลที่ 6 เปิดสอนในเวลาหนึ่งทุ่มจนถึงสามทุ่ม ส่วนใหญ่เปิดสอนภาษาอังกฤษ นักเรียนที่มาเรียนเพื่อเตรียมตัวสอบชิงทุนคิง (King’s Scholarship) เพื่อไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ

ในหนังสือ ประวัติการศึกษาไทย โดย ดวงเดือน พิศาลบุตร (2512) อธิบายถึงกวดวิชาในยุคแรกของไทยว่า "การเรียนการสอนเป็นไปตามความสมัครใจของผู้เรียน และครูไม่คิดค่าสอนในตอนแรก แต่ในระยะต่อมาเริ่มมีการจ่ายค่าจ้างในการสอน ดังเช่นการเรียนการสอนของลูกคนจีนซึ่งจ้างครูมาสอนที่บ้านเดือนละ 8 ดอลลาร์ จึงนับได้ว่าการเรียนการสอน" จุดกำเนิดของการกวดวิชาในยุคแรกคือมาจากความต้องการของบุคคล[1] จนโรงเรียนกวดวิชามีหลักฐานชัดเจนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2497 มีระบุไว้ใน พ.ร.บ.โรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2497 มาตรา 20(5) ให้มีโรงเรียนกวดวิชา จัดเป็นโรงเรียนเอกชนประเภทการศึกษาพิเศษ จนโรงเรียนกวดวิชาได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในช่วงปี 2520–2530 ซึ่งมีการแข่งขันสูงในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ต่อมาการกวดวิชาขยายวงกว้างมากขึ้นและส่งผลต่อการเรียนในโรงเรียนปกติ เด็กในปีสุดท้ายก่อนเอนทรานซ์ไม่สนใจการเรียนในชั้นปกติ และทำให้ครูในโรงเรียนเริ่มสอนในแนวกวดวิชามากขึ้น

ปี 2534 กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติหลักการให้เปิดโรงเรียนกวดวิชาได้แต่อยู่ภายใต้กฎระเบียบที่รัดกุมทั้งสถานที่ ผู้บริหาร อาคาร ฯลฯ ในช่วงปี พ.ศ. 2539 โรงเรียนกวดวิชาเคมีอาจารย์อุ๊ ที่ขณะนั้นมีสาขาเดียวที่สะพานควาย เกิดเหตุชุลมุน ผู้ปกครองมาต่อแย่งคิวให้บุตร จนตำรวจต้องมาระงับเหตุวุ่นวาย จากเหตุการณ์นี้เป็นต้นกำเนิดของการนำวิดีโอหรือดีวีดีมาเปิดสอนแทนครูในโรงเรียนกวดวิชาแทบทุกแห่งในปัจจุบัน หลังวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 สยามสแควร์เริ่มเป็นแหล่งของโรงเรียนกวดวิชา เนื่องจากร้านค้าในสยามสแควร์เริ่มปิดตัวลง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเจ้าของที่ ได้ลดราคาค่าเช่า กลุ่มโรงเรียนกวดวิชาที่เดิมมักอยู่ใกล้กับห้างสรรพสินค้า ชุมชน และใกล้โรงเรียนดัง ๆ จึงเริ่มเข้ามามากขึ้น[3] ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 มีโครงการอาคารวรรณสรณ์ ตั้งอยูริมถนนพญาไท ถือเป็นโครงการแรกของประเทศด้วยที่โรงเรียนกวดวิชากว่า 20 สถาบันมารวมตัวกัน[1]

จากนั้นในปี พ.ศ. 2542 ผู้กวดวิชาเริ่มเพิ่มมากขึ้นหลังหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 กระทั่งปลายเดือนมกราคม 2544 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนจึงได้ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชนประเภทโรงเรียนกวดวิชาฉบับใหม่ขึ้น ที่มีมาตรการเชิงความปลอดภัยและคุณภาพสมบูรณ์ขึ้น[2] ภายหลังที่เปลี่ยนรูปแบบการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย เป็นระบบแอดมิชชั่น ได้ส่งผลให้โรงเรียนกวดวิชาชื่อดังหันมาปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับระบบ โดยครอบคลุมทั้งวิชาสามัญทั่วไป การสอบความถนัดทั่วไป (GAT: General Aptitude Test) การสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT: Professional and Academic Aptitude Test) รวมถึงวิชาเฉพาะ เช่น วิชาเฉพาะแพทย์ วิชาความถนัดทางสถาปัตยกรรม และความถนัดทางภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส เป็นต้น[4]

ใกล้เคียง

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนราชินี โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรงเรียนกวดวิชาในประเทศไทย http://gotomanager.com/content/%E2%80%9C%E0%B9%80%... http://www.ipedr.com/vol16/17-ICBER2011-A20009.pdf //doi.org/10.7763%2FIPEDR //www.worldcat.org/issn/2010-4626 https://www.longtunman.com/10429 https://mgronline.com/qol/detail/9470000006218 https://positioningmag.com/10381 https://positioningmag.com/57097 https://www.sarakadee.com/2008/11/01/tutor/ https://www.komchadluek.net/news/edu-health/301149