โลกิยนิยม

โลกิยนิยม[1] หรือ ฆราวาสนิยม[2] (อังกฤษ: secularism) คือ แนวปรัชญาที่ว่าสถาบันการปกครองหรือสถาบันการเมือง หรือสถาบันในรูปอื่นควรจะดำเนินการปกครองที่เป็นอิสระจากการอำนาจการควบคุมของสถาบันศาสนา และหรือความเชื่อทางศาสนาในแง่หนึ่งสถาบันที่ดำเนินนโยบาย “โลกิยนิยม” จะเป็นสถาบันที่ยึดนโยบายดำรงความเป็นกลางในทางด้านความเชื่อทางศาสนาของประชาชนและ/หรือผู้อยู่ใต้การปกครอง, ดำเนินการปกครองที่เป็นอิสระจากกฎและคำสอน หรือ ความเชื่อทางศาสนา, ไม่ใช้อำนาจตามหลักความเชื่อทางศาสนาในการบังคับประชาชน และไม่มีการมอบอภิสิทธิพิเศษหรือให้การช่วยเหลือแก่สถาบันศาสนา ส่วนในอีกแง่หนึ่ง “โลกิยนิยม” หมายถึงมุมมองที่เกี่ยวกับกิจกรรมและการตัดสินใจของมนุษย์ โดยเฉพาะกิจกรรมและการตัดสินใจทางการเมือง ว่าควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงโดยปราศจากอคติอันเนื่องมาจากอิทธิพลทางศาสนา[3]โลกิยนิยมในรูปแบบที่แท้จริงแล้วจะติเตียนความเป็นอนุรักษนิยมของศาสนา และมีความเห็นว่าศาสนาเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของมนุษย์เพราะเป็นสิ่งที่เน้นความงมงายและสิทธันต์ (dogma) เหนือเหตุผลและกระบวนการในสิ่งที่พิสูจน์ได้ (scientific method) พื้นฐานของปรัชญาโลกิยนิยมมาจากหลักการคิดของนักปรัชญากรีกและโรมันเช่นมาร์คัส ออเรลิอัส และ เอพิคิวรัส, จากผู้รู้รอบด้านของยุคทองของอิสลาม เช่น อิบุน รัชด์, จากนักคิดของยุคเรืองปัญญา เช่น เดอนีส์ ดิเดอโรต์, วอลแตร์, จอห์น ล็อก, เจมส์ แมดิสัน, ทอมัส เจฟเฟอร์สัน และ ทอมัส เพน และ จากนักคิดเสรี (freethinkers), นักอไญยนิยม (Agnosticism) หรือ นักอเทวนิยม เช่น เบอร์ทรานด์ รัสเซิลล์ และ โรเบิร์ต อิลเกอร์โซลล์