วัฒนธรรม ของ โอซีเยก

แผนผังโครงสร้างดั้งเดิมของทเวอร์จาที่ยังคงมีกำแพงรูปแฉกคล้ายดาวล้อมรอบแปลนขยายของหมู่อาคารในใจกลางทเวอร์จา

สถาปัตยกรรม

ขอบเขตเมืองเก่าของโอซีเยกนั้นโดยมากถูกสร้างขึ้นมาใหม่หลังจากการเข้ามาของฮับส์บูร์ก โดยเฉพาะสิ่งก่อสร้างอย่างแรกซึ่งสำคัญที่สุดเมื่อทางฮับส์บูรก์ยึดเมืองกลับมาจากทางอาณาจักรออตโตมันได้คือ ทเวอร์จา(โครเอเชีย: Tvrđa) หรือ หมู่ป้อมปราการริมแม่น้ำดราวาซึ่งสร้างขึ้นเป็นทั้งป้อมปราการทางการศึกและเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการต่างๆซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับงานด้านการทหารและการบริหารปกครองเมือง เริ่มทำการก่อสร้างในปี ค.ศ. 1712 ในยุคที่การศึกระหว่างฮับส์บูร์กและออตโตมันยังคงไม่สงบดีและโอซีเยกยังอยู่ในพื้นที่อันยังสามารถถูกออตโตมันคุกคามได้

อาคารส่วนมากของทเวอร์จาเป็นศิลปะแบบบาโรค ในใจกลางของหมู่อาคารเป็นลานกว้าง มีเสาอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นตามความเชื่อของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเพื่อเป็นการขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าเมื่อสิ้นสุดการเกิดโรคระบาดในเมืองเมื่อปี ค.ศ. 1729[25] ส่วนกำแพงซึ่งเคยล้อมรอบป้อมปราการอย่างแน่นหนานั้นถูกทำลายลงในช่วงทศวรรษที่ 20 เพื่อเปิดทางให้มีการก่อสร้างพัฒนาเมืองได้ง่ายขึ้น(ปัจจุบัน ถนนยูโรเปียนอเวนิวที่ตัดผ่านใกล้ทเวอร์จาก็อยู่ในพื้นที่เคยเป็นแนวกำแพงมาก่อน) ในทุกวันนี้ทเวอร์จาเป็นจุดเรียกนักท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของเมืองในฐานะเป็นหมู่ป้อมปราการสร้างในศิลปะแบบบาโรคซึ่งยังคงสภาพความสมบูรณ์ได้มากที่สุดในประเทศโครเอเชียและมีการพยายามผลักดันเพื่อให้ได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกแม้ว่าช่วงสงครามโลกประอิสรภาพของโครเอเชียในช่วงปี ค.ศ. 1991-1995 จะได้รับความเสียหายพอสมควรและยังทำการบูรณะอยู่เรื่อยมา อาคารต่างๆที่เคยเป็นที่ตั้งของหน่วยงานทหารในสมัยฮับส์บูร์กก็กลายเป็นร้านอาหาร สถานบันเทิงตอนกลางคืน พิพิธภัณฑ์ ที่ว่าการของเมือง รวมถึงอาคารอธิการบดีของมหาลัยวิทยาลัยโอซีเยก


พาโนรามาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ของป้อมทเวอร์จาในปัจจุบันที่กำแพงซึ่งเคยล้อมไว้ถูกทำลายเกือบหมดแล้ว

ในเวลาต่อมา สถาปัตยกรรมในโอซีเยกซึ่งอยู่ในความปกครองสืบต่อมาจนถึงจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีก็เริ่มได้รับอิทธิพลการก่อสร้างอาคารในสไตล์เซเซสชั่นนิสม์(อังกฤษ: Secessionism) สถาปัตยกรรมแนวนี้จะกระจุกตัวกันอยู่ในย่านกอร์นยิ กราด เหนือขึ้นไปทางต้นแม่น้ำจากทเวอร์จาไปตามถนนยูโรเปียนอเวนิวจนถึงจตุรัสอันเต สตาร์เชวิชที่ถือเป็นจตุรัสใจกลางเมืองของโอซีเยก สร้างในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 20 สิ่งก่อสร้างที่เป็นจุดเด่นคงอยู่มาจนถึงปัจจุบันซึ่งสร้างในยุคสมัยนี้ประกอบไปด้วย โบสถ์เนตืปีเตอร์และพอล อาคารโรงละครแห่งชาติสาขาเมืองโอซีเยก โรงภาพยนตร์คิโนยูราเนีย

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง รูปแบบการก่อสร้างในเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นแนวคอมมูนิสต์ซึ่งไม่เน้นความสวยงามของสถาปัตยกรรมที่อ่อนช้อยเช่นเดิม หากแต่สร้างในรูปแบบเรียบง่ายยึดประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก ช่วงนี้เองที่เริ่มมีอาคารที่อยู่อาศัยแบบแฟลตเป็นบล็อกผุดขึ้นมาในบางย่าน โดยสถาปัตยกรรมแบบคอมมูนิสต์ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่สุดของเมืองคือตัวอาคารของโรงแรมโอซีเยกริมฝั่งแม่น้ำดราวา และ สะพานคนเดินเท้าข้ามแม่น้ำดราวาซึ่งในอดีตเคยถูกขนานนามว่าสะพานแห่งความเยาว์วัยเพื่อเป็นเกียรติแก่จอมพลติโต นับแต่โครเอเชียได้รับอิสรภาพมา ก็เริ่มมีการสร้างอาคารในรูปลักษณ์ทันสมัยเช่น อาคารสำนักงานยูโรดอมที่เป็นอาคารทรงรีเลขาคณิต

สถาปัตยกรรมจากสมัยอยู่ในการปกครองของออสเตรีย-ฮังการี

  • โบสถ์เซนต์ไมเคิลในทเวอร์จา
  • อาคารสถาปัตยกรรมแบบเซเซสชั่นนิสต์
  • แถวอาคารแบบเซเซสชั่นนิสต์ในกอร์นยิ กราด
  • คิโนยูราเนีย
  • โรงละครแห่งชาติสาขาเมืองโอซีเยก

สถาปัตยกรรมจากสมัยยูโกสลาเวียจนถึงปัจจุบัน

  • โรงแรมโอซีเยก
  • แฟลตที่อยู่สร้างสมัยคอมมูนิสต์
  • สะพานคนเดินเท้าข้ามแม่น้ำดราวา
  • อาคารสำนักงานยูโรดอม

จตุรัสและอนุสรณ์สถานต่างๆ

  • ลานอิสรภาพ(Trg Slobode)
  • บริเวณจตุรัสอันเต สตาร์เชวิช
  • ลานSvetog Trojstva‎ กลางทเวอร์จา
  • อนุสรณ์สถานวีรบุรุษในสงครามประกาศอิสรภาพ
  • Red Fićo
โบสถ์เซนต์ปีเตอร์และพอลมองจากฝั่งโรงละครแห่งชาติ

ศาสนสถานและพิพิธภัณฑ์

ศาสนาสถานที่เด่นที่สุดคือโบสถ์เซนต์ปีเตอร์และพอล อยู่เยื้องจตุรัสกลางเมืองโดยสร้างจากดำริของมุขนายกโยซิป ยูราย สตรอสมาเยอร์ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในศิลปะแบบนีโอโกธิค สร้างจากอิฐและมีหอซึ่งสูงถึง 90 เมตร นับว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในโครเอเชียนอกเหนือจากตึกระฟ้าและยอดของมหาวิหารในกรุงซาเกร็บ ได้รับความเสียหายจากการระดมยิงจากฝ่ายชาวเซิร์บติดอาวุธในสงครามช่วงทศวรรษที่ 90 แม้สภาพภายนอกส่วนใหญ่จะดำเนินการบูรณะแล้วแต่ก็ยังมีบางส่วนยังคงต้องบูรณะเพิ่มเติมอยู่กระทั่งทุกวันนี้

นอกจากนั้นแล้ว ศาสนสถานในศาสนาคริสต์ที่สำคัญของเมืองคือโบสถ์เซนต์ไมเคิล และ โบสถ์ฟรานซิสกัน ตั้งอยู่ภายในทเวอร์จาทั้งคู่ โดยโบสถ์เซนต์ไมเคิลเป็นโบสถ์สีเหลืองในศิลปะแบบบาโรคมียอดโดมสูงขนานสองข้างของตัวอาคารสร้างโดยคณะเยซูอิท ส่วนโบสถ์ฟรานซิสกันนั้นเป็นโบสถ์สีขาวสร้างห่างออกมาจากโบสถ์เซนต์ไมเคิลมาทางตะวันออกห่างกันประมาณสามบล็อก

พิพิธภัณฑ์ทางโบราณคดีในทเวอร์จา

โอซีเยกเคยมีชุมชนชาวยิวที่ยั่งยืนในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ปัจจุบันแม้จะมีชาวยิวอาศัยอยู่เป็นจำนวนไม่มากนักแต่ก็ยังคงมีโบสถ์ยิวอยู่ในเขตกอร์นยิ กราด[26]

ภายในเขตทเวอร์จา มีพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองสองแห่งที่มีความสำคัญไม่ด้อยกว่ากัน แห่งแรกคือพิพิธภัณฑ์สลาโวเนีย(โครเอเชีย: Muzej Slavonije) ซึ่งรวบรวมประวัติความเป็นมาและการจัดแสดงสิ่งต่างๆที่เป็นวัฒนธรรมเฉพาะของภูมิภาคสลาโวเนียทั้งหมดไม่ใช่แค่ที่ขุดค้นพบในเมืองโอซีเยกเท่านั้น พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงทั่วไปไม่ใช่หัวข้อเฉพาะที่ใหญ่ที่สุดในโครเอเชียโดยเปิดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1877 ส่วนอีกแห่งนึงนั้นคือพิพิธภัณฑ์ทางโบราณคดีซึ่งจัดแสดดงโบราณวัตถุต่างๆที่ขุดค้นพบตั้งแต่มีการเริ่มอยู่อาศัยของมนุษย์ในบริเวณนี้ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์

เทศกาล

วันที่ถือกันว่าเป็นวันครบรอบการก่อตั้งของเมืองคือ วันที่ 2 ธันวาคมของทุกปี โดยเป็นวันที่อาณาเขตหลักของเมืองทั้งสามเขต(กอร์นยิ กราด ทเวอร์จา และ ดอนยิ กราด)ได้มารวมกันเป็นโอซีเยกเพียงเมืองเดียวหลังจากอยู่แยกกันมาระยะหนึ่ง

วันที่ 6 กันยายนปี ค.ศ. 2014 ได้มีการจัดพาเหรดไพร์ดของบุคคลรักร่วมเพศและเพศที่สามขึ้นในโอซีเยกเป็นครั้งแรก นับเป็นเมืองที่สามในโครเอเชียซึ่งจัดการเดินพาเพรดเช่นนี้ขึ้น(นอกจากกรุงซาเกร็บ และ สปลิท)และเป็นครั้งแรกที่งานสามารถผ่านพ้นไปโดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรง[27][28]

ดนตรีและการแสดง

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 เป็นต้นมา ทุกๆปีในช่วงเดือนมิถุนายน โอซีเยกจะจัดงานแสดงดนตรีที่เรียกกันว่า เออร์บัน เฟส โอซีเยก(อังกฤษ: Urban fest Osijek) หรือเรียกย่อๆว่ายูเอฟโอ(UFO) ที่เป็นงานเปิดโอกาสให้ศิลปินท้องถิ่นของโครเอเชียในงานเพลงแนวฮาร์ดร็อค เมทัล พังค์ ฮิปฮอป และอิเล็กโทรนิคแดนซ์ ได้แสดงสดเป็นระยะเวลาราวๆ 3 ถึง 5 วัน[29]

โอซีเยกมีโรงเรียนสอนทางดนตรีโดยเฉพาะมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1921 แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะมีการพยายามจัดตั้งโรงเรียนดนตรีขึ้นมาแต่ก็ดำเนินงานได้เพียงไม่กี่ปีก็ต้องปิดตัวลงไป นักดนตรีคนสำคัญที่มีบ้านเกิดที่โอซีเยกคือ ฟรานโย เครซมา(อังกฤษ: Franjo Krezma) ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นนักไวโอลินอัจฉริยะในยุคครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 หากแต่จบชีวิตก่อนเวลาอันควรด้วยวัยเพียง 19 ปีจากวัณโรค ในแต่ละปีจะมีการแสดงดนตรีเพื่อเป็นการสดุดีแก่เครซมาและนักดนตรีท้องถิ่นคนอื่น[30] ด้านดนตรีพื้นบ้าน โอซีเยกมีคณะการแสดงดนตรีและการเต้นพื้นบ้านของโครเอเชียสองคณะใหญ่ๆคือ HKUD Osijek1892 กับ HKUD Željezničar และในแต่ละปีจะมีการประกวดแข่งขันการเล่น Tambura ที่เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีดแพร่หลายในแถบบัลข่าน

โรงละครแห่งชาติของโครเอเชียได้มาเปิดสาขาที่โอซีเยกตั้งแต่ ค.ศ. 1866 และจัดการแสดงมาจนถึงปัจจุบันนี้

สนามกราดสกี้ เวิร์ทของทีมเอ็นเค โอซีเยก

กีฬา

ทีมกีฬาซึ่งได้รับความนิยมสูงที่สุดในเมืองคือ ทีมฟุตบอล เอ็นเค โอซีเยก(อังกฤษ: NK Osijek) เล่นอยู่ในลีกฟุตบอลอาชีพของโครเอเชีย ใช้สนามเหย้าคือ สนามกราดสกี้ เวิร์ท(อังกฤษ: Stadium Gradski vrt)

นอกจากฟุตบอล ในเมืองยังมีทีมกีฬาอื่นๆอีกหลากหลายเช่น วอลเลย์บอล แฮนด์บอล บาสเก็ตบอล อเมริกันฟุตบอลแบบสมัครเล่น โดยเฉพาะบาสเก็ตบอลมีทีมในเมืองราวๆ 3-4 ทีม แต่ตั้งแต่กลางปี ค.ศ. 2014 มา โอซีเยกได้กลายเป็นบ้านหลังใหม่ให้กับทีมบาสเก็ตบอลระดับลีก A-1(ลีกบาสเก็ตบอลอาชีพสูงสุดของโครเอเชีย)จากชุมชนดาร์ดาซึ่งอยู่ใกล้เคียงและมีความไม่สะดวกเรื่องสนามการแข่งขัน จึงได้มาขอใช้สนามกีฬาในร่มของโอซีเยกเป็นสนามเหย้าและได้ทำการย้ายฐานของทีมมายังโอซีเยกแทนและเปลี่ยนชื่อทีมเป็น KK Vrijednosnice Osijek[31] นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่โอซีเยกได้มีทีมบาสเก็ตบอลลงแข่งขันในลีกอาชีพระดับสูงสุดของโครเอเชีย

กราดสกี้ เวิร์ท ฮอลล์ สนามกีฬาในร่มหลักของเมือง

งานกีฬาประจำปีซึ่งมีชื่อเสียงมากที่สุดของโอซีเยกคือ แพนโนเนียน ชาเลนจ์(อังกฤษ: Pannonian Challenge) เป็นการแข่งขันกีฬาผาดโผนประเภท สเก็ตบอร์ด อินไลน์สเก็ต และ จักรยานบีเอ็มเอ็กซ์รายการใหญ่ที่สุดในภูมิภาคบัลข่าน และตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 โอซีเยกได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันยิมนาสติกระดับนานาชาติในชื่อรายการ Grand prix Osijek โดยจัดการแข่งที่ กราดสกี้ เวิร์ท ฮอลล์ สนามกีฬาในร่มที่ใหญ่ที่สุดของเมือง สร้างขึ้นเพื่อรองรับการร่วมเป็นสนามเจ้าภาพของการแข่งขันแฮนด์บอลชิงแชมป์ยุโรปในปี ค.ศ. 2009

หมู่การ์ดเฮอร์วาทสกี้ โซโกล

หมู่การ์ดเฮอร์วาทสกี้ โซโกล(โครเอเชีย: Hrvatski Sokol; อังกฤษ: Croatian Falcon) ถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองโอซีเยก แต่เดิมมาได้รับการจัดตั้งในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเป็นจุดประสงค์ของสมาคม Sokol(สมาคมการรวมตัวทางชาตินิยมของชาวสลาฟในออสเตรีย-ฮังการี) เพื่อฝึกฝนชายหนุ่มสืบทอดธรรมเนียมหมู่ทหารเกียรติยศของชาวโครแอท หากแต่ช่วงหลังจากโครเอเชียเข้ามารวมอยู่ในรัฐยูโกสลาเวีย การจัดตั้งหมู่การ์ดก็ถูกยกเลิกไปเพราะถูกมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางชาตินิยมของชาวโครแอทที่จะสร้างความแตกแยกในยูโกสลาเวียจนมามีการรื้อฟื้นอีกครั้งหลังจากโครเอเชียได้กลายเป็นประเทศเอกราช[32]

ในปัจจุบันนี้ เครื่องแบบของหมู่การ์ดโซโกลเมืองโอซีเยกจะประกอบไปด้วยเสื้อยูนิฟอร์มสีน้ำเงินเฉดเดียวกับสีพื้นหลังตราเมือง สวมทับเสื้อเชิ้ตสีแดงสด กางเกงสีดำมีเงื่อนเชือกเหลืองทองประดับและบู้ทหนังสีดำสูงเสมอเข่า บนศีรษะสวมหมวกสีดำมีขนนกเหยี่ยวประดับที่ด้านหน้า หากเป็นหน้าหนาวจะมีเสื้อคลุมยาวสีน้ำเงินเช่นกันสวมทับอีกชั้น มักจะปรากฏในฐานะหมู่ทหารเกียรติยศเวลามีงานสำคัญต่างๆในเมือง เช่น วันครบรอบวันก่อตั้งเมือง วันวางพวงหรีดระลึกถึงผู้สูญเสียในสงครามประกาศอิสรภาพของโครเอเชีย งานทางวัฒนธรรม หรือกระทั่งเชิญธงชาติในการแข่งขันฟุตบอลของทีมชาติโครเอเชีย

แหล่งที่มา

WikiPedia: โอซีเยก http://www.balkaninsight.com/en/article/croatian-a... http://www.balkaninsight.com/en/article/turkish-tv... http://exyuaviation.blogspot.com/2013/09/trade-air... http://exyuaviation.blogspot.com/2013/11/ryanair-l... http://www.croatiantimes.com/?id=10015 http://www.croatiaweek.com/croatias-greenest-city-... http://www.croatiaweek.com/first-croatian-tram-130... http://www.croatiaweek.com/first-ever-gay-pride-pa... http://www.croatiaweek.com/osijek-zagreb-flight-re... http://www.croatiaweek.com/ryanair-adds-london-osi...